โรงพยาบาลเอกชนชิงดำวัคซีนโควิด ดิ้นขอเอี่ยวเค้กหมื่นล้าน

วัคซีนโควิด

โรงพยาบาลเอกชนฝุ่นตลบแย่งเค้กวัคซีนโควิด-19 หมื่นล้าน หลังนายกฯปลดล็อกเปิดให้เอกชนนำเข้าได้ภายใต้เงื่อนไขต้องขออนุญาต อย. สมาคม รพ.เอกชน เร่งเซอร์เวย์ความต้องการสมาชิก 380 โรง โอดขั้นตอน-เอกสารหลายพันหน้า หวั่นไม่ทันการ-ตลาดวาย อ้อนขอพ่วงต่อจากรัฐบาลที่ขึ้นทะเบียนแล้ว ค่ายใหญ่เดินสายเจรจาผู้ผลิตยักษ์ “ไฟเซอร์-โมเดอร์นา-ซิโนฟาร์ม-สปุตนิก” รับดีมานด์ตลาด จับตาวัคซีนดันหุ้นโรงพยาบาล มีรายได้ทดแทนผู้ป่วยต่างชาติวูบ

หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศนโยบายให้เอกชนนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ได้ โดยผู้ประกอบการต้องยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนวัคซีนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พร้อมเน้นย้ำวัคซีนนำเข้าต้องปลอดภัย มีคุณภาพมาตรฐาน และมีประสิทธิผล เนื่องจากวัคซีนที่ อย.รับขึ้นทะเบียนเป็นวัคซีนที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินที่ต้องมีระบบกำกับติดตาม เฝ้าระวังความปลอดภัยจากการใช้อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนเริ่มมีการเคลื่อนไหวในการจัดหา เพื่อนำมารองรับความต้องการฉีดวัคซีนโควิด-19

สมาคม รพ.เร่งสำรวจดีมานด์

นายแพทย์เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (บีซีเอช) ในฐานะนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ให้ความเห็นกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นโยบายดังกล่าวถือเป็นการปลดล็อกและเปิดให้เอกชนนำวัคซีนโควิด-19 เข้ามาได้ โดยผ่านการพิจารณาและอนุญาตของ อย. เมื่อ อย.อนุญาต เอกชนก็จะทำตลาดได้ ดังนั้น หากเอกชนรายใดจะนำวัคซีนของบริษัทผู้ผลิตรายไหนมาขึ้นทะเบียนก็ต้องไปดำเนินการเอกสารจากประเทศต้นทาง และนำมายื่นขออนุญาตจาก อย. หากถามว่าจะใช้เวลามากน้อยแค่ไหน โดยหลักขึ้นอยู่กับขั้นตอนของ อย.

เบื้องต้นสมาคมอยู่ระหว่างเซอร์เวย์สมาชิกกว่า 380 โรงพยาบาลว่า มีความต้องการวัคซีนโควิด-19 มากน้อยแค่ไหน ซึ่งการเซอร์เวย์นี้จะไม่ระบุชื่อว่าเป็นวัคซีนของบริษัทผู้ผลิตรายใด เพราะการสั่งซื้อในจำนวนมากจะได้ราคาที่ลดลง อีกทางหนึ่ง หากโรงพยาบาลใดจะนำเข้าวัคซีนก็ทำได้ หรืออาจจะจับมือจับคู่เป็นพันธมิตรกับโรงพยาบาลก็สามารถทำได้

ที่ผ่านมาศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ทาบทามมายังสมาคมให้โรงพยาบาลเอกชนมีส่วนร่วมในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกและเสริมบริการโรงพยาบาลของรัฐบาล
รพ.เอกชน เจรจาผู้ผลิตวัคซีน

แหล่งข่าวระดับสูงจากกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมากลุ่มโรงพยาบาลเอกชนได้เริ่มติดต่อกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีน ทั้งไฟเซอร์, โมเดอร์นา, ซิโนฟาร์ม และสปุตนิก เบื้องต้นมีผู้ผลิตบางรายปฏิเสธจะขายวัคซีนให้กับเอกชน โดยให้เหตุผลว่าอยู่ระหว่างการเจรจากับรัฐบาล

นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บมจ.ธนบุรีเฮลท์แคร์ กรุ๊ป หรือ กลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี กล่าวว่า ขั้นตอนอนุญาตหรือขึ้นทะเบียนวัคซีน ขึ้นอยู่กับ อย.เป็นสำคัญ เนื่องจากเอกสารข้อมูลการยื่นขอขึ้นทะเบียนจะมีหลายพันหน้า หากการยื่นขอขึ้นทะเบียนวัคซีนซิโนแวกขององค์การเภสัชกรรม ผ่านหรือได้อนุญาตจาก อย. ซึ่งมีถึง 2 ล้านโดส กลุ่มธนบุรีต้องการจะขอพ่วงต่อจากตรงนี้ด้วย เพื่อลดขั้นตอนเรื่องเอกสารที่ใช้เวลานานและไม่ต้องยื่นขออนุญาตถึง 2 ครั้ง ทั้ง ๆ ที่เป็นวัคซีนตัวเดียวกัน

ทางออกของกลุ่มธนบุรีอีกทางหนึ่งคือ พรุ่งนี้ (26 มกราคม) จะเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนสปุตนิกของรัสเซีย ที่มีประสิทธิภาพถึง 85% โดยจะขอให้มาจดทะเบียนที่ อย. โดยกลุ่มธนบุรีพร้อมจะสั่งซื้อวัคซีนของสปุตนิก

“ตอนนี้ทุกคนอยากฉีด ตลาดมีความต้องการมาก เพราะโควิดกำลังระบาด ช่วงแรกเราวางแผนจะสั่งวัคซีนประมาณล้านโดส และดูแนวโน้มการระบาดว่าจะไปในทิศทางใด ส่วนวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าดีจริง แต่ต้องรอถึงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ถึงช่วงนั้นเราก็ไม่สนใจแล้ว เพราะจะมีวัคซีนออกมามาก ดังนั้น เราเลือกใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นแอสตร้าเซนเนก้า”

จับตาดีมานด์ตลาด

ผู้บริหารระดับสูงโรงพยาบาลเอกชนรายหนึ่ง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้โรงพยาบาลอยู่ระหว่างศึกษาการนำเข้าวัคซีน แม้ทางการจะให้เอกชนนำเข้ามาเองได้ โดยมีเงื่อนไขต้องยื่นขอขึ้นทะเบียนจาก อย.ให้ถูกต้อง ในทางปฏิบัติอาจต้องใช้เวลานาน โดยเฉพาะเรื่องเอกสารขอขึ้นทะเบียน ที่ผ่านมาโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่หลายแห่งก็ได้ศึกษาเรื่องนี้มาระยะหนึ่ง และเริ่มหารือกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนในต่างประเทศมาเป็นระยะ ๆ

สำหรับกลุ่มโรงพยาบาลเราเองที่เป็นกลุ่มไม่ใหญ่ ยอมรับว่า ตอนนี้ยังไม่สามารถระบุความต้องการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ชัดเจน เนื่องจากยังไม่นิ่ง เช่น หลังมีข่าวในต่างประเทศว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนมีไซด์เอฟเฟ็กต์ที่บางรายถึงขั้นเสียชีวิต ทำให้คนจำนวนหนึ่งเกิดความกังวล ประกอบกับขณะนี้การจัดหาวัคซีนของรัฐบาลอาจยังไม่นิ่ง การขึ้นทะเบียนของซิโนแวกอาจจะล่าช้าออกไป และรัฐบาลอาจต้องหาวัคซีนอื่นมาทดแทนหรือไม่ อย่างไร เป็นต้น

“เราเป็นกลุ่มโรงพยาบาลขนาดเล็ก หากสั่งซื้อ1-2 หมื่นโดสก็น่าจะพอ ต้องดูปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจ-กำลังซื้อด้วย และยังไม่รู้ว่า หลังรัฐบาลทยอยฉีดให้ประชาชนไปแล้ว ดีมานด์ที่แท้จริงในตลาดจะเป็นอย่างไร”

วัคซีนโควิดตลาดหมื่นล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้แม้ยังไม่มีการประเมินมูลค่าตลาดรวมวัคซีนโควิด-19 ในไทยอย่างเป็นทางการ แต่จากการพิจารณาภาพรวมของการใช้งบประมาณและการตั้งราคาวัคซีนของโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งที่สูงถึง 6,000-10,000 บาท (ฉีด 2 เข็ม) ตัวเลขมูลค่าวัคซีนโควิค-19 เบื้องต้นอาจมีมูลค่ามากกว่า 1 หมื่นล้านบาท

ซึ่งรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณการจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 7,349 ล้านบาท เริ่มจากกลางเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณ 6,049 ล้านบาท สำหรับโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

แบ่งเป็นการจัดสรรให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ทำสัญญาการจัดหาวัคซีนโดยจองล่วงหน้า 2,379 ล้านบาท และกรมควบคุมโรคจัดทำสัญญาจัดซื้อและบริหารจัดการวัคซีน 3,670 ล้านบาท ถัดมาต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ครม.มีมติอนุมัติงบฯกลาง 1,300 ล้านบาทให้กระทรวงสาธารณสุข จัดหาวัคซีนโควิด-19 จำนวน 2 ล้านโดส

เมื่อปลายปีโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ได้ประกาศรับจองวัคซีนโควิด-19 ของโมเดอร์นา ราคา 4,000 บาท ค่าวัคซีนฉีด 2 เข็ม ราคา 6,000-10,000 บาท (รวมค่าแพทย์-ค่าบริการ) แต่ตอนหลัง สธ.ได้สั่งให้โรงพยาบาลดังกล่าวยกเลิกการจองที่ประกาศไป เนื่องจากวัคซีนยังไม่ได้รับการอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนจาก อย.

ก่อนหน้านี้ สธ.ระบุถึงจำนวนวัคซีนตามแผนงานเบื้องต้นที่ได้จัดหาเพื่อนำมาฉีดให้ครอบคลุมประชาชนกว่า 30 ล้านคน รวม 65 ล้านโดส เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันและลดการแพร่เชื้อ โดยหลักการแล้วการฉีดวัคซีนเพื่อหยุดการระบาดของโรคในชุมชนไม่จำเป็นต้องฉีดให้ทุกคนมีภูมิคุ้มกันทั้ง 100% แต่ฉีดเพื่อให้สังคมและชุมชนมีภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นมาในระดับหนึ่ง 60-70% ก็จะช่วยหยุดโรคระบาดได้

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวในรายการตอบโจทย์ ทางช่องไทยพีบีเอส เมื่อ 25 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า ความต้องการวัคซีนโรคโควิด-19 ในไทยน่าจะอยู่ที่ 80-100 ล้านโดส เท่ากับฉีดได้ 40-50 ล้านคน เพียงพอสำหรับการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ทั้งนี้อัตราการฉีดด้วยจำนวนสถานพยาบาลทุกขนาดทั้งของรัฐ-เอกชน น่าจะฉีดได้รวมกัน 2-5 ล้านโดสต่อเดือน

ลุ้นวัคซีนโควิดดันรายได้ รพ.

นางสาวปิยะฉัตร รัตนสุวรรณ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากนโยบายรัฐดังกล่าวถือเป็นผลเชิงบวกต่อหุ้นกลุ่มโรงพยาบาล แต่อาจเร็วเกินไปที่จะประเมิน เพราะยังไม่แน่ใจว่าการสั่งวัคซีนเข้ามาจะซื้อได้กี่โดส

แม้แต่รัฐบาลแต่ละประเทศก็ยังไม่สามารถหาวัคซีนได้เร็ว จึงเป็นคำถามว่า โรงพยาบาลเอกชนจะหาได้หรือไม่ คงจะเห็นผลเชิงบวกจริง ๆ ปลายปี’64 เมื่อวัคซีนเริ่มผลิตได้จำนวนมาก กรณีโรงพยาบาลวิภาวดีจองซื้อวัคซีนโควิดโมเดอร์นา (Moderna) ไว้แล้วนั้น จะได้รับจริง ๆ ช่วงเดือน ต.ค. 64 ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าจะได้กี่โดสเหมือนกัน

ส่วนในแง่กำไรของกลุ่มโรงพยาบาล เดิมรายได้การฉีดวัคซีนปกติ (ไม่รวมวัคซีนโควิด) คิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 1% ของรายได้ทั้งหมด มีราคาเฉลี่ย 500-1,000 บาทต่อครั้ง แต่ถ้าเป็นวัคซีนโควิด-19 จะมีราคา 4,000-5,000 บาท ตามที่โรงพยาบาลวิภาวดีได้ตั้งแพ็กเกจราคาไว้ ถ้าขายในราคาดังกล่าวจริงก็อาจมีนัยยะต่อรายได้ของหุ้นโรงพยาบาล

คาดว่า บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) น่าจะเป็นโรงพยาบาลผู้นำในการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 เป็นรายแรก เพราะสั่งซื้อลอตใหญ่ได้ ในแง่ต้นทุนการซื้อน่าจะทำได้ถูกกว่า

จับตา รพ.กรุงเทพชิงดำ

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า BDMS น่าจะเป็นผู้นำเข้าวัคซีนเป็นรายแรก มีโรงพยาบาลในเครือมากกว่า 50 แห่ง คาดว่ากำไรจากการฉีดวัคซีนน่าจะช่วยต่อยอดธุรกิจจากรายได้ที่ผู้ป่วยต่างชาติลดลง

โดยประเมินกำไรปนี้ของหุ้นโรงพยาบาล (4 บริษัท) รวม 13,624 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน ถ้ามองปัจจัยพื้นฐานเลือก บมจ.บางกอก เชน ฮอสปิทอล (BCH) เพราะมูลค่าหุ้นไม่แพงเมื่อเทียบกับกลุ่มโรงพยาบาลเกษมราษฎร์มีรายได้จากลูกค้าประกันสังคม คาดกำไรอยู่ที่ 1,423 ล้านบาท เพิ่ม 12% จากปีก่อนทำได้ 1,270 ล้านบาท BDMS คาดกำไร 8,861 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.25% จากปีก่อนทำได้ 6,751 ล้านบาท ขณะที่ บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) คาดกำไร 2,426 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 76.95% จากปีก่อนทำได้ 1,371 ล้านบาท เป็นการฟื้นตัวจากฐานต่ำ