“ฟูจิฟิล์ม” งัดแผนสู้โควิด รุก “ธุรกิจการแพทย์” ปั้นรายได้

ฟูจิฟิล์ม
Market Move

ในขณะที่ตลาดกล้องดิจิทัลกำลังซบเซาเพราะพิษโควิด-19 “ฟูจิฟิล์ม” ยักษ์อุตสาหกรรมสัญชาติญี่ปุ่น ได้ใช้โอกาสนี้รุกธุรกิจด้านการแพทย์ ทั้งการถ่ายภาพทางการแพทย์ ระบบข้อมูล และการผลิตยารักษาโรค ด้วยการปรับแนวทางธุรกิจโดยหันโฟกัสการขยายฐานลูกค้าด้านบริการทางการแพทย์มากขึ้น หวังสร้างรายได้ทดแทนธุรกิจกล้องดิจิทัลและฟิล์ม

สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า ฟูจิฟิล์มเตรียมปูพรมศูนย์ตรวจสุขภาพ ซึ่งสามารถตรวจหาโรคได้หลากหลายตั้งแต่มะเร็งในอวัยวะต่าง ๆ ไปจนถึงกลุ่มโรคที่เกิดจากการใช้ชีวิต เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ เบาหวาน ความดัน ฯลฯ

พร้อมจุดแข็งอย่างค่าบริการจับต้องง่ายสำหรับผู้บริโภคระดับกลางขึ้นไป หรือประมาณไม่เกิน 2 หมื่นเยน (5.7 พันบาท) ด้วยการใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ มาวิเคราะห์ภาพและข้อมูลที่ได้จากอุปกรณ์การตรวจ อาทิ ซีทีสแกน และเมมโมแกรม เพื่อคุมค่าใช้จ่าย

นอกจากนี้ ฟูจิฟิล์มยังวางแผนจับมือกับพันธมิตรท้องถิ่นในประเทศต่าง ๆ เพื่อเปิดศูนย์รูปแบบนี้ในหลายภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และอื่น ๆ ด้วยเป้าหมายรวม 100 แห่ง

ประเดิมด้วยสาขาแรกที่เมืองบังคาลอร์ ประเทศอินเดีย เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ เน้นให้บริการตรวจหาโรคมะเร็ง อาทิ มะเร็งเต้านม และมะเร็งในช่องปาก รวมไปถึงสัญญาณระยะเริ่มต้นของโรคปอดและโรคหัวใจ ด้วยการจับมือ “ดร.คุตตี้ส์ เฮลท์แคร์” (Dr.Kutty’s Healthcare) บริษัท ผู้บริหารเชนโรงพยาบาลในท้องถิ่นตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นมาบริหาร

ฟูจิฟิล์มอธิบายว่า การเลือกปักธงสาขาแรกที่เมืองบังคาลอร์นั้น เพราะเมืองดังกล่าวเป็นศูนย์กลางธุรกิจไอทีของอินเดีย มีผู้บริโภคระดับกลางไปจนถึงสูงที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักอาศัยอยู่หนาแน่น อีกทั้งยังมีโอกาสต่อยอดไปยังกลุ่มลูกค้าองค์กร โดยนำบริการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิประโยชน์ของลูกจ้าง หรือสิทธิประกันสุขภาพ

โดยหลังจากนี้ยังมีแผนรุกหัวเมืองต่าง ๆ ในอินเดีย และจะเพิ่มโมเดลศูนย์ตรวจแบบเคลื่อนที่เพื่อรับดีมานด์กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม และพื้นที่ชานเมือง รวมถึงรุกกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ เพิ่ม อาทิ สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์, อินโดนีเซีย, เวียดนาม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ฟูจิฟิล์มย้ำว่าไม่มีแผนเปิดบริการในประเทศญี่ปุ่น แต่จะนำข้อมูลจากการให้บริการมาสนับสนุนการพัฒนาอุปกรณ์การแพทย์รุ่นใหม่ ๆ

ด้านนักวิเคราะห์มองว่า ความเคลื่อนไหวนี้เป็นการอุดช่องว่างที่หลายประเทศยังไม่มีศูนย์ตรวจสุขภาพแพร่หลายมากนัก เช่นเดียวกับวัฒนธรรมการตรวจสุขภาพเป็นประจำที่ยังถือเป็นเรื่องใหม่ ตัวอย่างเช่นในอินเดียมีผู้ป่วยโรคมะเร็งเพียง 30% ที่สามารถมีชีวิตอยู่ได้เกิน 5 ปีหลังตรวจพบสั้นกว่าในประเทศพัฒนาแล้วมาก สะท้อนว่าส่วนใหญ่เป็นการตรวจพบมะเร็งในระยะท้าย ๆ

การเปิดศูนย์ตรวจสุขภาพนี้แสดงถึงความเข้มข้นของความพยายามปั้นรายได้จากฝั่งธุรกิจการแพทย์ ซึ่งที่ผ่านมาการผลิตและจัดจำหน่ายอุปกรณ์ถ่ายภาพทางการแพทย์ เช่น ฟิล์มเอกซเรย์ และกล้องตรวจภายใน ระบบจัดการภาพถ่ายทางการแพทย์ รวมถึงยารักษาโรคอีกหลายตัว เช่น อาวิแกน (Avigan) ซึ่งโด่งดังเมื่อต้นปี 2563 จากการมีผลรักษาโรคโควิด-19

รวมถึงการรับหน้าที่เป็นผู้บริหารโครงการตรวจสุขภาพให้กับรัฐบาลในประเทศตลาดเกิดใหม่หลายแห่ง กำลังทำให้ในปีงบฯ 2563 (เม.ย. 63-มี.ค. 64) ฟูจิฟิล์มมีผลประกอบการสูงจนเหมือนไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ จากโควิด-19 เลย

ด้วยกำไรจากการดำเนินงานในส่วนธุรกิจการแพทย์ที่คาดว่าจะสูงถึง 4.5 หมื่นล้านเยน เติบโต 36% จากปีก่อนหน้า หนุนให้กำไรสุทธิของทั้งเครือมาอยู่ที่ 1.25 แสนล้านเยน หรือใกล้เคียงกับปี 2562