เปิดพอร์ตเบียร์ “ไทยเบฟ” ขุมทรัพย์แสนล้าน “เจ้าสัวเจริญ”

เจ้าสัวเจริญ-เบียร์

บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ “ไทยเบฟ” ของราชันย์น้ำเมา “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ยืนยันการตัดสินใจนำ “ธุรกิจเบียร์” เข้าตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ โดยจะนำ บริษัท BeerCo ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ดูแลธุรกิจเบียร์ทั้งหมดของไทยเบฟ และไทยเบฟถือหุ้นทางอ้อมผ่านบริษัท International Beverage Holdings อีกทอดหนึ่ง เข้าซื้อขายในกระดานหลักของตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ โดยจะนำหุ้นจำนวน 20% เสนอขายต่อนักลงทุน

ทั้งนี้ ธุรกิจที่อยู่ภายใต้ BeerCo ดูแลการผลิตและจัดจำหน่ายเบียร์ในประเทศไทยทั้งหมดของ “ไทยเบฟ” ได้แก่ เบียร์ช้าง, อาชา, เฟเดอร์บรอย รวมถึงการผลิตและจัดจำหน่าย เบียร์ ไซ่ง่อน และ 333 ในเวียดนามของบริษัท ไซง่อนเบียร์ แอลกอฮอล์ เบเวอเรจ หรือ ซาเบโค แต่ไม่ร่วมการขายเบียร์ในประเทศอื่น ๆ

สำหรับข้อมูลทางการเงิน ยักษ์เครื่องดื่มเปิดเผยว่า BeerCo มีทรัพย์สินประกอบด้วยโรงกลั่นในไทยและเวียดนามรวม 26 แห่ง และผลประกอบการปีงบฯ 2563 (สิ้นสุด 30 ก.ย.63) มีรายได้รวม 4.7 พันล้านสิงคโปร์ดอลลาร์ (ประมาณ 1.05 แสนล้านบาท) ส่วนกำไรหลังหักภาษีอยู่ที่ประมาณ 348 ล้านสิงคโปร์ดอลลาร์ (ประมาณ 7.82 พันล้านบาท) โดยกำไรนี้คิดเป็นสัดส่วน 30% ของรายได้ของไทยเบฟในปีงบฯ 2563

โดยผลประกอบการปีงบประมาณ 2563 ของไทยเบฟ มียอดขายทั้งหมด 253,481 ล้านบาท ลดลง 5.2% จากปีก่อน ที่มียอดขายรวม 267,357 ล้านบาท เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบกับธุรกิจต่าง ๆ ในเครือจนยอดขายลดลง โดยเฉพาะเบียร์ซึ่งเป็นสินค้าหลักมีสัดส่วน 42.2% หดตัวถึง 11.3% หรือราว 1.01 แสนล้านบาท จากการปิดสถานบันเทิงในช่วงล็อกดาวน์ และกฎหมายควบคุมการดื่มฉบับใหม่ของเวียดนามที่มีบทลงโทษรุนแรงกระทบยอดขายในเวียดนามอย่างหนัก

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลแบรนด์เบียร์ใต้ปีกไทยเบฟ ก่อนที่บริษัทจะนำ “ธุรกิจเบียร์” เข้าตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์

เบียร์ช้าง

เบียร์ช้างถือกำเนิดจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร ที่ต้องการขยายตลาดเบียร์รสชาติคนไทย เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ของผู้บริโภค โดยเบียร์ช้างขวดแรกผลิตเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2537 จากโรงงานผลิตเบียร์ที่อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2538

ความนิยมเบียร์ช้างที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง จึงต้องขยายกำลังการผลิตครั้งสำคัญเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ทั่วถึงยิ่งขึ้น เลยมีการก่อสร้างโรงงานเบียร์แห่งใหม่ขึ้นที่จังหวัดกำแพงเพชร ภายใต้การบริหาร ของ บมจ.เบียร์ไทย (1991) จำกัด ซึ่งต่อมาได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็น บริษัทมหาชนในปี พ.ศ. 2544 ด้วยทุนจดทะเบียน 5,550 ล้านบาท

เบียร์อาชา

เปิดตัวครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2547 เพื่อตอบสนองความต้องการของนักดื่มเบียร์รุ่นใหม่ที่นิยมเบียร์ดีกรีต่ำลง

เฟเดอร์บรอย

ระหว่างที่ “ไฮเนเก้น” กุมตลาดเบียร์พรีเมียมไว้แต่เพียงผู้เดียว ไทยเบฟได้เปิดตัวเฟเดอร์บรอยมาสู้ ชูคอนเซปต์เบียร์ขวดเขียวแบบเยอรมัน เมื่อปี 2551 ก่อนจะมีการรีแบรนด์ใหม่อีกครั้งเมื่อปี 2560 พร้อมปรับสูตร เปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งใหม่

เบียร์เวียดนาม

ช่วงปลายปี 2560 ไทยเบฟชนะการประมูล บริษัท ไซง่อนเบียร์ แอลกอฮอล์ เบเวอเรจ หรือ ซาเบโค จากรัฐบาลเวียดนาม โดยเสนอวงเงิน 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.63 แสนล้านบาท สำหรับการถือหุ้นใหญ่ในซาเบโค คิดเป็นสัดส่วน 54%

ตรวจสอบเว็บไซต์ไทยเบฟพบรายการเบียร์เวียดนาม 5 รายการ ได้แก่ ไซง่อน โกลด์, ไซง่อน สเปเชียล, ไซง่อน เอ็กซ์พอร์ต, ไซง่อน ลาเกอร์, และ 333

เมื่อเดือนตุลาคม 2563 นายไมเคิล ไชน์ ฮิน ฟา ผู้บริหารกลุ่มสินค้าเบียร์ในต่างประเทศ บริษัท ไทยเบฟฯ กล่าวว่า ตลาดเบียร์ในเวียดนามเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 2 และต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน แม้จะมีการระบาดระลอกใหม่ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งบริษัทได้ปรับตัวรับการระบาดและสภาพตลาดด้วยการปรับองค์กรเป็น ซาเบโค 4.0 โดยนำเทคโนโลยีเข้ามารัดเข็มขัดต้นทุนด้านต่าง ๆ เพื่อรักษาสัดส่วนกำไร อาทิ นำระบบอัตโนมัติมาใช้ในโรงงาน วางระบบจัดจำหน่ายที่มีข้อมูลแบบเรียลไทม์

พร้อมอาศัยโมเมนตัมนี้ลอนช์สินค้าใหม่ในเวียดนาม อาทิ เบียร์แบรนด์ใหม่ เบียร์เวียด (Bia Viet) ที่เปิดตัวในโอกาสครบรอบ 145 ปี ซาเบโค เมื่อเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน พร้อมทำการตลาดเน้นให้เกิดการบริโภคในบ้านแทนร้านอาหาร-ผับบาร์ รับมือสถานการณ์การระบาด

แทปเปอร์

ปี 2561 ไทยเบฟเปิดตัวเบียร์ “แทปเปอร์ ออริจินัล เอ็กซ์ตร้า” เพื่อรักษาฐานลูกค้าเบียร์ช้างดั้งเดิม ด้วยดีกรีที่สูงถึง 6.5% หวังเปิดตลาดในเซ็กเมนต์เมนสตรีม ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท หรือมีสัดส่วน 93% ในเวลานั้น ขณะเดียวกันไทยเบฟก็ได้ปรับสูตรเบียร์ช้าง โดยลดแอลกอฮอล์ลง จาก 5.2% เป็น 5% ทุกบรรจุภัณฑ์

กลยุทธ์นี้ทำให้ไทยเบฟฯ มีเบียร์ในเซ็กเมนต์เมนสตรีม 2 แบรนด์ และมีเบียร์เฟดเดอร์บรอยทำตลาดเซ็กเมนต์พรีเมียม ส่วนอาชาอยู่ในเซ็กเมนต์อีโคโนมี

“ฮันทส์แบรนด์” และ “แบล็ค ดราก้อน”

เป็น 2 แบรนด์ใหม่ ที่ไทยเบฟใช้รุกตลาดคราฟต์เบียร์ เพื่อสร้างสีสันและขยายฐานนักดื่มใหม่ ๆ

ช้างโคลด์บรูว์

ปลายปี 2562 เปิดตัว “ช้าง โคลด์บรูว์” ซึ่งใช้วิธีผลิตแบบ Cold Brew Process หรือการกรองเบียร์ในอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง ตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคที่ชื่นชอบความแปลกใหม่และหลากหลายมากขึ้น

ในแง่การทำตลาด มีการคัดเลือกช่องทางการจำหน่ายที่ต่างกับช้างปกติเล็กน้อย เพื่อเจาะกลุ่มพรีเมี่ยมแมส โฟกัสตลาดภาคกลางและภาคเหนือเป็นหลัก ก่อนที่จะเริ่มกระจายเข้าโมเดิร์นเทรดในเวลาต่อมา

ยุทธศาสตร์ “ไทยเบฟ”

เมื่อปี 2563 นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เผยแผนการดำเนินงาน ประจำปี 2563 ว่า ทิศทางการเติบโตของบริษัทในอนาคต จะก้าวสู่ PASSION 2025 ที่เป็นการต่อยอดมาจาก VISION 2020 เพื่อสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่าง และต้องยอมรับว่าช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก ส่งผลให้ภาพรวมของกลุ่มธุรกิจไทยเบฟฯได้รับผลกระทบกว่า 14% เนื่องจากช่วงนั้นมีการเวิร์กฟรอมโฮม รวมถึงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทำให้มีผลต่อธุรกิจเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม จากนี้ไปยุทธศาสตร์การดำเนินงานของไทยเบฟฯ จะเน้นไปที่ 3 แนวทางหลัก ได้แก่ BUILD การสร้างโอกาสของธุรกิจใหม่ ๆ ตามด้วย STRENGTHEN เพื่อสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจ เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่ครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน และ UNLOCK นำศักยภาพของไทยเบฟฯที่มีอยู่มาต่อยอดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

พร้อมกันนี้ นายฐาปนยังกล่าวต่อถึงภาพรวมธุรกิจใน VISION 2020 ที่ผ่านมาว่า สามารถทำให้ยอดขายและกำไรเติบโตขึ้นต่อเนื่อง และจากนี้เมื่อได้ก้าวสู่ PASSION 2025 จะทำให้ไทยเบฟฯ มุ่งมั่นสู่การเป็นผู้นำทั้งในกลุ่มธุรกิจแอลกอฮอล์ น็อนแอลกอฮอล์ และธุรกิจอาหาร

ดังนั้น การนำ BeerCo เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นสิงคโปร์ จึงนับเป็นอีกก้าวที่สำคัญ เพื่อไปสู่ Passion 2025