เปิดพอร์ตเบียร์แสนล้าน “ไทยเบฟ” เจ้าสัวปั้น BeerCo เข้าตลาดหุ้น

คล้อยหลังจากการออกแถลงการณ์ชี้แจงกระแสข่าวการนำธุรกิจเบียร์เข้าตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ว่าเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งของแผนการเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจได้เพียงสัปดาห์เดียวเท่านั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ของ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี มหาเศรษฐีอันดับ 3 ของประเทศ จากการจัดอันดับของฟอร์บส ไทยแลนด์ ด้วยมูลค่าทรัพย์สินกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ได้ประกาศแผนการนำธุรกิจเบียร์เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นสิงคโปร์ และทำให้ความเคลื่อนไหวดังกล่าวกลับมาเป็นที่สนใจของบรรดานักลงทุนอีกครั้ง

ไทยเบฟฯได้เปิดเผยเอกสารรายละเอียดแผนนำธุรกิจเบียร์เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ โดยระบุว่าจะนำบริษัท BeerCo บริษัทโฮลดิ้งที่ดูแลธุรกิจเบียร์ทั้งหมดของไทยเบฟฯ และมีไทยเบฟฯถือหุ้นทางอ้อมผ่านบริษัท International Beverage Holdings อีกทอดหนึ่ง เข้าซื้อขายในกระดานหลักของตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ โดยคาดว่าจะเสนอขายหุ้นในสัดส่วน 20% จากหุ้น BeerCo ทั้งหมด (ยังไม่ระบุจำนวนหุ้น)

ทั้งนี้ บริษัท BeerCo นั้นเป็นบริษัทที่ไทยเบฟฯ นำธุรกิจเบียร์เฉพาะส่วนที่ผลิตและจัดจำหน่ายในประเทศไทยและเวียดนามเข้ามารวมกันไว้ ประกอบด้วยเบียร์แบรนด์ต่าง ๆ ทั้ง ช้าง, อาชา, เฟเดอร์บรอย แทปเปอร์, แบล็ค ดราก้อน, ฮันทส์แมน รวมถึงแบรนด์เบียร์ของบริษัท ไซ่ง่อนเบียร์ แอลกอฮอล์ เบเวอเรจ หรือซาเบโค ที่ไทยเบฟฯถือหุ้นอยู่ ประกอบด้วย Bia Saigon Gold, Bia Saigon Special, Bia Saigon Export, Bia Saigon Lager, 333

รวมถึงโรงงานเบียร์ 3 แห่งในประเทศไทย คือ โรงงานของบริษัท เบียร์ไทย (1991) จำกัด (มหาชน) จังหวัดกำแพงเพชร, โรงงานเบียร์ อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ของบริษัท เบียร์ทิพย์ บริวเวอรี่ (1991) จำกัด และโรงงานเบียร์ อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในนามบริษัท คอสมอส บริวเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด นอกจากนี้ยังมีโรงงานเบียร์อีก 26 แห่งในเวียดนาม

ในส่วนขนาดของบริษัท BeerCo นั้นสามารถสะท้อนได้จากผลประกอบการปีงบฯ 2563 (1 ต.ค. 62-30 ก.ย. 63) ที่พบว่ารายได้ของกลุ่ม BeerCo อยู่ที่ประมาณ 4.7 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 1.05 แสนล้านบาท ส่วนกำไรหลังหักภาษีอยู่ที่ 348 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 7.82 พันล้านบาท

ขณะที่รายได้ของเบียร์โค เมื่อเทียบกับรายได้รวมของไทยเบฟฯแล้ว มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีงบฯ 2561-2563 ไม่ว่าจะเป็น กำไรขั้นต้น (gross profit) อยู่ที่ 28% 31% และ 29% ตามลำดับ ส่วนกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อม และตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ที่ 15% 21% และ 29% ตามลำดับ ส่วนกำไรหลังหักภาษี (profit after tax) อยู่ที่ 2% 19% และ 30% ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม หากย้อนหลังกลับไปจะพบว่า ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2561-2563) รายได้ของ BeerCo อยู่ที่ 3,946, 5,151 และ 4,716 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ตามลำดับ ส่วนกำไรขั้นต้น ตัวเลขอยู่ที่ 775, 1,034 และ 969 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ส่วน EBITDA อยู่ที่ 216, 403 และ 588 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ส่วนกำไรหลังหักภาษีอยู่ที่ 19, 218 และ 348 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์

ด้านส่วนทุน (total equity) ของ BeerCo ณ 30 ก.ย. 63 อยู่ที่ 8,265,519,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ ส่วนหนี้สินรวม (total liabilities) อยู่ที่ 845,138,000 ดอลลาร์สิงคโปร์

โดยในไตรมาสสุดท้ายของปีงบฯ 2563 (ก.ค. 63-ก.ย. 63) BeerCo มีรายได้จากการขายสินค้าลดลง 3.8% เป็น 1.2 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ แต่กำไรหลังหักภาษีเพิ่มขึ้น 121.1% โดยรายได้ในไทยเติบโต 7.3% ส่วนรายได้จากการขายสินค้าในเวียดนามลดลง 12.8% ทั้งนี้เป็นผลจากการฟื้นตัวของตลาดเบียร์ในไทย และความพยายามลดผลกระทบจากโรคระบาด รวมถึงรัดเข็มขัดต้นทุน

สำหรับราคาหุ้นของไทยเบฟฯในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ณ เวลา 14.54 น. วันที่ 5 กุมภาพันธ์ อยู่ที่ 0.825 ดอลลาร์สิงคโปร์ ปรับตัวขึ้น 0.03 จุด คิดเป็น 3.774% เมื่อเทียบกับวันก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม แม้ไทยเบฟฯจะไม่เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับวงเงินในการทำ IPO ครั้งนี้ แต่เมื่อช่วงปลายเดือนมกราคม สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวใกล้ชิดกับกระบวนการทำงานนี้ว่า ไทยเบฟฯต้องการจะระดมทุนคิดเป็นมูลค่า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2,676 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือกว่า 6 หมื่นล้านบาท

ว่ากันว่าด้วยตัวเลขที่สูงมากดังกล่าวจะทำให้การเข้าตลาดของ BeerCo เป็นการทำ IPO วงเงินสูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี ของตลาดหุ้นสิงคโปร์เลยทีเดียว

ขณะที่คณะกรรมการบริษัทไทยเบฟฯระบุเพียงว่า เม็ดเงินที่ได้จะนำไปชำระหนี้สินที่มีภาระผูกพันดอกเบี้ย (interest-bearing debt) ทั้งหมดในงบการเงินรวมของบริษัท เพื่อให้สถานะทางการเงินของไทยเบฟฯ กรุ๊ป มั่นคงมากขึ้น และสามารถลงทุนขยายธุรกิจต่อไปได้

นอกจากนี้ คณะกรรมการยังให้ความเห็นเกี่ยวกับการแยกธุรกิจเบียร์ออกมาเข้าตลาดในครั้งนี้ว่า การแยกทีมบริหารจัดการออกมาวางกลยุทธ์สำหรับธุรกิจเบียร์โดยเฉพาะด้วยทีมงานที่มีประสบการณ์ยาวนาน รวมถึงความสามารถเข้าถึงทุนในตลาดหุ้น และเครื่องมือระดมทุนที่หลากหลาย ไปจนถึงการก่อหนี้ได้เอง จะช่วยให้ธุรกิจเบียร์สามารถขยายตัวได้อีกมาก

ทั้งนี้ ไทยเบฟฯมีเป้าหมายสำคัญ โดยตั้งเป้าว่า BeerCo จะเป็นผู้นำในตลาดเบียร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ไม่ยากนัก