ไดกิ้น ผนึกคู่ค้ารุกออนไลน์ ปั้นร้านแอร์วันสต็อปช้อปปิ้ง

“ไดกิ้น” เปิดเกมปลุกตลาดแอร์หลังโควิดกระทบภาพรวมตลาดร่วง มั่นใจเวิร์กฟรอมโฮมปัจจัยหนุนดันดีมานด์ คาดตลาดแข่งเดือด โปรฯแรง-0% เกลื่อน ประกาศเปิดตัวไลน์อัพแอร์รุ่นใหม่ ชูจุดขายด้านสุขภาพด้วยแผ่นกรองฝุ่น-ไวรัส ไม่เล่นราคา โฟกัสช่องทางออนไลน์เจาะฐานคนรุ่นใหม่ พร้อมดึงคู่ค้าเปิดแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ สร้างศูนย์รวมแอร์ไดกิ้น ตั้งเป้าเติบโต 9% แตะ 1.2 หมื่นล้าน

นายสราวุธ เต็มภัทรศักดิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ บริษัท สยามไดกิ้นเซลส์ จำกัด ผู้จำหน่ายแอร์ไดกิ้น เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้คาดว่าตลาดแอร์ในภาพรวมมีแนวโน้มทรงตัว หรือหากสถานการณ์โรคโควิด-19 คลี่คลายเร็วอาจเห็นภาพของการเติบโตของตลาดได้ประมาณ 5% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 4.3 หมื่นล้านบาทจากปี 2563 ที่ผ่านมาที่ตลาดหดตัวลงประมาณ 4.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จากปี 2562 ที่ตลาดรวมอยู่ที่ประมาณ 4.7 หมื่นล้านบาท เบื้องต้นคาดว่าตลาดแอร์ในเซ็กเมนต์ครัวเรือนมีโอกาสเติบโตมากกว่างานโครงการ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากเทรนด์ในเรื่องของการทำงานที่บ้าน (WFH) ที่ส่งผลให้ดีมานด์แอร์มีมากขึ้น

ขณะที่งานโครงการนั้นดีมานด์จากกลุ่มคอนโดฯลดลงเพราะซัพพลายยังล้นอยู่ เหลือเพียงกลุ่มแนวราบ เช่น หมู่บ้านจัดสรร เช่นเดียวกับโครงการรัฐอย่างโรงพยาบาล-โรงเรียนยังมีงบฯสำหรับการจัดซื้ออยู่ ขณะที่โรงแรมอาจจะมีการรีโนเวตอาคารสถานที่บ้าง เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่มีการใช้งานน้อย อย่างไรก็ตาม ที่น่าสนใจก็คือ การตัดสินใจของผู้บริโภคทั้ง 2 กลุ่มได้หันมาให้ความสนใจกับเรื่องคุณภาพอากาศในอาคาร หรือ IAQ (indoor air quality) มากขึ้น เนื่องจากมีความห่วงกังวลเรื่องเชื้อโรคหรือฝุ่น PM 2.5 รวมกับการประหยัดพลังงาน

“จากแนวโน้มดังกล่าวจะส่งผลให้ตลาดด้านการแข่งขันดุเดือดมากขึ้น นอกจากโปรโมชั่นราคา-ของแถมแล้ว อาจจะเห็นการยืดเวลาผ่อน 0% ให้นานขึ้นไปอีก เพื่อให้สินค้าจับต้องง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยังคาดว่าหลาย ๆ ค่ายจะหันมาให้ความสำคัญกับช่องทางออนไลน์มากขึ้นต่อเนื่องจากปีที่แล้ว”

นายสราวุธกล่าวต่อไปว่า สำหรับไดกิ้นปีนี้ตั้งเป้าการเติบโตไว้ที่ประมาณ 9% หรือคิดเป็นยอดขายประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท โดยขณะนี้ได้เตรียมเปิดตัวไลน์อัพแอร์รุ่นปี 2564 ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ เน้นจุดขายด้านสุขภาพด้วยแผ่นกรองฝุ่น-ไวรัส-กลิ่น รวมถึงต่อยอดสร้างรายได้จากลูกค้าเดิมที่มีแอร์ไดกิ้นอยู่แล้วด้วยการวางจำหน่ายแผ่นกรองไวรัสและกลิ่นสำหรับนำไปติดตั้งเพิ่มให้กับแอร์รุ่นเดิม

ส่วนในแง่ของกลยุทธ์การตลาด ไดกิ้นจะไม่เน้นแข่งเรื่องราคา โดยจะใช้งบฯการตลาดไม่น้อยกว่าปีก่อน ๆ และจะโฟกัสการทำตลาดผ่านออนไลน์มากขึ้นให้สอดรับกับเทรนด์และเพิ่มการเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ เสริมด้วยโปรโมชั่นส่งเสริมการขายในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมที่เป็นหน้าขายสำคัญ โดยมีไฮไลต์อยู่ที่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่บริษัทพัฒนาขึ้นเอง และเปิดให้ตัวแทนจำหน่ายนำสินค้าเข้ามาวางขายเพื่อให้เป็นศูนย์รวมแอร์ไดกิ้นบนออนไลน์ พร้อมกับเน้นการสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าและบริการติดตั้ง-หลังการขาย

โดยจะเปิดตัวเร็ว ๆ นี้ จากเดิมที่วางจำหน่ายเครื่องฟอกอากาศผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซทั้งลาซาด้าและช้อปปี้ พร้อมกับอัพเกรดแอปพลิเคชั่นมายไดกิ้น (My Daikin) เพิ่มฟังก์ชั่นต่าง ๆ เพื่อสร้างแอปนี้เป็นวันสต็อปเซอร์วิส ซึ่งมั่นใจว่ากลยุทธ์เหล่านี้จะช่วยสร้างความคุ้มค่าและสามารถจูงใจผู้บริโภคได้โดยไม่ต้องพึ่งพาการลดราคา

พร้อมกันนี้ก็จะเน้นสื่อสารผ่านออนไลน์ด้วยคลิปวิดีโอและไลฟ์สด เน้นให้ความรู้กับลูกค้าทั้งด้านคุณภาพอากาศ การประหยัดพลังงาน ควบคู่กับไลน์อัพสินค้าและเทคโนโลยี เช่น ระบบสตรีมเมอร์ที่สามารถยับยั้งเชื้อโรคโควิด-19 ได้ ซึ่งเดิมมีเฉพาะในเครื่องฟอก แต่จะนำมาใส่ในแอร์ด้วย ส่วนลูกค้าโครงการจะมีการนำเครื่องมือทางการเงินอื่น ๆ เข้ามาช่วย อาทิ การเช่าซื้อเพื่อจูงใจเจ้าของโครงการที่ไม่ต้องการลงทุนก้อนใหญ่ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน โดยติดตั้งให้ลูกค้าได้ใช้งานแอร์ก่อนแล้วจึงทยอยชำระค่าสินค้า ซึ่งโมเดลนี้ได้มีการทดลองใช้ในทวีปแอฟริกามาก่อน

ส่วนช่องทางที่เป็นออฟไลน์จะใช้กลยุทธ์แบบเซ็กเมนเตชั่นหรือปรับรูปแบบให้เหมาะสมตามแต่ละพื้นที่-ช่องทางจำหน่าย เช่น ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าจะเน้นทำตลาดผ่านพนักงานขาย ส่วนร้านแอร์จะเน้นสนับสนุนช่างแอร์ รวมถึงการสนับสนุนคู่ค้าในรูปแบบอื่น ๆ ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา พร้อมเดินหน้าจัดกิจกรรมสร้างการรับรู้ในพื้นที่ที่สามารถจัดได้ควบคู่กันไป