“ฉีดวัคซีน” ปลุกดีมานด์ธุรกิจ โอกาสทอง…ห้าง-ร้านยา-บริษัททัวร์

MARKET MOVE

 

การฉีดวัคซีนโรคโควิด-19 นับเป็นการฉีดวัคซีนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ด้วยจำนวนผู้รับวัคซีนระดับหลายสิบไปจนถึงหลายร้อยล้านคน ตามสัดส่วนประชากรในแต่ละประเทศ ทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องดึงเอกชน อาทิ ค้าปลีก เอเยนซี่ท่องเที่ยว บริษัทเอาต์ซอร์ซ เข้ามาร่วมงาน เพื่ออาศัยทรัพยากรและความเชี่ยวชาญมาสนับสนุนด้านสถานที่สำหรับฉีดวัคซีน เจ้าหน้าที่ภาคสนาม รวมการจัดการสื่อสาร-ประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้ผู้รับการฉีด

สถานการณ์นี้สร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการหลายราย ที่จะได้รับเม็ดเงินมาหล่อเลี้ยงในช่วงกำลังประสบปัญหาจากโรคระบาด

สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า อิออน หนึ่งในเชนค้าปลีกรายใหญ่ของญี่ปุ่น ซึ่งมีสาขาทั้งหมด 290 สาขาในแดนปลาดิบ เสนอให้หน่วยปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่มีสาขาตั้งอยู่สามารถใช้ห้างสรรพสินค้าเป็นศูนย์ฉีดวัคซีนได้ โดยนอกจากพื้นที่ในห้างซึ่งบางสาขามีมากกว่า 1 แสน ตร.ม.แล้ว ยังรวมไปถึงลานจอดรถขนาดหลายพันคัน และระบบไฟฟ้า-แสงสว่างอีกด้วย

โดยเริ่มเซ็นสัญญากับหน่วยงานท้องถิ่น อาทิ เมืองซามะทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงโตเกียว เพื่อใช้ฉีดวัคซีนช่วงเดือนเมษายน ซึ่งวางแผนปรับฮอลล์อเนกประสงค์เป็นจุดฉีดวัคซีน และเพิ่มพื้นที่เลานจ์สำหรับนั่งรอคิว และพื้นที่ติดตั้งตู้แช่อุณหภูมิต่ำพิเศษสำหรับเก็บวัคซีนเข้าไป

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาอิออนมีสัญญาให้หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 600 แห่ง สามารถใช้ห้างสรรพสินค้าของเครือเป็นศูนย์พักพิงในกรณีเกิดเหตุภัยพิบัติต่าง ๆ ได้อยู่ก่อนแล้ว

ขณะเดียวกัน หน่วยงานท้องถิ่นในหลายเมืองของญี่ปุ่นเริ่มเปิดให้ภาคเอกชนประกวดราคารับงานด้านสนับสนุนการฉีดวัคซีนด้วยเช่นกัน ซึ่งได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากกลุ่มธุรกิจเอเยนซี่ท่องเที่ยว เพราะแต่ละบริษัทต้องการเม็ดเงินมาหล่อเลี้ยงธุรกิจ โดยหนึ่งในรายที่ได้เซ็นสัญญาไปแล้ว คือ จีทีบี เอเยนซี่ท่องเที่ยวรายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ซึ่งเข้ารับหน้าที่บริหารจัดการการฉีดวัคซีน อาทิ คอลเซ็นเตอร์ และจัดส่งจดหมายเรียกให้กับผู้รับการฉีดให้กับเขตหนึ่งของกรุงโตเกียว เช่นเดียวกับเอเยนซี่ท่องเที่ยวใหญ่อีก 1 รายอย่าง คินคิ นิปปอน ทัวริสต์ และนิปปอน แทรเวล เอเยนซี่ ซึ่งเซ็นสัญญากับหน่วยงานท้องถิ่นแล้วเช่นกัน

นอกจากนี้ บริษัทเอาต์ซอร์ซบุคลากรเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้อานิสงส์ หลังหน่วยงานท้องถิ่นต้องการคนจำนวนมากเพื่อมาช่วยเหลือระหว่างการฉีดวัคซีน โดยเขตอิบารากิ ในโอซากา จ้างบริษัทเอาต์ซอร์ซเพอโซ โฮลดิ้ง ให้จัดหาเจ้าหน้าที่ชั่วคราวจำนวน 1,000 คน มาช่วยงานในอิบารากิ และพื้นที่ใกล้เคียง

ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นหลังรัฐบาลญี่ปุ่น ประเทศเป้าหมายฉีดวัคซีนให้กับประชาชนรวม 126 ล้านคน เริ่มจากกลุ่มเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานภาคสนามจำนวน 1 หมื่นคน ในวันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ เป็นต้นไป ตามด้วยกลุ่มสูงวัยอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปอีก 36 ล้านคน จะเริ่มฉีดในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งเชื่อว่าการจ้างเอกชนเข้ามาสนับสนุนจะช่วยให้สามารถฉีดวัคซีนได้ตามเป้า

ไปในทิศทางเดียวกับในสหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ซึ่งสำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า มีการดึงเอกชนเข้ามาสนับสนุนการฉีดวัคซีนเช่นกัน โดยในสหรัฐอเมริกา วอลมาร์ต เชนร้านค้าปลีกรายใหญ่ รวมถึง 3 เชนร้านยารายใหญ่ของประเทศคือ ซีวีเอส ไรเอด และวอลกรีนส์ ต่างร่วมมือกับรัฐบาลกลางและรัฐต่าง ๆ เพื่อใช้สาขาเป็นจุดบริการฉีดวัคซีน

โดยสำหรับเชนร้านยาทั้ง 3 รายนั้น แผนงานนี้เป็นโอกาสทางธุรกิจครั้งใหญ่ เนื่องจากพนักงานของร้านจะเป็นผู้ให้บริการฉีดวัคซีนเอง แล้วเก็บค่าใช้จ่ายจากบริษัทประกันหรือรัฐบาล ทำให้มีกำไรขั้นต้นถึงเข็มละ 13-15 ดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ยังเตรียมต่อยอดโอกาสที่จะมีผู้คนจำนวนมากเข้ามาที่สาขานี้ ด้วยการเพิ่มบริการเกี่ยวกับสุขภาพอื่น ๆ เช่น ตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน หรือคลินิกปฐมภูมิสำหรับตรวจโรคเบื้องต้น

โดยซีวีเอสคาดว่า การเป็นศูนย์บริการฉีดวัคซีนนี้จะเพิ่มกำไรขั้นต้นในปีนี้ได้มากถึง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนในสหราชอาณาจักร เชนซูเปอร์มาร์เก็ตเอเอสดีเอ ได้รับเลือกจากหน่วยงานบริการสาธารณสุขแห่งชาติให้เป็นศูนย์ฉีดวัคซีน โดยเภสัชกรประจำร้านยาของเชนซูเปอร์มาร์เก็ตจะเป็นผู้ฉีดวัคซีน สามารถฉีดได้ 250 โดสต่อวัน เริ่มทดลองสาขาแรกไปเมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เอดีเอสเอมีประสบการณ์เป็นศูนย์ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่มาก่อน โดยสามารถฉีดได้ถึง 2 แสนโดสต่อวัน และได้ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลใช้ร้านยาอีก 238 สาขา เป็นจุดบริการฉีดวัคซีนด้วย

จากนี้ต้องรอดูกันว่า แผนการดึงเอกชนมาหนุนการฉีดวัคซีนของแต่ละประเทศจะประสบความสำเร็จเพียงใด และแผนการของไทยเองจะเป็นอย่างไร จะมีภาคธุรกิจใดได้รับอานิสงส์ด้วยหรือไม่