KWM ผนึกกำลัง JSP Pharma สกัดกัญชา-กัญชง ลุยตลาด

KMW จับมือ JSP เดินหน้าสกัดกัญชา-กัญชงเต็มสูบ ชูโมเดล Sharing Economy ชวนผู้ประกอบการรายย่อยสร้างผลิตภัณฑ์ป้อนตลาดยา ลุ้นไตรมาส 3-4 ปี 64 สินค้ากัญชงลงตลาด

นายเอกพันธ์ วนโกสุม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เค. ดับบลิว. เม็ททัล เวิร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ KWM ผู้นำด้านการผลิตเครื่องจักรแถวหน้าของประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันตลาดพืชกัญชา-กัญชง หรือแคนนาบิส มีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในสหรัฐอเมริกา แคนาดา โดยเฉพาะการผลิตเพื่อใช้สำหรับการนันทนาการ ซึ่งมีแนวโน้มสูงกว่าการใช้ผลิตเพื่อทางการแพทย์

ประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีแนวโน้มเติบโตสูงเช่นเดียวกัน จะเห็นได้จากหลายภาคธุรกิจเริ่มหันมาศึกษาและเล็งทำผลิตภัณฑ์ป้อนสู่ตลาดเป็นระยะ ๆ KWM เล็งเห็นโอกาสจึงได้พัฒนาเครื่องสกัดสารขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน จนปัจจุบันได้ประสบผลสำเร็จเรียบร้อยแล้ว

ดังนั้น บริษัทฯ จึงจับมือกับเจเอสพี ฟาร์มา ผสานจุดแข็งของทั้งสองบริษัทเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อร่วมกันทำโครงการ “การสกัดสารสกัดจากพืชกัญชาและกัญชง” รองรับการเติบโตของตลาดแคนนาบิสในประเทศ

โดย KMW มีความเชี่ยวชาญด้านเครื่องจักร ได้ผลิตเครื่องสกัดสาร KMW EXTRACTOR 1.0 ด้วยระบบ SUPERCRITICAL FLUID CO2 EXTRACTION และระบบ ULTRASONIC EXTRACTION ซึ่งนำไปสู่การสกัดสารจากกัญชาและกัญชงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในขณะเดียวกันเจเอสพี ฟาร์มา ก็เป็นบริษัทที่คร่ำหวอดและมีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตยา ทั้งแผนปัจจุบัน ยาแผนโบราณ และผลิตภัณฑ์อาหารเสริม และมีความพร้อมที่จะนำสารสกัดจากพืชทั้งสองรายการไปต่อยอดทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดไทย

“ขณะนี้เครื่องสกัดมีกำลังการผลิต 1 เครื่องอยู่ที่วัตถุดิบ 4 กก. จะได้สารสกัดอย่างต่ำ 200 มล. ในอนาคตเรามีแผนเพิ่มการผลิตเครื่องสารสกัด ซึ่งโรงงานเราสามารถผลิตได้ 1 ปี มากกว่า 100 เครื่อง”

ด้าน ดร.สิทธิชัย แดงประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด ผู้รับผลิตยา และอาหารเสริมอาหารเสริมรายใหญ่ (OEM) เปิดเผยว่า การร่วมมือกันในครั้งนี้ เจเอสพีจะนำเครื่องสกัดสารของ KWM มาไว้ที่โรงงาน จ.ลำพูน เพื่อร่วมสกัดกัญชา-กัญชง

โดยช่วงแรกจะผลิตให้แก่มหาวิทยาลัยและหน่วยงานภาครัฐ เพื่อนำไปวิจัยและพัฒนาก่อน ต่อมาจึงจะสกัดเพื่อรับทำผลิตภัณฑ์ สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยที่สนใจอยากสร้างแบรนด์เป็นของตนเอง

ทั้งนี้ จะเริ่มจากกัญชงก่อน เนื่องจากกัญชายังไม่รับการอนุญาตปลูกหรือสกัดอย่างเต็มที่

ปีนี้ในไตรมาส 3 อาจมีลุ้นทำสารสกัดกัญชงสำหรับใช้ภายนอก อาทิ ยาหม่อง น้ำมันสกัดต่าง ๆ ส่วนในไตรมาส 4 อาจมีโอกาสมีอาหารเสริม หรือยาต่าง ๆ จากกัญชงออกมา แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ทั้งภาคการผลิต หรือการวิจัยเองก็ตาม

“อนาคตเราอยากต่อยอด นอกจากทำสินค้าจากกัญชา-กัญชง ให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศแล้ว อาจส่งออกสารสกัดกัญชา-กัญชงไปที่ต่างประเทศ”

ทั้งนี้ อาจเรียกได้ว่าเจเอสพีครอบคลุมต้นน้ำยันปลายน้ำ ตั้งแต่ภาคการผลิตที่ร่วมมือกับเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน เพื่อผลิตพืชกัญชง-กัญชา ไปจนถึงภาคการแปรรูปที่ร่วมมือกับ KWM ประกอบกับความเชี่ยวชาญในการผลิตและทำการวิจัยของบริษัทเอง

ดร.สิทธิชัย กล่าวเสริมว่า ตนมองว่าประเทศไทยมีความได้เปรียบสูง ทั้งในแง่ภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเพาะปลูก อีกทั้งค่าแรงของเกษตรกร นักวิจัย หรือเภสัชกร ก็ถูกกว่าในต่างประเทศ ทำให้ต้นทุนเราต่ำกว่าที่อื่น

“หากผลักดันเรื่องนี้สำเร็จจะสร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทยอย่างมหาศาลได้อีกทางหนึ่ง”