“คาโดคาวะ” เด้งรับอะนิเมะรุ่ง ระดม “คอนเทนต์” ขยายฐาน

กระแสการ์ตูนญี่ปุ่นบูมจัด ผู้อ่าน-ชมหน้าใหม่เพิ่มต่อเนื่อง สำนักพิมพ์คาโดคาวะ อมรินทร์ ชิงเดินหน้าขยายฐานลูกค้า ระดมอิมพอร์ตคอนเทนต์ทุกรูปแบบทั้งการ์ตูน นิยาย อะนิเมะ เกม ของสะสม พร้อมเพิ่มน้ำหนักอีบุ๊ก-อีเวนต์ออนไลน์รับเทรนด์

นายอิวะซะกิ ทาโร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท คาโดคาวะ อมรินทร์ จำกัด บริษัททุนระหว่างเครืออมรินทร์ กับคาโดคาวะ สำนักพิมพ์การ์ตูนรายใหญ่ของญี่ปุ่น และผู้บริหารสำนักพิมพ์ “ฟีนิกส์ เน็กซ์” เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันตลาดการ์ตูนญี่ปุ่นในประเทศไทยมีศักยภาพสูงมากและทนทานต่อปัจจัยลบภายนอกที่มากระทบ โดยมีดีมานด์คอนเทนต์ทั้งในรูปแบบการ์ตูน นิยาย และการ์ตูนแอนิเมชั่นมาอย่างต่อเนื่อง

โดยเมื่อปี 2559 บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นประเมินว่าไทยอยู่ในท็อป 5 ของตลาดที่สร้างรายได้ให้บริษัทสูงสุด อยู่ในระดับเดียวกับประเทศใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา จีน เกาหลี และไต้หวัน และเป็นเหตุผลที่บริษัทตัดสินใจเข้ามารวมทุนกับอมรินทร์เพื่อทำธุรกิจสำนักพิมพ์การ์ตูนในไทย ด้วยกลยุทธ์แบบมัลติมีเดีย ทั้งการนำคอนเทนต์จากญี่ปุ่นเข้ามาตีพิมพ์ นำของสะสมจากการ์ตูนเข้ามาจำหน่าย พร้อมสร้างการรับรู้เกี่ยวกับคอนเทนต์ญี่ปุ่น

“ตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เราได้ตอบรับเป็นอย่างดี สะท้อนได้จากหลายปัจจัย อาทิ รายได้ของบริษัทที่เติบโตระดับดับเบิลดิจิตทุกปีรวมถึงปี 2563 ซึ่งมีการระบาดของโรคโควิด-19 และความสำเร็จของภาพยนตร์จอเงิน ดาบพิฆาตอสูร เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา”

ทั้งนี้ จากหนังสือรายงานประจำปีของบริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ปี 2562 บริษัท คาโดคาวะ อมรินทร์ จำกัด มีรายได้ 58.7 ล้านบาท มีกำไร 9.37 แสนบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีรายได้ 42.1 ล้านบาท และขาดทุน 7.45 แสนบาท ส่วนปี 2560 มีรายได้ 28.6 ล้านบาท มีกำไร 1.3 แสนบาท

ผู้บริหารคาโดคาวะ อมรินทร์ เชื่อว่าหลังจากนี้ตลาดยังสามารถเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากที่ผ่านมาฐานลูกค้ายังเล็กมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร จึงมีช่องว่างให้ขยายตัวได้ในอนาคต โดยปัจจุบันกลุ่มลูกค้าขยายออกไปครอบคลุมตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยกลางคน และมีแฟนผลงานหน้าใหม่อายุ 13-15 ปีเข้ามาเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่กลุ่มผู้หญิงอายุ 18-35 ปีแสดงศักยภาพออกมาอย่างโดดเด่น สะท้อนจากความสำเร็จของคอนเทนต์จากการ์ตูนเรื่อง ดาบพิฆาตอสูร ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบหนังสือ หรือภาพยนตร์จอเงิน รวมถึงยอดการใช้จ่ายของเหล่าแฟนผลงานกับสินค้าที่เกี่ยวข้องตั้งแต่หนังสือ ไปจนถึงของที่ระลึกที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการขยายตลาดมีความท้าทายจากการแข่งขันกับสื่อบันเทิงอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสตรีมมิ่ง เกม ทีวี ภาพยนตร์ ฯลฯ ที่มาแย่งชิงเวลาและเม็ดเงินของผู้บริโภค ทำให้มีเวลาและเงินมาใช้กับการ์ตูนน้อยลง ซึ่งผู้ประกอบการต้องหาทางรับมือ

สำหรับทิศทางจากนี้ไป หลังจากนี้จะรับมือความท้าทายในการแข่งขันกับสื่อบันเทิงอื่น รวมถึงการไม่สามารถจัดอีเวนต์ออนกราวนด์ได้ในช่วงการระบาดปีที่แล้ว บริษัทได้มีการยกระดับกลยุทธ์การสร้างประสบการณ์ให้กับนักอ่านชาวไทย และการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับคอนเทนต์ญี่ปุ่นให้เข้มข้นยิ่งขึ้น ผ่านสื่อแบบผสมผสานโดยเฉพาะสื่อดิจิทัลทั้งการ์ตูนแบบอีบุ๊ก ซึ่งเป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการนำอีเวนต์ออนกราวนด์มาจัดบนออนไลน์และมีแผนจะเพิ่มจำนวนงานให้มากขึ้นในปีนี้ รวมไปถึงการนำสินค้าเข้าไปจำหน่ายผ่านออนไลน์มากขึ้นให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบัน

พร้อมกับสานต่อกลยุทธ์มัลติมีเดีย โดยพยายามนำคอนเทนต์หลากหลายรูปแบบเข้ามาจำหน่ายตั้งแต่หนังสือการ์ตูน นิยาย แอนิเมชั่น และเกม เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคให้กว้างและหลากหลายมากที่สุด โดยเฉพาะคอนเทนต์สำหรับกลุ่มที่มีศักยภาพสูงอย่างผู้หญิงอายุ 18-35 ปี

“กลยุทธ์พื้นฐานที่เราใช้มาตลอดคือการผลักดันคอนเทนต์แบบครบวงจร ทั้งหนังสือ นิยาย แอนิเมชั่น เกม ของสะสม ดังนั้น หัวใจสำคัญของการขยายฐานลูกค้าหลังจากนี้ อยู่ที่การสื่อสารการสร้างการรับรู้ให้ผู้บริโภคทราบว่าเรามีคอนเทนต์-สินค้าอะไรอยู่บ้าง นอกจากนี้ บริษัทยังเดินหน้าแผนนำผลงานของนักเขียน-นักวาดไทยมาตีพิมพ์จำหน่ายทั้งในไทยและในญี่ปุ่นอีกด้วย

ปัจจุบันได้นำผลงานสัญชาติไทยจำนวนหนึ่งไปจำหน่ายที่ญี่ปุ่นแล้วทั้งในรูปแบบการ์ตูน และการนำนิยายไทยไปดัดแปลงเป็นการ์ตูนโดยนักวาดญี่ปุ่น กลยุทธ์เหล่านี้จะสามารถสร้างการเติบโตให้บริษัท รวมถึงขยายฐานแฟนของคอนเทนต์การ์ตูนญี่ปุ่นในประเทศไทยได้อย่างต่อเนื่อง” ผู้บริหารคาโดคาวะ อมรินทร์ย้ำ