ผ่อนน้อย..ผ่อนนาน “ซิงเกอร์” พลิกเกม ฟื้นรากหญ้า

พื้นที่ต่างจังหวัดและกลุ่มเกษตรกรยังประสบปัญหาเศรษฐกิจกำลังซื้ออย่างต่อเนื่องตลอดช่วงปีนี้ ซึ่งสถานการณ์นี้ย่อมสะเทือนถึง “ซิงเกอร์” เจ้าของฉายา “ราชาเงินผ่อน” ซึ่งทำธุรกิจขายตรงระบบเงินผ่อนและปล่อยสินเชื่อในพื้นที่ภูธรมาอย่างยาวนานนับศตวรรษ ทำให้ต้องมีการปรับทัพรับมือหลายด้านทั้งสินค้าและกลยุทธ์การขาย โดยเฉพาะช่วงโค้งท้ายปลายไตรมาสที่จะถึง 4 นี้

“กิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ร่วม บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ได้ฉายภาพกำลังซื้อในต่างจังหวัดและทิศทางของบริษัทในช่วงโค้งท้ายรวมถึงปีหน้ากับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วง 3 ไตรมาสของปีนี้กำลังซื้อกลุ่มเกษตรกรถือว่าไม่เลวร้ายนัก เนื่องจากไม่มีภัยธรรมชาติครั้งใหญ่และมีมาตรการภาครัฐมาพยุงราคาผลผลิต อาทิ ข้าวและยางพารา จึงยังมีเม็ดเงินหมุนเวียนต่อเนื่อง ขณะที่ชุมชนยังมีงบฯจากโครงการประชารัฐไหลเข้าไปอย่างต่อเนื่อง สร้างกำลังซื้ออีกทางหนึ่ง

ขณะเดียวกันกลุ่มผู้ประกอบการพาณิชย์มีศักยภาพมากขึ้น หลังเทรนด์นิยมอาชีพอิสระ-เป็นเจ้าของกิจการทำให้คนรุ่นใหม่และวัยทำงานส่วนหนึ่งหันมาเป็นผู้ประกอบการอิสระ แฟรนไชส์กันมากขึ้น สร้างดีมานด์สินค้าเชิงพาณิชย์ อาทิ ตู้เติมเงิน-น้ำมัน ตู้แช่และอื่น ๆ

อย่างไรก็ตามยังต้องจับตามองกลุ่มมนุษย์เงินเดือนที่กำลังซื้อลดลงจากมาตรการจำกัดสินเชื่อบัตรเครดิต ทั้งนี้หากไม่มีปัจจัยลบอื่นและการเมืองยังคงนิ่งเชื่อว่ากำลังซื้อจะเริ่มฟื้นท้ายไตรมาส 4 ไปจนถึงไตรมาส 2 ปี 2561 ด้วยแรกกระตุ้นจากสินค้าใหม่ ๆ และโบนัสปลายปี

สำหรับ “ซิงเกอร์” เอง โค้งท้ายปีนี้จะเน้น 2 กลุ่มสินค้าตามเทรนด์ของตลาด คือ สินค้าพาณิชย์ โดยชูการเป็นเครื่องมือสร้างรายได้ ร่วมกับคุณภาพสินค้าและระบบเงินผ่อนระยะยาวสูงสุด 31-42 เดือน พร้อมกลยุทธ์ดาวน์ต่ำ ผ่อนน้อย ผ่อนนาน เพื่อจูงใจทั้งผู้ประกอบการหน้าใหม่และชุมชนตามโครงการประชารัฐ เช่นเดียวกับกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านอาศัยเกาะกระแสไฮซีซั่นช่วงไตรมาส 4 และทัพพนักงานขายกว่า 600 ทีม ครอบคลุมทุกจังหวัด ซึ่งจะอัดฉีดอินเซ็นทีฟกระตุ้นอีกแรงหนึ่ง อาทิ รางวัลต่าง ๆ เมื่อทำยอดได้ตามเป้า

“ตู้เติมเงินถือเป็นสินค้าไฮไลต์นอกจากยอดขายจะเพิ่มขึ้น 129% ในไตรมาส 2 แล้ว ยังสร้างรายได้หลายทางตั้งแต่กำไรค่าตู้ ดอกเบี้ยจากการผ่อน และส่วนแบ่งจากการเติมแอร์ไทม์ของเจ้าของตู้”

ในขณะเดียวกันลดโอกาสเกิดหนี้เสีย โดยเน้นเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อและคัดเลือกลูกค้าความเสี่ยงต่ำ ไม่ว่าจะเป็น สินเชื่อจำนำทะเบียนรถที่หันเน้นรถบรรทุกเชิงพาณิชย์ซึ่งความเสี่ยงต่ำกว่ารถส่วนบุคคลเนื่องจากมีสัญญาเช่าหรือจ้างงานรับส่งคน-ขนของกับบรรดาโรงงานอยู่ เป็นต้น ส่วนหนี้เก่าค้างชำระก็เพิ่มจำนวนพนักงานเพื่อเร่งติดตาม เจรจาปิดบัญชี ยึดคืนสินค้าหรือรีไฟแนนซ์ ตามเป้าที่จะลดหนี้เสียให้ต่ำกว่า 10%มั่นใจว่ารายได้จากมือถือ ตู้เติมเงินและเบี้ยปรับ ร่วมกับสินค้าอื่น ๆ ทั้งของบริษัทและรับฝากขาย อาทิ โทรศัพท์มือถือ, รถมอเตอร์ไซค์, จักรปัก, เฟอร์นิเจอร์, ฯลฯ รวมถึงการปรับโครงสร้างธุรกิจจะช่วยให้ปี 2560 นี้รายได้เติบโตประมาณ 10-15%

ส่วนทิศทางปีหน้านั้น “กิตติพงศ์” กล่าวว่า นอกจากการเน้นสินค้าทั้ง 2 กลุ่มแล้ว จะเปิดตัวสินค้าแคทิกอรี่ใหม่ ๆ และรุ่นอัพเกรดอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นจุดขายและขยายฐานลูกค้าไม่ว่าจะเป็น เครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นเล็ก ซึ่งประสบความสำเร็จจากการทดลองขายเครื่องฟังเพลงในปีนี้ ตู้แช่ที่จะปรับโฉมใหม่ และฟังก์ชั่นโอนเงินของตู้เติมเงินซึ่งกำลังอยู่ระหว่างพัฒนา เช่นเดียวกับกลุ่มการปล่อยสินเชื่อและสินค้าฝากขาย เช่น รถมอเตอร์ไซค์ที่กำลังคุยกับดีลเลอร์เพื่อขยายไปยังภาคใต้ จากปัจจุบันมี 9 สาขากระจุกตัวในอีสาน ขณะเดียวกันกำลังศึกษาโอกาสการขายรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าอีกด้วย

นอกจากนี้ยังอาศัยจุดแข็งด้านการเข้าถึงตลาดต่างจังหวัดจับมือพันธมิตรเพื่อรับฝากขายสินค้าอย่างต่อเนื่อง อาทิ เครื่องออกกำลังของทีวี ไดเร็ค เพื่อขยายฐานลูกค้า

“จากนี้ยังต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่องทั้งด้านโครงสร้างธุรกิจที่ยังขยายตัวด้วยพนักงานขายกว่า 20,000 คนและกลยุทธ์ การตลาดเพื่อรับมือกับความท้าทายหลายด้าน อาทิ การปล่อยสินเชื่อช้าลง และความไม่แน่นอนของสภาพเศรษฐกิจ”

เป็นการพลิกทุกสูตรการตลาดเพื่อเร่งเร้ากำลังซื้อให้กลับมาโดยเร็ว