ถอดโมเดลธุรกิจ “เมดพาร์ค” Trend Setter โรงพยาบาลไทย

จับกระแสตลาด

ต้องยอมรับว่า health business โดยเฉพาะโรงพยาบาลในกลุ่ม 5 ดาวของไทย ได้รับการยอมรับไม่แพ้ใคร ๆ

จากจำนวนผู้ป่วยทั่วสารทิศที่เดินทางมารักษาในบ้านเรา

จริงอยู่ในช่วงโควิด-19 คนไข้ต่างชาติอาจลดจำนวนไปบ้าง แต่เชื่อว่าถ้าการเดินทางกลับคืนสู่ภาวะปกติ ธุรกิจที่ว่าจะหวนกลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง

หลังจากบริษัท ทีพีพี เฮลท์แคร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ร่วมกับบริษัท โรงพยาบาลมหาชัย จำกัด (มหาชน) ได้สร้างปรากฏการณ์เปิดตัวโรงพยาบาลใหญ่แห่งใหม่ย่านธุรกิจใจกลางกรุง ติดถนนพระราม 4 ในชื่อ “เมดพาร์ค” เมื่อเดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมโรงพยาบาลนี้อีกครั้ง

จะว่าไปแล้ว “เมดพาร์ค” เรียกเสียงฮือฮาตั้งแต่ก่อนเปิดตัวให้บริการด้วยซ้ำ

ด้วยโมเดลธุรกิจที่ตอบโจทย์ทุก ๆ ฝ่าย ทั้งคนไข้ที่ต้องการหมอเก่ง ๆ เครื่องไม้เครื่องมือ ตลอดจนสถานที่ทันสมัย ออกแบบการรักษาโดยมีผู้ป่วยและหมอเป็นศูนย์กลาง

“…ความคิดทำโรงพยาบาลแบบรวมศูนย์ รวบรวมหมอทุกแขนงมารวมกันเพื่อให้ประสิทธิภาพการรักษาดีขึ้น มาจากการที่เราเห็นว่างบฯสาธารณสุขรวมถึงสัดส่วนหมอต่อประชากรบ้านเรามีอย่างจำกัด บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยหนัก ๆ ไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เราเป็นเอกชนไม่สามารถทำหน้าที่แทนรัฐในเรื่องความทั่วถึง แต่สามารถทำสิ่งที่ดี ๆ ขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือในเรื่องนี้ได้”

นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีพี เฮลท์แคร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และกรรมการผู้จัดการโรงพยาบาลเมดพาร์ค (Med Park) อธิบายถึงที่มาของการลงทุนนับพัน ๆ ล้านที่เกิดขึ้น

จากประสบการณ์เป็นทั้งผู้ก่อตั้ง รพ.มหาชัย และบทบาทนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนไทย มองทะลุถึง pain point ระบบสาธารณสุขบ้านเรา เป็นที่มาของ “เมดพาร์ค” ซึ่งเน้นการรักษา “โรคยาก” และ “ซับซ้อน” แต่การจะทำให้เมดพาร์คตอบโจทย์ทั้งการรักษาและการลงทุน นพ.พงษ์พัฒน์ชี้ว่า ต้องประกอบไปด้วยหลาย ๆ สิ่ง

…สิ่งแรกคือ โลเกชั่นต้องดี ไปมาสะดวก เลือกถนนพระราม 4 เป็นที่ตั้ง รอบ ๆ เป็นที่อาศัยของกลุ่ม expat ที่มาทำงานในบ้านเรา

2.ต้องมีทีมแพทย์ที่เก่ง ปรึกษาพูดคุยกันได้ตลอดเวลา ของเราทั้งฟูลไทม์และพาร์ตไทม์มีถึง 75% ที่ผ่าน American board

3.เครื่องมือต้องพร้อม เมดพาร์คใช้เงินลงทุนเครื่องมือ 1,600 ล้าน

ก่อนจะซื้อเราให้หมอช่วยคิด อยากได้เครื่องมือแบบไหน อยากรู้ผลอะไรมาช่วยประกอบการรักษา โดยที่ต้องอ่านได้ผลเร็วด้วย อันนี้คือปรัชญาของเรา

สิ่งที่มีนอกจากโครงสร้างตึก อาคาร หมอ เครื่องมือ ยังต้องได้ใจ หมอที่นี่หลาย ๆ คนร่วมลงทุนกับเรา สร้างที่นี่เพื่อตัวเองและครอบครัว ป่วยก็ต้องรักษาตัวที่นี่

“โชคดีเราได้อาจารย์สิน อนุราษฎร์ อดีต ผอ.รพ.บำรุงราษฎร์ อยากสร้างโรงพยาบาลอย่างในแบบที่เราคิด และมีหมออีกจำนวนหนึ่งที่เห็นด้วยกับแนวทางนี้”

ภายใต้งบฯลงทุนเฟสแรก บนที่ดินเกือบ 7 ไร่ รวมพื้นที่กว่า 90,000 ตร.ม. แบ่งเป็นตัวอาคาร งานระบบ ตกแต่งภายในราว 4,000 ล้านบาท เครื่องมือแพทย์ 1,500-1,600 ล้านบาท และค่าเช่าที่ดินแบบจ่ายครั้งเดียว 1,000 ล้านบาท

ประกอบด้วยศูนย์รักษาโรคเฉพาะทางกว่า 30 ศูนย์ อาทิ คลินิกโรคไตแบบบูรณาการ ศูนย์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา เป็นต้น มีทั้งหมด 550 เตียง โดย 130 เตียง หรือประมาณ 30% จากทั้งหมดเป็นเตียงผู้ป่วยวิกฤต หรือ ICU ในขณะที่โรงพยาบาลอื่น ๆ จะมีสัดส่วนประมาณ 10%

ทุกอย่างที่ลงทุนเป็นสิ่งใหม่หมดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ออกแบบโดยแพทย์ที่ทำงานร่วมกับสถาปนิก

อะไรที่เป็น pain point เราพยายามตอบโจทย์ทั้งหมด

ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างอาคารที่ออกแบบให้เอื้อต่อการติดตั้งและขนส่งอุปกรณ์การแพทย์ขนาดใหญ่ และคำนึงถึงความปลอดภัยผู้ปฏิบัติงาน โดยเฉพาะแผนกที่มีรังสีอันตราย ไม่ให้มีจุดรั่วไหลของรังสีต่าง ๆ ออกไป

ระบบถ่ายเทอากาศภายในอาคาร ที่ควบคุมให้มีความดันบวก ป้องกันมลพิษ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 หลุดรอดเข้ามา

มั่นใจได้ว่าจะไม่มีปัญหาการติดเชื้อจากการมาโรงพยาบาลอย่างแน่นอน

แม้แต่ห้องพักหมอที่เราออกแบบให้อยู่บริเวณชั้น 10 โดยที่ห้อง ICU อยู่ชั้น 11-12 เพื่อที่หมอได้ใช้เวลาสั้นที่สุดเมื่อต้องถูกตามตัว

“เครื่องมือแต่ละชิ้นมีความทันสมัยและเทคโนโลยีการแพทย์ระดับโลก อาทิ เครื่องฉายแสงรังสีรักษามะเร็ง ราคา 170 ล้านบาท หรือเครื่องวิเคราะห์ผลเนื้อร้ายอ่านค่าได้ภายใน 20 นาที สามารถผ่าตัดเนื้อร้ายได้ทันที ต่างจากที่อื่น ๆ ที่ต้องรอผลข้ามคืน”

แยกพื้นที่การตรวจรักษาเป็นสัดส่วน เพราะรู้ดีว่าโรครักษายากบางโรค ผู้ป่วยจะต้องการความเป็นส่วนตัว

รวมไปถึงความเชี่ยวชาญของแพทย์เฉพาะทางกว่า 360 คน มีทีมแพทย์ไอซียูประจำตลอด 24 ชั่วโมง โดยทั้งหมดต้องผ่านระบบการฝึกอบรมจนเชี่ยวชาญในแขนงนั้น ๆ

ขณะที่นางสมถวิล ปธานวนิช ที่ปรึกษาคณะจัดการโรงพยาบาลเมดพาร์คเสริมว่า ความพิเศษของเมดพาร์คคือให้ความสำคัญกับทุกรายละเอียด

ห้องตรวจที่ออกแบบโดยที่คนไข้รีแลกซ์สบาย ๆ บนโซฟา ห้องพักผู้ป่วยที่คำนึงถึงความสะดวกสบายและความปลอดภัย เรามีเครื่องล้างเตียงพักผู้ป่วยที่ฆ่าเชื้อได้ 100% ต่างจากที่อื่น ๆ ที่เปลี่ยนเพียงผ้าปู โดยที่ผ้าม่าน พื้น เคลือบสารแอนตี้แบคทีเรีย มีเมนูหมอนหนุนหัวให้เลือก 6 แบบ ทุกห้องมีวิวที่สวยงาม ได้รับแสงธรรมชาติ

ความพิเศษของที่นี่ คือ ห้องพักจำนวนหนึ่งที่ปรับเปลี่ยนจากห้องปกติให้เป็นห้อง ICU รองรับอาการวิกฤตได้โดยไม่ต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วย

ส่วนทิศทางการลงทุน เมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ กลุ่มคนไข้กลับมาใช้บริการเต็มรูปแบบอีกครั้ง เมดพาร์คจะสร้างส่วนของ ICU เพิ่มในชั้น 11 เชื่อมกับห้อง ICU เดิมในชั้น 12 เพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยในอนาคต ควบคู่กับการเตรียมพร้อมหากทางภาครัฐอนุญาตให้เอกชนฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนทั่วไปได้ ทาง รพ.เมดพาร์คมีตู้แช่ -80 องศา สำหรับการเก็บวัคซีนจากบริษัทต่าง ๆ ชั้นนำได้ทั้งหมด แต่ขณะนี้ยังใช้สำหรับการเก็บไข่และสเปิร์มไปก่อน

ในอนาคตเมดพาร์คตั้งเป้าไว้ว่า ด้วยศักยภาพและความพร้อมของเรา ทั้งความเชี่ยวชาญของแพทย์ เทคโนโลยี รวมไปถึงการบริหารงานที่มีผู้บริหารคร่ำหวอดในวงการสาธารณสุขไทย จะผลักดันให้เมดพาร์คกลายเป็นเบอร์ 1 ในภูมิภาคอาเซียน

“ที่ทำทั้งหมดนี้ไม่ได้มองไปที่ลูกค้าต่างชาติ หลัก ๆ แล้วอยากให้คนไทยเข้าถึงการรักษาระดับนี้ด้วยค่าบริการที่เข้าถึงได้ ในเรตที่ต่ำกว่ารายใหญ่ 10-15%”

ถามทิ้งท้ายว่า เมดพาร์คจะป็น trend setter ให้กับวงการนี้หรือไม่

คำตอบที่ได้ก็คือ…เราหวังว่าเมดพาร์คจะกลายเป็นโมเดลต้นแบบให้โรงพยาบาลอื่น ๆ และไม่กลัวว่าใครจะมาเลียนแบบ

เพื่อส่งเสริมสาธารณสุขไทยให้ไปไกลและทันสมัยมากกว่าเดิม