“กัญชา” ตลาดใหม่โตแรง ธุรกิจแห่ต่อยอด…เพิ่มรายได้

จับกระแสตลาด

ถึงวันนี้ ดูเหมือนว่าการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาทางการแพทย์และส่งเสริมให้กัญชาและกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของประเทศตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ภายใต้การดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่มีมาอย่างต่อเนื่องตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา จะได้รับการขานรับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะการเตรียมนำ “กัญชา-กัญชง” มาต่อยอดทางธุรกิจในหลากหลายรูปแบบ เนื่องจากเป็นที่รับรู้กันดีว่า ใบ ราก ก้าน สามารถใช้ในตำรับยาแผนไทย ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ส่วนเปลือก แกนลำต้น เส้นใย สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอได้ ขณะที่สารสกัดก็ใช้ในอุตสาหกรรมยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และเครื่องสำอาง ส่วนเมล็ดหรือน้ำมันจากเมล็ดกัญชง ใช้ในอาหารและเครื่องสำอาง

ไม่เพียงเฉพาะการปลดล็อกกัญชา กัญชง เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เท่านั้น สธ.ยังวางโรดแมปและเตรียมขยายผลไปยังผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่น ๆ เช่น อาหาร เครื่องสำอาง เวชสำอาง อาหารเสริม เป็นต้น

ธุรกิจดาหน้าลุยกัญชา-กัญชง

“มารุต ชุ่มขุนทด” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คลาสคอฟฟี่ จำกัด หรือเจ้าของร้านกาแฟคลาสคาเฟ่ ที่ปัจจุบันกระโดดเข้ามาในธุรกิจกัญชาแล้ว แสดงทรรศนะเรื่องนี้ว่า ตอนนี้กระแสของกัญชากำลังเป็นที่น่าสนใจของผู้บริโภค หากสังเกตจะเห็นว่า เริ่มมีหลาย ๆ ธุรกิจกระโดดเข้ามาในตลาดนี้ต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นโอกาสนำมาต่อยอดพัฒนาโปรดักต์ในอนาคต เช่นเดียวกับคลาสคาเฟ่ ที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี นำงานวิจัยทางกัญชาออกสู่สาธารณะ ด้วยการเปิดตัวแบรนด์ Khaoyai Calm เพื่อจำหน่ายเครื่องดื่มชา กาแฟ จากกัญชา ซึ่งกระบวนการอยู่ในการควบคุมของ อย. ทั้งแหล่งที่มาของวัตถุดิบ และการใช้งานต้องอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม จำหน่ายให้ลูกค้าอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และไม่เป็นสตรีมีครรภ์ ไม่มีปัญหาโรคตับและโรคไต และจากนี้เตรียมต่อยอดนำไปใช้ในส่วนของกลุ่มน้ำผลไม้และกาแฟพร้อมดื่ม

“ตัน ภาสกรนที” กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ระบุในเรื่องนี้ว่า มีแผนจะผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาตอบสนองพฤติกรรมและเทรนด์ใหม่ ๆ ของผู้บริโภค อาทิ การนำกัญชงมาต่อยอดในธุรกิจเครื่องดื่ม ซึ่งปัจจุบันได้มีการยื่นคำขอรับใบอนุญาตผลิต (ที่มิใช่การปลูก) เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะได้รับการอนุญาตในเร็ววันนี้ เพื่อที่ว่าเมื่อกฎหมายรองรับอย่างเป็นทางการ อิชิตันจะมีความพร้อมในทุกด้านในการเข้าทำตลาดเครื่องดื่ม CBD ทันที

ขณะที่ “ปิยจิต รักอริยพงศ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) กล่าวในเรื่องนี้ว่า อยู่ระหว่างการศึกษาการนำสารสกัดจากกัญชงเพื่อนำมาผสมในเครื่องดื่มและขนมขบเคี้ยว เพื่อสร้างสีสันใหม่ให้กับตลาดอาหารและเครื่องดื่ม
ตลาดใหม่-อนาคตสดใส

“ยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิปโก้ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา ทิปโก้ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ พัฒนาสายพันธุ์มาตั้งแต่ปี 2562 รวมทั้งได้ศึกษาความเป็นไปได้และคุณประโยชน์ต่าง ๆ ของผลิตภัณฑ์จากกัญชาและกัญชง ที่จะสามารถนำมาต่อยอดในธุรกิจที่ทิปโก้มีความเชี่ยวชาญ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ขณะนี้กำลังพัฒนาสูตรและผลิตภัณฑ์ เพื่อเตรียมขอใบอนุญาตและขึ้นทะเบียน อย. และคาดว่าพร้อมวางจำหน่ายในช่วงประมาณกลางปีนี้ และมีแผนจะนำไปวางจำหน่ายในช่องทางจัดจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ

เช่นเดียวกับ “สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ที่ระบุในเรื่องนี้ว่า บริษัท ไลฟ์สตาร์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ สนใจและมีการศึกษาเรื่องของงานวิจัยกัญชงไปแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมาได้เตรียมความพร้อม โดยร่วมมือกับสถาบันวิจัยชั้นนำศึกษาและคิดค้นสูตรเพื่อนำกัญชงมาพัฒนาและต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรม ทั้งในส่วนของสกินแคร์ เครื่องดื่ม และอาหารเสริม รวมถึงมีการพูดคุยกับพันธมิตรที่เป็นผู้ปลูกกัญชงเชิงพาณิชย์ โรงสกัด และผู้ผลิตไว้เรียบร้อยแล้ว

ค่ายใหญ่เล็งลุยครบวงจร

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการรายใหญ่หลายแห่งเริ่มมีความเคลื่อนไหวที่จะรุกธุรกิจกัญชา-กัญชง ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เริ่มจาก “วีรสิทธิ์ สินเจริญกุล” กรรมการบริหาร บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายยางธรรมชาติรายใหญ่ ที่แสดงความเห็นว่า กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจที่น่าสนใจและตลาดมีความต้องการ ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อจะปลูกกัญชงบนพื้นที่ 100-200 ไร่ ในภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่งมีสภาพภูมิอากาศเหมาะสมกับการปลูกกัญชง และมีการหารือผู้เชี่ยวชาญและนำเข้าเมล็ดพันธุ์จากต่างประเทศ หากได้รับการอนุญาต คาดว่าเริ่มลงมือปลูกได้ภายในกลางปี 2564

โดยช่วงแรกจะเป็นการลงทุนต้นน้ำด้วยการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวช่อดอกกับเมล็ดพันธุ์เพื่อจำหน่ายให้แก่โรงสกัดน้ำมันซีบีดี หากมีความต้องการสูง บริษัทพร้อมขยายพื้นที่ปลูกกัญชงเพิ่ม ส่วนระยะต่อไปสนใจจะลงทุนสร้างห้องแล็บและโรงงานสกัดน้ำมัน เพื่อขยายธุรกิจให้ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ (เพาะปลูก) และธุรกิจกลางน้ำ (สกัดน้ำมันซีบีดี)

ขณะที่ “บุรณิน รัตนสมบัติ” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเชีย) จำกัด ระบุว่า ปตท.ไม่ปิดกั้นการพิจารณาศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนในธุรกิจสุขภาพที่เกี่ยวกับกัญชา-กัญชง โดยอาจนำมาเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตยา หรือเป็นส่วนผสมของอาหารอนาคต (ฟิวเจอร์ฟู้ด) ซึ่งจำเป็นต้องศึกษาเชิงลึกในรายละเอียด อย่างไรก็ตาม ปตท.คงไม่ได้ทำเองทั้งหมด แต่อาจพิจารณาความร่วมมือกับพันธมิตร หากตั้งโรงงานก็ต้องลงทุนร่วมกับพันธมิตร

ก่อนหน้านี้ “รังสรรค์ พวงปราง” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG ผู้ให้บริการสถานีบริการน้ำมันพีที กล่าวว่า กลุ่ม PTG เจรจากับพันธมิตรที่ได้ยื่นขอใบอนุญาตปลูกกัญชา-กัญชงกับ อย. รวมถึงมีความร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชน โดยคาดว่าจะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกัญชงเพื่อจัดจำหน่ายภายในปลายไตรมาส 2/64 หรืออย่างช้าช่วงต้นไตรมาส 3/64 ผ่านช่องทางร้านค้าในเครือปั๊มน้ำมัน PT ไม่ว่าจะเป็นมินิมาร์ต MAX Mart ร้านกาแฟพันธุ์ไทย คอฟฟี่เวิลด์ เป็นต้น

หนุนธุรกิจเกี่ยวเนื่องคึกคัก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากการต่อยอดกัญชา-กัญชง ไปสู่ธุรกิจสินค้าเพื่อสุขภาพ เครื่องดื่ม อาหารแล้ว ล่าสุดยังมีความเคลื่อนไหวของธุรกิจแฟรนไชส์กัญชา-กัญชง เริ่มจากบริษัท โกลเด้น ไตร แองเกิล เฮลธ์ จำกัด หรือ GTH ภายใต้การดำเนินงานของจุลภาส (ทอม) เครือโสภณ ที่ร่วมกับพาร์ตเนอร์ อาทิ เดนทิสเต้ สมูทอี ดิวานา ศรีราชา พัฒนาผลิตภัณฑ์จากกัญชง อาทิ น้ำมันอโรมากัญชง ซอสพริกจากกัญชง สเปรย์ดับกลิ่นปากจากกัญชง เป็นต้น ซึ่งอยู่ระหว่างการขอขึ้นทะเบียนจาก อย. พร้อมกับเตรียมเปิดแฟรนไชส์ร้าน Hemp House ร้านจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์เกี่ยวกับกัญชงด้วย

ขณะที่บริษัท เค.ดับบลิว. เม็ททัล เวิร์ค จำกัด (มหาชน) จับมือกับบริษัท จีเอสพี ฟาร์มา จำกัด เพื่อผลิตเครื่องสกัดสารจากกัญชา-กัญชง และทำโครงการ “การสกัดสารสกัดจากพืชกัญชาและกัญชง” รองรับการเติบโตของตลาดในประเทศ โดยโรงงานนี้สามารถผลิตเครื่องสารสกัดได้ปีละมากกว่า 100 เครื่อง และในไตรมาส 3-4 มีแผนจะทำสารสกัดกัญชงสำหรับใช้ภายนอก อาทิ ยาหม่อง น้ำมันสกัดต่าง ๆ รวมอาหารเสริม หรือยาต่าง ๆ จากกัญชงออกมา

เช่นเดียวกับความเคลื่อนไหวของบริษัท ดีโอดี ไบโอเทค จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้รับซื้อกัญชงในโครงการรับสมัครผู้ปลูกกัญชงเชิงพาณิชย์ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่ระบุว่า นอกจากการเตรียมยื่นใบอนุญาตตั้งโรงงานสกัดสาร CBD แล้ว บริษัทยังเตรียมยื่นคำขอรับใบอนุญาตผลิต (ที่มิใช่การปลูก) ขอนำเข้า-ส่งออกเมล็ดพันธุ์ พร้อมทั้งเตรียมยื่นขอรับใบอนุญาตจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ และขอใบอนุญาตมีไว้ในครอบครองเมล็ดพันธุ์ด้วยเช่นเดียวกัน

นี่เป็นการตื่นตัวของบรรดาผู้ประกอบการเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ที่เริ่มมีความเคลื่อนไหวเพื่อรองรับโอกาสใหม่ “บลูโอเชียน” ที่เปิดกว้างของ “ธุรกิจกัญชา-กัญชง” ที่ยังไม่มีใครประเมินมูลค่าได้