ดีซี คอนซัลแทนส์ฯ เปิด 5 เหตุผลที่แบรนด์ควรใช้ “Clubhouse” สื่อสารการตลาด

ดีซี คอนซัลแทนส์ฯ เผย 5 เหตุผล ควรสื่อสารการตลาดผ่าน Clubhouse ชี้สร้างความสัมพันธ์-เข้าถึงลูกค้าได้อย่าง insight พร้อมสื่อสารภาพลักษณ์ที่ดีแก่แบรนด์ได้

ไม่นานมานี้ Clubhouse แอปพลิเคชั่นสนทนาด้วยเสียงกลายเป็นที่สนใจและโด่งดังในชั่วข้ามคืน หลังจากมีคนดัง อาทิ อีลอน มัสก์, มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก รวมไปถึงกลุ่มดารานักแสดง เข้าใช้แอปพลิเคชั่นดังกล่าวอย่างแพร่หลาย

อีกทั้งยังดึงกระแสความสนใจจากกลุ่มผู้ใช้ในหลายประเทศ ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ส่งผลให้ยอดผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานที่ปรึกษา บริษัท ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด กูรูด้านการประชาสัมพันธ์แถวหน้าของไทย กล่าวว่า ปัจจุบัน Clubhouse กลายเป็นเครื่องมือที่สามารถตอบโจทย์การสร้างแบรนด์และสื่อสารการตลาดได้ในยุคปัจจุบัน

ทั้งในแง่การสอดรับกับวิถีชีวิตนิวนอร์มอลที่คนยังต้องรักษาระยะห่าง และความสนใจของคนในสังคม รวมไปถึงการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง โดย 5 เหตุผลที่แบรนด์ควรใช้ Clubhouse มีดังนี้

1.ใช้สร้างความสัมพันธ์หรือสร้างชุมชนของตนเองได้ (Brand Connection and Community)

การจำกัดการเข้าใช้งานทำให้ Clubhouse มีคุณค่ามากขึ้น แบรนด์จึงสามารถสร้างชุมชนของตัวเองด้วยการตั้งหัวข้อสนทนาที่น่าสนใจและมีความเกี่ยวข้องกับแบรนด์ เช่น เรื่องสุขภาพ การออกกำลังกาย การพัฒนาตนเอง การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่

ผลลัพธ์ที่ได้คือ จะทำให้คนรู้สึกใกล้ชิดกับแบรนด์มากขึ้น และการใช้ Clubhouse ยังสามารถนำมาทดแทนการจัดงานสัมมนา การจัดการประชุม Symposium ระดับใหญ่ ที่มีห้องสัมมนาย่อยหลากหลายหัวข้อและผู้บรรยาย เปิดโอกาสให้ผู้สนใจเลือกเข้าฟังในหัวข้อที่ตนสนใจได้

ทั้งนี้ Clubhouse และการสัมมนามีบรรยากาศคล้ายกัน คือ เป็นการฟังสดแบบ Real Time และไม่สามารถฟังย้อนหลังได้

2. สร้างความชัดเจนให้กับแบรนด์ (Brand Positioning)

การใช้ Clubhouse เป็นโอกาสของแบรนด์ในการแสดงตัวตนและจุดยืนของแบรนด์ ไม่ว่าจะด้วยการตั้งประเด็นสนทนาในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ หรือแม้แต่การเข้าร่วมห้องสนทนาของผู้อื่น แล้วใช้โอกาสนั้นในการแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์และแสดงถึงตัวตนของแบรนด์ เป็นการสร้างความแข็งแรงและส่งเสริมแบรนด์ได้อีกทางหนึ่ง

โดยขณะนี้ มีผู้บริหารหลายองค์กรและนักสื่อสารการตลาดได้เข้ามาใช้ประโยชน์มากขึ้น แต่ประเด็นด้านการเมืองที่กำลังมาแรงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่นักการสื่อสารการตลาดพึงระมัดระวังและให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์ได้

3.ควบคุม Key Message ในการสื่อสารได้

ปัจจุบันมีสื่อและองค์กรหลายแห่งเริ่มนำ Clubhouse มาใช้ในการจัดกิจกรรม เช่น การแถลงข่าว งานเสวนา เพราะ moderator ของห้องสนทนาแต่ละห้องมีอำนาจในการกำหนดว่าผู้ฟังหรือผู้เข้าร่วมห้องสนทนาคนไหนสามารถพูดได้ สามารถปิดเสียงคนที่กำลังพูดอยู่ได้ จึงสามารถควบคุมสถานการณ์และทิศทางการสนทนาได้ง่ายกว่า

4. เป็นเครื่องมือในการฟังเสียงผู้บริโภคอย่างลึกซึ้ง (deep listening)

การสนทนาใน Clubhouse ต่างจากพอดแคสต์ตรงที่เป็นการสื่อสารสองทาง (two-way communication) ระหว่างผู้พูดกับผู้ฟังแบบเรียลไทม์ มีการถามตอบ แลกเปลี่ยนความเห็นกันได้ทันที

แบรนด์จึงสามารถสำรวจความคิดเห็นที่ผู้บริโภคมีต่อแบรนด์ได้โดยตรง ทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับผู้บริโภค หรือ consumer insight ที่นำไปใช้ในการปรับแผนหรือวางกลยุทธ์การตลาด รวมถึงสามารถเก็บเกี่ยวไอเดียจากการพูดคุยนำไปปรับใช้ในการทำ content marketing ได้อีกด้วย

5.เสียงทรงพลัง Audio is Power

เสียงจะกลายเป็นสิ่งที่ทรงพลังใน Clubhouse แบรนด์สามารถใช้เสียงเพื่อสร้างหรือส่งเสริมแบรนด์ได้ ดังนั้นจึงควรฝึกการพูดและการใช้เสียงให้มีพลังดึงดูดความสนใจและทำให้ผู้ฟังเห็นภาพได้ชัดเจน เป็นการสร้างมโนภาพ หรือ Theatre of the Mind ให้เกิดขึ้นในใจกลุ่มเป้าหมาย

อย่างไรก็ตาม ดร.ดนัย ระบุเพิ่มเติมว่า Clubhouse จะได้รับความนิยมไปอีกนานแค่ไหนยังไม่มีใครตอบได้ แต่ในยุคของวิถีชีวิตแบบใหม่และการเว้นระยะห่างทางสังคมในปัจจุบันนี้ แบรนด์ไม่ควรปล่อยโอกาสให้ผ่านเลยไป และควรนำข้อดีของช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ มาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการสื่อสารสร้างสัมพันธ์กับผู้บริโภคและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์