ไทยเบฟฯคืนสังเวียนเมียนมา ทุ่ม 2.4 หมื่นล้าน ซื้อเหล้า”แกรนด์รอยัลกรุ๊ป”

“ไทยเบฟ” ทุ่ม 2.4 หมื่นล้าน ซื้อกิจการโรงเหล้า “แกรนด์ รอยัลกรุ๊ป” เบอร์ 1 ในเมียนมา พร้อมบ.กระจายสินค้า คลุมค้าส่ง-ค้าปลีก 2.1 หมื่นแห่ง รุกสร้างรายได้ต่างประเทศตามแผนวิชั่น 2020 คืนสังเวียนน้ำเมาเมียนมารอบใหม่ หลังพ่ายผลตัดสินขายหุ้นเมียนมาเบียร์เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา

ไม่นานมานี้ “ไทยเบฟฯ” ประกาศเข้าซื้อกิจการของโรงเหล้าในเมียนมา โดยใช้เม็ดเงินสูงถึงกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท รายงานจาก บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด มหาชน ระบุถึงการเข้าไปถือหุ้น 75% ใน 2 บริษัท คือ “เมียนมา ดิสทิลเลอรี” และ “เมียนมา ซัพพลายเชน แอนด์ มาร์เก็ตติ้งเซอร์วิส” เป็นที่รู้จักในนามของ “แกรนด์ รอยัล กรุ๊ป” เจ้าของเหล้าแบรนด์ “แกรนด์ รอยัล” ผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดในตลาดเหล้าเมียนมา ซึ่งมีมาร์เก็ตแชร์กว่า 60% จากตลาดมูลค่ากว่า 12 ล้านลัง

กลุ่มดังกล่าว มีโรงเหล้าจำนวน 2 แห่ง ตั้งอยู่ที่ย่างกุ้ง และมัณฑะเลย์ มีเน็ตเวิร์กในการกระจายสินค้าและการจัดจำหน่ายที่แข็งแกร่ง ทั้งในร้านค้าส่งกว่า 1.3 พันแห่ง ร้านค้าปลีกอีกกว่า 2 หมื่นแห่ง ซึ่งไทยเบฟฯระบุเอาไว้ว่า “แกรนด์ รอยัล กรุ๊ป” จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้กับกลุ่มไทยเบฟฯที่จะขยายกลุ่มธุรกิจสุราในเมียนมาในช่วงต่อจากนี้

สอดคล้องกับที่ นายประภากร ทองเทพไพโรจน์ กรรมการผู้อำนวยการ กลุ่มธุรกิจสุรา บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้ระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่า ไทยเบฟฯมีแผนที่จะนำทั้งตัวเหล้าสี “เบลนด์ 285” เหล้าขาว “รวงข้าว” และวิสกี้ “โอลด์ พุลทนีย์” เข้าไปเจาะตลาดเมียนมา เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ในปีหน้า ตลอดจนมีแผนที่จะลงทุนโรงงานผลิตสุราเพิ่มในต่างประเทศในเมียนมา และเวียดนาม

เห็นภาพชัดเจนว่า “ไทยเบฟฯ” จะเข้าไปสยายปีกอาณาจักรแอลกอฮอล์ในเมียนมาต่อไปอย่างไร และถือเป็นความพยายามของไทยเบฟฯที่ต้องการเข้าไปบุกตลาดน้ำเมาในเมียนมาอีกครั้ง หลังจากเมื่อ 2 ปี

ที่ผ่านมา “เฟรเซอร์แอนด์นีฟ” (F&N) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ถูกตัดสินให้ขายหุ้นทั้งหมด 55% ใน “เมียนมาร์ บริวเวอรี่ ลิมิเต็ด” เจ้าของเมียนมา เบียร์ และอันดามัน โกลด์ ซึ่งมีมาร์เก็ตแชร์ในตลาดเบียร์รวมกันกว่า 83% ให้กับ “เมียนมา อีโคโนมิกส์ โฮลดิ้ง ลิมิเต็ด” รัฐวิสาหกิจในเมียนมาเป็นเงิน 560 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 7.3 พันล้านบาทในขณะนั้น) เนื่องจากการเข้าซื้อกิจการของ F&N ของไทยเบฟฯเมื่อปี 2556 ทำให้ไทยเบฟฯได้หุ้นในเมียนมา บริวเวอรี่ มาด้วย ซึ่งถือว่าผิดสัญญาการขายหุ้นของเมียนมา บริวเวอรี่ ซึ่งต้องขายให้กับผู้ถือหุ้นฝ่ายเมียนมาก่อน

ปิดฉากความสัมพันธ์ที่ยาวนานกว่า 17 ปี และทำให้ไทยเบฟฯต้องอำลา “โอกาสทอง” ที่จะเข้าไปขยายฐานธุรกิจแอลกอฮอล์ในเมียนมา ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมหาศาล เพราะเมียนมาเพิ่งเปิดประเทศ และอัตราส่วนการบริโภคต่อหัวก็ยังน้อย เมื่อเทียบกับในเวียดนาม ถือว่ายังสามารถขยายตัวได้อีกมาก

การเข้าเทกโอเวอร์กิจการของ “เมียนมา ดิสทิลเลอรี” ในครั้งนี้ นอกจากจะสานต่อเป้าหมายของไทยเบฟฯที่ต้องการขยายธุรกิจในต่างประเทศ โดยเฉพาะอาเซียน ให้มีสัดส่วนของรายได้เป็น 50% ภายในปี 2563 แล้ว ยังเป็นการกอบกู้ศักดิ์ศรี หลังจากที่ต้องพ่ายผลตัดสินในครั้งนั้นอีกด้วย

เพราะแม้ว่าจะไม่ได้เป็นเจ้าของเมียนมาเบียร์ เบียร์อันดับ 1 ของที่นั่น แต่ดีลนี้จะช่วยให้ “ไทยเบฟฯ” มีช่องทางกระจายสินค้าของตัวเองเพื่อดัน”เบียร์ช้าง” ให้ติดตลาดก็คงไม่เหนือบ่ากว่าแรงนัก ซึ่ง นายเอ็ดมอนด์ นีโอ คิมซูน กรรมการผู้อำนวยการ กลุ่มธุรกิจเบียร์ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้ระบุถึงเป้าหมายของกลุ่มธุรกิจเบียร์ในช่วง 3 ปีต่อจากนี้ว่า นอกจากจะต้องขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในไทยแล้ว ตลาดในอาเซียน ก็ต้องเป็นเบอร์ 1 ด้วยเช่นกัน โดยคีย์ มาร์เก็ต ที่จะให้ความสำคัญก็คือ เมียนมา เวียดนาม และกัมพูชา