ศุภลักษณ์ อัมพุช “ต้องสร้างวัคซีนเศรษฐกิจ ฟื้นประเทศ”

“ค้าปลีก” เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ และ social distancing ทำให้ค้าปลีกบางเซ็กเมนต์ เช่น ศูนย์การค้า, ห้างสรรพสินค้าต้องปิดตัวชั่วคราว ขณะที่การเข้ามาของเทคโนโลยีตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คืออีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่เข้ามาดิสรัปต์ธุรกิจรีเทลให้เปลี่ยนไปอย่างถาวร ทำให้หลายผู้ประกอบการต่างเร่งจัดทัพ-ปรับตัว รับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

“ศุภลักษณ์ อัมพุช” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป ผู้คร่ำหวอดในอุตสาหกรรมค้าปลีก (retail industry) เมืองไทยมากว่า 40 ปี ได้กล่าวถึง การปรับตัวสู่ค้าปลีกยุคใหม่ ในงานสัมมนา “วัคซีนเศรษฐกิจ วัคซีนประเทศไทย” ของหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” กับหัวข้อ “พลิกเกม พลิกอนาคต” ถึงการปรับตัวของธุรกิจค้าปลีกยุคใหม่ รวมถึงแนวทางการสร้างวัคซีนเศรษฐกิจเพื่อป้องกันประเทศให้เดินหน้าต่อไปหลังจากนี้

วิกฤตโควิด-วิกฤตเศรษฐกิจโลก

“ศุภลักษณ์” เริ่มต้นด้วยการฉายภาพผลกระทบของโควิด-19 ที่ระบาดไปทั่วโลก โดยเปรียบเสมือนว่า เป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 ที่ส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจโลก (global economic outlook) ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก โดยอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกให้มีความไม่แน่นอนไปอีก 3 ปีข้างหน้า และอาจลากยาวไปอีก 7-10 ปี และคาดว่าน่าจะต้องใช้เวลานานในการฟื้นฟูภาพรวมทั่วโลก

การระบาดของโควิด-19 ทำให้กลุ่มธุรกิจทั่วโลก โดยเฉพาะรีเทลโดนดิสรัปต์อย่างหนัก หลังจากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากปัจจัยแวดล้อมทั้งเรื่องของเทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภค มาอย่างต่อเนื่อง โดยปีที่ผ่านมามีรีเทลทั่วโลกปิดตัวจากสถานการณ์ดังกล่าวประมาณ 14,000 สาขา

สำหรับ ประเทศไทย เอง ตอนนี้อัตราการว่างงานสูงสุดในรอบ 10 ปี หากการกระจายการฉีควัคซีนไม่ทั่วถึงหรือไม่มีมาตรการเยียวยาในช่วง 6 เดือนนับจากนี้ อัตราการว่างงานก็จะพุ่งสูงขึ้น ภาพรวมเศรษฐกิจประเทศก็ยากที่จะเดินหน้าได้ เนื่องจากนอกเหนือจากปัญหาโควิด-19 แล้ว ปัจจุบันไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงถึง 80.1% ในรอบ 4 ปี ขณะที่การส่งออก ภาคการท่องเที่ยว ในไตรมาส 2/63 ก็ติดลบ 70.4% และจีดีพีติดลบ 7-10%

ส่วนปีนี้คาดว่าจีดีพีจะติดลบ 6.8% ขณะที่ ฟิลิปปินส์ ติดลบ 7.6% เป็นสองประเทศในอาเซียนที่ประสบปัญหาอย่างหนักในเรื่องเศรษฐกิจ

สำหรับ เดอะมอลล์ เอง หลังการระบาดครั้งแรก สาขา ของเดอะมอลล์ ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด ยังคงสามารถบริหารจัดการภายในได้ดีอยู่ แต่จากการะบาดระลอก 2 พบว่าหลายสาขาได้รับผลกระทบ โดยเดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกที่เอ็มโพเรียมขาดทุน ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนตั้งแต่เปิดบริษัทมา

“เอ็มโพเรียมอยู่บนถนนสุขุมวิท ซึ่งเป็นย่านที่มีกำลังซื้อสูงของประเทศ ยังขาดทุน ย่อมสะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี เพราะตลาดบนยังลดการจับจ่ายแล้ว ตลาดแมสยิ่งน่าเป็นห่วง”

เดินหน้า Globalization

แม่ทัพใหญ่ เดอะมอลล์ ขยายความต่อว่า หลังจากปีที่ผ่านมาไทยได้รับผลกระทบหนักจาก 4 วิกฤตใหญ่ ได้แก่ การดิสรัปต์ของเทคโนโลยี, การระบาดของโควิด-19, เศรษฐกิจที่ชะลอตัว และปัญหาทางการเมือง ทำให้ต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบาก และการต่อสู้ทางเศรษฐกิจกับเวียดนามก็ยากลำบากขึ้น แต่หลังจากนี้ประเทศไทยจะต้องทำอะไรต่อไป นั่นคือสิ่งที่ต้องคิด

โจทย์ใหญ่ของรีเทลรวมถึงผู้ประกอบการนับจากนี้คือ จะทำอย่างไรถึงจะสามารถตอบโจทย์การก้าวสู่ยุคใหม่ “digital era” หรือยุคของ globalization ที่ต้องหาความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุค new normal, globalization และ tourism มาเป็นคอร์หลักในการดำเนินธุรกิจ และต้อง พลิกวิกฤต เป็นโอกาส ให้ได้ ในภาวะดังกล่าว

การสร้าง “วัคซีนเศรษฐกิจ” ของประเทศนับจากนี้ ต้องเริ่มจากรู้ว่ารากฐานสำคัญ (fundamental) ของประเทศไทยคืออะไร จากอดีตที่พึ่งพาส่งออกเป็นหลัก และหลังจากนี้อาจจะต้องไปพึ่งพิงภาคธุรกิจอื่นแทน โดยได้ยื่นข้อเสนอหลักที่ต้องการให้ภาครัฐเร่งผลักดัน เพื่อสร้างวัคซีนเศรษฐกิจให้ประเทศไทยเติบโตได้

ยื่น 10 ข้อเสนอดัน ศก.ไทยฟื้น

สำหรับ 10 ข้อเสนอต่อภาครัฐในการเร่งผลักดันภาพรวมเศรษฐกิจประเทศให้ฟื้นกลับมา เพื่อสร้างวัคซีนเศรษฐกิจให้ประเทศไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืนหลังจากนี้ ได้แก่ 1.การปั้นไทยสู่การเป็นศูนย์กลางสวรรค์ของการช็อปปิ้งระดับโลก (World Class Shopping Paradise) เพื่อให้ประเทศไทยกลายเป็น World-Class Shopping Tourist Destination โดยเฉพราะกรุงเทพมหานคร ที่เป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวมากที่สุดในโลก 4 ปีซ้อน

นอกจากนี้ การสร้างย่านการค้าที่สำคัญของประเทศ (7 Shopping Districs) โดยทำให้กรุงเทพมหานครเป็น World Class Shopping Paradise ที่มีศูนย์การค้าที่โดดเด่น อาทิ ราชประสงค์ เพลินจิต ปทุมวัน ประตูน้ำ ฯลฯ สำหรับค้าส่งและค้าปลีก เพื่อสร้างรายได้ผลกำไรควบคู่กับการดึงนักลงทุนใหม่เข้าประเทศ สู่การเป็น revenue market หลังการระบาดผ่านพ้นไป

แต่การจะปั้นไทยให้กลายเป็นสวรรค์ของการช็อปปิ้งอันดับแรกต้องมีการสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน ลบจุดด้อยของสินค้าแฟชั่นในไทย โดยเฉพาะเรื่องของอัตราภาษี (VAT) ที่ยังสูงอยู่ เมื่อเทียบกับเมืองช็อปปิ้งในหลายประเทศ จึงยังอยากให้ภาครัฐปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เหลือ 5% ในช่วง 2 ปีนับจากนี้ เพื่อช่วยกระะตุ้นการจับจ่ายหลังโควิด-19 หลังจากที่ผ่านมาการเข้ามาของนักท่องเที่ยวในไทยไมได้สร้างรายได้ให้แก่ธุรกิจและประเทศมากนัก เนื่องจากสินค้ามีราคาแพง ทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเพียงใช้ทรัพยากรในประเทศให้สูญเปล่าโดยที่ไม่มีการช็อปปิ้ง

“นอกจากเรื่องของภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ยังมีเรื่องของภาษีสินค้าแฟชั่น-เครื่องสำอาง ที่ปัจจุบันอยู่ราว 37% เหลือ 15% เพื่อช่วยเหลือเรื่องราคา ลดต้นทุน ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาซื้อสินค้า ในการสร้างวัคซีนทางการแข่งขันให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันกับต่างประเทศ หลังภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวหลังโควิด ซึ่งเฉพาะธุรกิจรีเทลและการท่องเที่ยวคิดเป็นจีดีพี 20% ของประเทศ จึงมองว่าเรื่องนี้คือสิ่งที่ต้องพัฒนาจริงจังหลังจากการระบาดของโควิดผ่านพ้นไป เพราะภาคเกษตร ส่งออกที่หดตัว ทำให้ต้องหันมาพึ่งพาสิ่งที่ทำให้เกิดรายได้เข้าประเทศให้เกิดกำไร”

ตามมาด้วยการดึงจุดเด่นด้านอาหาร ในการ 2.การปั้นไทยสู่การเป็นศูนย์รวมอาหารของโลก ด้วยความอร่อยและชื่อเสียงของอาหารไทย มาเป็นแม่เหล็กสำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้เข้ามา 3.ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางความบันเทิงในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ หรือการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว และแหล่งบันเทิงที่มีคุณภาพ ตลอดจนภาพลักษณ์ที่ดี

4.จัดให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการประชุมสัมมนา และจัดแสดงสินค้าระดับโลกในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ 5.ผลักดันสู่การเป็นศูนย์กลางศิลปวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชีย 6.การสร้างไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการจัดเทศกาลความสุขระดับโลก “Thailand Sanook Festival” 7.นำจุดเด่นเรื่องของทะเลกับการผลักดันอ่าวไทยสู่การเป็นเสมือนริเวียร่าแห่งโลกตะวันออก และเส้นทางเดินเรือสำราญที่สำคัญของเอเชีย

8.ปั้นไทยสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์ สุขภาพ ความงาม และสปา ในภูมิภาคเอเชีย 9.ส่งเสริมและพัฒนาต่อยอดผู้ประกอบการเอสเอ็มอี, สตาร์ตอัพ เชื่อมโยงธุรกิจทั้งออนไลน์และออฟไลน์ และ 10.ผลักดันไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ด้านธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่มาแรงในช่วงปีที่ผ่าน ส่งผลให้แพลตฟอร์มต่าง ๆ มีรายได้เติบโตแบบก้าวกระโดด เนื่องจากมีข้อได้เปรียบที่ไม่ต้องเสียภาษี ทำให้สามารถกำหนดราคาได้ต่ำกว่าค้าปลีกทั่วไปได้ ทำให้การแข่งขันด้านราคาที่ช่องทางอีคอมเมิร์ซมีความได้เปรียบกว่า จะส่งผลกระทบต่อผู้ค้ารายย่อย เอสเอ็มอีไทยเป็นอย่างมาก และเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการร้านค้าทั่วไปที่มีการจ่ายภาษี จึงอยากให้ภาครัฐเร่งพิจารณาทบทวนการจัดเก็บภาษีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เพื่อสร้างความเท่าเทียมทางการแข่งขัน

ย้ำวัคซีน ทางรอดเศรษฐกิจ

ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป ยังย้ำในตอนท้ายว่า การเข้ามาของวัคซีนและเริ่มทยอยฉีดให้กลุ่มเสี่ยงและประชาชนจำนวนหนึ่งไปแล้ว จะส่งผลดีต่อการฟื้นเศรษฐกิจและภาพรวมอารมณ์การจับจ่ายในประเทศ แต่จะทำอย่างไรให้วัคซีนที่เข้ามามีหลายแบรนด์ เพื่อสร้างโอกาสและทางเลือกให้ประชาชนในการเข้าถึงวัคซีนมากกว่านี้ หากยิ่งทางเลือกวัคซีนมีมากเท่าไร การระบาดของโควิดในไทยก็จบเร็วยิ่งขึ้นเท่านั้น หากฉีดได้ 50% ของประชากรในเร็ววัน ภาพรวมเศรษฐกิจก็จะฟื้นเร็วขึ้นเท่านั้น

จากนี้ไปภาครัฐควรจัดเตรียมและวางโรดแมปเรื่อง “วัคซีนพาสปอร์ต” เพื่อดึงภาคการท่องเที่ยวให้เข้ามา หากหลายประเทศที่มีการฉีดวัคซีนครบแล้วอยากเข้ามาเที่ยวไทย แต่ประชากรไทยยังฉีดวัคซีนไม่ครบทุกคน ตรงนี้จะมีแผนอะไรรองรับ หรือมีมาตรการอะไรในการรองรับนักท่องที่ยวที่จะเข้ามา ทั้งช่องทางคมนาคม ระบบรองรับ และการเดินทาง เช่น ในดูไบ ฯลฯ ที่มีการนำเข้าวัคซีนหลากหลายบริษัทที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกให้ประชาชนได้มีทางเลือกมากขึ้น

หากเปิดโอกาสแบบนี้แล้วเชื่อว่าการระบาดของโควิดในไทยจะจบได้ในเดือนตุลาคมนี้