“ทิมฮอร์ตันส์” เร่งสปีดสาขา เด้งรับดีมานด์ร้านกาแฟพุ่ง

พิษโควิด-19 ไม่สะเทือน ธุรกิจร้านกาแฟ 3.6 หมื่นล้านสดใส ดีมานด์ตลาดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง “ทิม ฮอร์ตันส์” แบรนด์ดังจากแคนาดา เปิดเกมรุก เน้นคุมมาตรฐานรสชาติกาแฟ-เบเกอรี่ เตรียมออฟเฟอร์กาแฟจากต่างประเทศ เพิ่มทางเลือกใหม่ ก่อนเดินหน้าขยายสาขาสารพัดโมเดล ปูพรมทั่วกรุงเทพฯ พร้อมลุยดีลิเวอรี่ สร้างแวลูใหม่

หลังจากที่บริษัทได้รับสิทธิ์ exclusive franchise หลังจากบรรลุข้อตกลงกับบริษัทแม่ Restaurant Brands In-ternational (RBI) เจ้าของแบรนด์ร้านกาแฟ “ทิม ฮอร์ตันส์” จากประเทศแคนาดา ที่มีสาขา 4,850 แห่งทั่วโลก และได้เปิดสาขาแห่งแรกในประเทศไทย เมื่อช่วงเดือนมกราคม 2563 ที่สามย่าน มิตรทาวน์ โดยเมนูยอดนิยมเป็นกาแฟพรีเมี่ยมอราบิก้า 100% ที่ผ่านการคัดเมล็ดพันธุ์จากประเทศกัวเตมาลา ฮอนดูรัส โคลอมเบีย และบราซิล มาคั่วและบดตามสูตรลับของทิม ฮอร์ตันส์ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ต่อแถวยาวเพื่อรอเข้าไปใช้บริการ และมีการถ่ายรูปแชร์ต่อผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ถือว่าได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม

นายสุพัชร วัธนเวคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วีอีท จำกัด ผู้บริหารร้านกาแฟ “ทิม ฮอร์ตันส์” ในประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันตลาดร้านกาแฟในเมืองไทยยังเป็นตลาดที่มีศักยภาพและโอกาสการเติบโตที่ดี โดยที่ผ่านมา ข้อมูลจากยูโรมอนิเตอร์ระบุว่า ร้านกาแฟในไทยมีการขยายตัวขึ้นถึง 22% โดยเฉพาะในช่วงปี 2559-2561 โดยมีมูลค่าตลาดรวมสูงถึง 36,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันก็เป็นตลาดมีการแข่งขันสูง เนื่องจากความหลากหลายของเซ็กเมนต์กาแฟมีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับโอกาสการเติบโต บริษัทได้เดินหน้าลงทุนขยายร้านเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีสาขากว่า 10 แห่ง ร้านส่วนใหญ่อยู่ในทำเลของศูนย์การค้าที่มีทราฟฟิกหนาแน่น อาทิ เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน, เพลินจิต เซ็นเตอร์, ซีคอน ศรีนครินทร์ และซีคอน บางแค เป็นต้น

จากนี้ไปในระยะยาว ทิม ฮอร์ตันส์ ยังมีเป้าหมายโดยต้องการขยายสาขาเพื่อสื่อสารแบรนด์ให้เข้าถึงลูกค้าเป้าหมายให้ได้รู้จักแบรนด์ในวงกว้างมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในส่วนของแผนการขยายสาขานั้น จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น บริษัทจะมีความระมัดระวังมากขึ้น โดยจะมีการศึกษาและพิจารณาศักยภาพของทำเลต่าง ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะในศูนย์การค้าที่ปัจจุบันมีความที่ท้าทายมากขึ้น จากผลกระทบของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้แง่ของทราฟฟิก เป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ยาก บวกกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ดังนั้น จากนี้ไปสาขาที่จะเปิดใหม่อาจจะเป็นสโตร์ที่เล็กลง และจะต้องมีการพิจารณาในรายละเอียดให้มากขึ้น และโดยหลัก ๆ จะเน้นการเปิดในกรุงเทพฯก่อน ยังไม่มีแผนจะขยายสาขาเพิ่มในต่างจังหวัด

ขณะเดียวกัน บริษัทก็จะเน้นในเรื่องของคุณภาพและมาตรการและการให้บริการ โดยจะมีการเทรนนิ่งพนักงานให้สามารถผลิตโปรดักต์ออกมาให้ได้มาตรฐานตรงกันทุกสาขา โดยเฉพาะเครื่องดื่มกาแฟที่เป็นจุดขาย เน้นควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน โดยมีระบบซัพพลายเชนส่งเมล็ดกาแฟจากประเทศที่ได้มาตรฐาน และจากนี้หลังจากเน็ตเวิร์กในไทยใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จะเริ่มมีการนำเสนอกาแฟใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มให้ลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น ด้านเบเกอรี่ หรืออาหาร มีแผนจะพัฒนาหาซัพพลายเออร์เข้ามาช่วยพัฒนาโปรดักต์ให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมากขึ้น

“หัวใจหลัก คือ การเน้นการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้าทั้งในแง่ช่องทางขาย โปรดักต์ และการบริการ โดยเฉพาะในยุคโควิดที่ต้องเน้นและให้ความสำคัญเรื่องความสะอาด ต้องให้ลูกค้ารู้สึกปลอดภัย บวกกับมาตรฐานต่าง ๆ ภายในร้านที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด ซึ่งจริง ๆ แล้วคนไทยกับคนแคนาดาดื่มกาแฟไม่ได้ต่างกัน แต่ในแง่ของอาหารและเบเกอรี่ มีความแตกต่างอย่างชัดเจน ดังนั้นจึงต้องนำโนว์ฮาวจากต่างประเทศมาปรับใช้ ทั้งเรื่องโอเปอเรชั่น แมเนจเมนต์ ซัพพลายเชน ซิสเต็มต่าง ๆ ที่นำมาใช้ เพื่อให้สามารถพัฒนาและปรับใช้กับตลาดที่แตกต่างกัน”

นายสุพัชรกล่าวถึงผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นว่า ถือเป็นเรื่องที่อยู่เหนือการควบคุม ประกอบกับทิม ฮอร์ตันส์ เป็นแบรนด์ใหม่ที่เพิ่งกระโดดเข้ามาในตลาด และเป็นธุรกิจที่เป็นเชนเน็ตเวิร์ก ทำให้ต้องมีการปรับระบบโอเปอเรเตอร์หลาย ๆ อย่าง เพื่อรองรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงการเซตอัพระบบดีลิเวอรี่ร่วมกับแพลตฟอร์มฟู้ดแพนด้า แกร็บฟู้ด ที่เข้ามาสนับสนุนการขายในออนไลน์ ที่ผ่านมาบริษัทปรับตัวและแอ็กชั่นค่อนข้างเร็ว โดยเน้นการนำเสนอเมนูเครื่องดื่มกาแฟและเมนูเซตเบเกอรี่

โดยได้มีการพัฒนาแพ็กเกจจิ้งเพื่อแยกน้ำแข็ง และการใส่พลาสติกคลุมเครื่องดื่มร้อน เพื่อให้สินค้าถึงมือลูกค้าให้มาตรฐานที่สุด นอกจากการนำเสนอเมนูเครื่องดื่มกาแฟและเมนูเซตเบเกอรี่แล้ว ยังนำสินค้าเอ็กซ์คลูซีฟมาจัดรายการส่งเสริมการขาย ซึ่งแตกต่างจากหน้าร้าน พร้อมจัดโปรโมชั่นเพื่อสร้างแวลูให้กับลูกค้า

อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่านมาแม้ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสถานการณ์ทางการเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น แต่ดีมานด์ของผลิตภัณฑ์กลุ่มกาแฟยังมีอยู่และไม่ลดลง ดังนั้นความยากของผู้ประกอบการในธุรกิจกาแฟจะต้องเน้นการสร้างความแตกต่าง ทั้งในเรื่องของเมนู และรสชาติ ให้สอดรับกับความต้องการลูกค้า”

“จริง ๆ แล้วในแง่ของธุรกิจ ความต้องการของลูกค้าคนหนึ่งในแต่ละวันอาจแตกต่างกันไป จึงต้องมองว่าโปรดักต์ของผู้เล่นแต่ละค่ายจะสามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้หรือไม่ เช่น ในช่วงวีกเอนด์ ลูกค้าอยากจะไปใช้บริการในร้านที่สามารถนั่งได้นาน ๆ หรือถ้าระหว่างวันอาจจะอยากไปใช้บริการที่เป็นเชนร้านกาแฟทั่วไป ส่วนในเซ็กเมนต์ที่ทิม ฮอร์ตันส์ อยู่ คือเซ็กชั่นคาเฟ่ ที่สามารถนั่งได้ทั้งระยะสั้นและยาว โดยร้านในลักษณะนี้มีแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่อง”