“เอฟเอ็น” สลัดภาพเอาต์เลต ลุยแฟรนไชส์แตกไลน์ขายสินค้าเงินผ่อน

เปิดแผน “เอฟเอ็น เอ๊าท์เลท” ยกเครื่องแบรนด์ครั้งใหญ่ ชูดิจิทัลเทคโนโลยีสู่ค้าปลีกยุคใหม่ ปลุกยอดหลังโควิด-19 ลุุยสร้างแบรนดิ้งสินค้าในเครือผ่าน 3 แบรนด์เรือธง TEMP’ soft, KUMO และ PRIM สลัดภาพสินค้าเอาต์เลตลุยรีเทลทุกช่องทาง ต่อยอดธุรกิจ “รถทันใจ” สู่โมเดลแฟรนไชส์ ลุยธุรกิจพ่นฆ่าเชื้อ ประกาศส่งบริการเงินผ่อนตอบโจทย์กำลังซื้อซบคนไม่กล้าใช้เงินก้อน ก่อนเตรียมเสริมทัพ “ซูเปอร์มาร์เก็ต” แม็กเนตใหม่ดูดลูกค้า

นายเบญจ์เยี่ยม ส่งวัฒนา ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด บริษัท เอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท จำกัด (มหาชน) หรือ FN Outlet เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้บริษัทเร่งปรับตัวสู่ความเป็นรีเทลอีคอมเมิร์ซมากขึ้นตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ด้วยการเปิดตัวโมเดล “ไดรฟ์ทรู” ขึ้นมาให้ลูกค้าสามารถสั่งสินค้าผ่านช่องทางไลน์และขับเข้ามารับในจุดรับสินค้าภายในศูนย์ และจ่ายเงินในรูปแบบดิจิทัล และได้รับการตอบรับที่น่าพอใจ

รวมถึงมีการไลฟ์สดจำหน่ายสินค้าจากแต่ละศูนย์เฉลี่ย 10-20 ครั้งต่อวัน เพื่อรองรับความต้องการและรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งการเพิ่มช่องทางจำหน่ายในรูปแบบเทเลคอล

ช่วงโควิดยอดขายหายไป 60-70% จึงต้องปรับตัวมาที่ดิจิทัลมากขึ้น แต่บริษัทโชคดีที่ลูกค้า 80% เป็นลูกค้าในประเทศ ทำให้กลุ่มลูกค้าไม่ได้หนีหายไปไหน เพียงแต่ไม่มีช่องทางในการซื้อสินค้า ไม่มีโอกาสเดินทางไปท่องเที่ยวและแวะศูนย์ของเอฟเอ็นในช่วงล็อกดาวน์ การเปิดตัวอีคอมเมิร์ซจึงช่วยตอบโจทย์ทั้งในส่วนยอดขายและความต้องการของลูกค้า

“จริง ๆ แล้ว บริษัทเริ่มทำออนไลน์มาตั้งแต่ 7 ปีที่ผ่านมา แต่ยังจับทิศทางได้ไม่ถูกมากนัก และเริ่มตั้งแผนกดิจิทัลขึ้นเมื่อปี 2560 และทำยอดขายได้ 3 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 30 ล้านบาท ในปี 2561 และมองว่าช่องทางดังกล่าวมีศักยภาพในการเติบโตสูง จึงได้จับมือกับพาร์ตเนอร์ ลาซาด้า และช้อปปี้ เปิดออฟฟิเชียลสโตร์ และปี 2562 ขยายเข้าไปในช่องทางออนไลน์ทุกแพลตฟอร์มอย่างเต็มตัว ทำให้ยอดขายสูงกว่า 70 ล้านบาท ซึ่งการระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 ทำให้บริษัทจับทิศทางการทำอีคอมเมิร์ซชัดเจนขึ้น มีไลน์ออฟฟิเชียลของบริษัท มีการไลฟ์สดจำหน่ายสินค้า และปิดยอดขาย 100 ล้านบาท และวางเป้าหมายระยะยาวของออนไลน์ 10% จากยอดขายรวม”

สลัดภาพสินค้าเอาต์เลต

สำหรับปีนี้ นอกจากจะโฟกัสการสานต่อแผนงานสู่ความเป็นอีคอมเมิร์ซอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัว FN Application เมื่อต้นปีที่ผ่านมา พร้อมกับการสื่อสารการตลาดผ่านช่องออนไลน์แล้ว ยังจะให้ความสำคัญกับการแบรนดิ้งแบรนด์สินค้าอื่น ๆ ของบริษัทมากขึ้น โดยจะโฟกัส 3 แบรนด์หลัก ได้แก่ แบรนด์หมอน TEMP’ soft, แบรนด์ของใช้สำหรับเด็ก KUMO ที่เริ่มจากสเปรย์แอลกอฮอล์สำหรับแม่และเด็ก และแบรนด์ผ้าปูที่นอน PRIM จากปัจจุบันที่มีอยู่ 15 แบรนด์ ทั้งสินค้าในชีวิตประจำวัน-แฟชั่น-เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ

ทั้งนี้ เพื่อให้หลุดออกจากภาพความเป็นแบรนด์สินค้าเอาต์เลต สู่ความเป็นสินค้ารีเทลที่มีวางจำหน่ายในทุกช่องทาง นอกจากนี้ยังจะหาพาร์ตเนอร์และดิสทริบิวเตอร์ในการในแต่ละช่องทางจำหน่าย เบื้องต้นมีการเจรจากับดิสทริบิวเตอร์ทั่วประเทศแล้วกว่า 1,000 ราย เพื่อกระจายสินค้าให้ครอบคลุมมากที่สุด ทั้งช่องทางรีเทล ช่องทางดิจิทัล หรือการเปิดโชว์รูมของแต่ละแบรนด์

“ที่ผ่านมาลูกค้าส่วนใหญ่รู้จักแต่เอฟเอ็น แต่ไม่รู้จักสินค้าแบรนด์อื่น ๆ ในเครือ ดังนั้น โจทย์ใหญ่จากนี้ไปคือการสร้างแบรนด์ดังกล่าวสู่ช่องทางรีเทลอื่น ๆ เพื่อสลัดภาพจำเดิมของลูกค้าที่มองเป็นสินค้าเอาต์เลต โดยแยกการทำตลาดตามโพซิชั่นของแต่ละแบรนด์ ทั้งงานแฟร์ การสื่อสารการตลาด โซเชียลแอดฯ ช่องทางจำหน่าย ด้วยการเลือกสื่อสารแต่ละแบรนด์ไปยังแต่ละกลุ่มเป้าหมายโดยตรง ผ่านทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์ มีทั้งสินค้าสำหรับเด็ก, ชุดเครื่องนอน, หมอน สินค้าแฟชั่น ฯลฯ”

แตกไลน์ธุรกิจใหม่รับเทรนด์

นอกจากนี้ บริษัทยังแตกไลน์ธุรกิจไปสู่ธุรกิจพ่นฆ่าเชื้อ ในชื่อ Virus Buster By Chrish เป็นการต่อยอดจากสินค้าเพื่อสุขอนามัยแบรนด์ Chrish ของบริษัท ที่รองรับลูกค้าองค์กรในช่วงที่โควิด-19 ระบาด และตลาดมีความต้องการทำความสะอาดฆ่าเชื้อสูง บริการผ่านจำนวนสาขาทั้ง 11 แห่ง ครอบคลุมในหัวเมืองท่องเที่ยวหลัก อาทิ พระนครศรีอยุธยา, นครราชสีมา, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, เพชรบุรี เป็นต้น นอกจากนี้ยังขยายโมเดลรถเคลื่อนที่ “รถทันใจ” ปัจจุบันมี 20 คัน และจะขยายไปสู่รูปแบบแฟรนไชส์ และคาดว่าจะเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมแฟรนไชส์ได้ในช่วงไตรมาส 3 นี้ พร้อมกันนี้ยังมองหาพาร์ตเนอร์ใหม่ ๆ ในการเติมแม็กเนตดึงดูดลูกค้าเข้ามาในศูนย์ โดยเฉพาะในกลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาและคาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้ ซึ่งโมเดลรถทันใจจะเป็นหนึ่งรูปแบบที่เข้ามาซัพพอร์ตดิสทริบิวเตอร์หน้าร้านในพื้นที่ต่าง ๆ ในการสร้างแบรนด์ ทำความรู้จักกับลูกค้าในแต่ละพื้นที่

“จากภาพรวมเศรษฐกิจกำลังซื้อที่ชะลอตัว ประชาชนไม่กล้าจับจ่ายเงินจำนวนมากหรือเงินก้อนมากนัก บริษัทจึงได้เตรียมเปิดตัวบริการรูปแบบใหม่ ผ่อนดาวน์สินค้าตามต้องการ หรือกลยุทธ์ ‘ไฟแนนซ์เชียลคอนวีเนี่ยน’ กล่าวคือให้ลูกค้าสามารถเลือกสินค้าที่ต้องการ (ไม่จำกัดจำนวนชิ้น) แล้วนำมาคำนวณราคารวมกัน ก่อนจะวางเงินดาวน์สินค้าตามความต้องการและเลือกผ่อนจนกว่าจะครบงวดที่กำหนด เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนที่ต้องการสินค้า แต่ไม่มีกำลังซื้อมากพอ หรือต้องการผ่อนจ่ายในสภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว เบื้องต้นขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อหาข้อสรุปในการจัดการสินเชื่อ คาดการณ์ว่าจะเริ่มให้บริการนี้ใช้ได้ในช่วงปลายไตรมาส 2 นี้”

นายเบญจ์เยี่ยมย้ำในตอนท้ายว่า อย่างไรก็ตาม ปีนี้บริษัทยังไม่ได้มองเป้าหมายทางการเติบโตมากนัก เนื่องจากมีแผนงานที่อยู่ในระหว่างการดำเนินงานอยู่หลายส่วน โดยปัจจุบันมีสินค้าวางจำหน่ายกว่า 2 แสนรายการ จาก 30 แคทิกอรี่ แบ่งเป็นสินค้าแบรนด์เอฟเอ็น (FN) 80% จาก 15 แบรนด์ และสินค้าฝากขาย (แบรนด์อื่น ๆ) 20% จาก 200 แบรนด์หลัก ปัจจุบันมี 11 สาขา 1 ช็อป (Mini Shop Rama 9)