ลดไลน์อัพ-เน้นบิ๊กแบรนด์ ซูเปอร์มาร์เก็ต รับมือนิวนอร์มอล

ซูเปอร์มาร์เก็ต
market move

ในขณะที่การระบาดของโรคโควิด-19 ก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 ธุรกิจในหลายประเทศได้ใช้จังหวะนี้วิเคราะห์ข้อมูล และถอดบทเรียนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา เพื่อหานิวนอร์มอลที่เกิดขึ้นในธุรกิจของตน รวมถึงสร้างกลยุทธ์รับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้

โดยธุรกิจค้าปลีกของญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในวงการที่เดินหน้าเก็บข้อมูล และปรับกลยุทธ์รับมือกับนิวนอร์มอลมาตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน

สำนักข่าว “นิกเคอิ เอเชีย” รายงานถึงการปรับตัวของธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตในญี่ปุ่นในขณะนี้ว่า หนึ่งในกลยุทธ์ที่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย คือ การลดความหลากหลายของสินค้าบนชั้นวางลงในระดับที่คนทั่วไปสามารถเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการระบาด ซึ่งแม้จะขัดกับหลักการปกติที่สินค้ายิ่งหลากหลายถือเป็นความได้เปรียบ แต่ในช่วงการระบาดวิธีนี้กลับส่งผลบวกทั้งต่อร้านค้าและระบบขนส่งสินค้า

ทั้งนี้ เนื่องจากบรรดาผู้ประกอบการพบว่า พฤติกรรมของนักช็อปเปลี่ยนแปลงไป โดยใช้เวลาในร้านน้อยลง ในขณะที่จำนวนผู้ที่วางแผนการซื้อสินค้าล่วงหน้ามีจำนวนมากขึ้น ซึ่งการวางแผนล่วงหน้านี้ส่งผลให้สินค้ายอดนิยม หรือสินค้าจากแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักของผู้คนในวงกว้าง สามารถทำยอดขายได้ดียิ่งกว่าช่วงเวลาปกติเสียอีก

จากผลวิจัยของทั้งสำนักพิมพ์ ทอปแพน และดิจิทัลเอเยนซี่วันคอมพาส ที่เก็บข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 ถึงมกราคม 2564 พบว่า 41% ของกลุ่มตัวอย่างใช้เวลาเลือกซื้อสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตน้อยกว่า 20 นาที ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้น 11 จุดจากช่วงก่อนการระบาด นอกจากนี้ จำนวนกลุ่มตัวอย่างที่ระบุว่า เตรียมรายชื่อสินค้าและยี่ห้อที่ต้องการซื้อไว้ล่วงหน้าก่อนมาช็อปนั้นเพิ่มขึ้น 2 เท่า จากช่วงก่อนการระบาดเป็น 30% ของกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งลดโอกาสที่จะเกิดการเลือก-เปรียบเทียบสินค้า รวมถึงการตัดสินใจซื้อแบบทันทีลงไปมาก

ปรากฏการณ์นี้กระตุ้นให้ทั้งร้านค้าและแบรนด์ต่างปรับแผนการจัดวางสินค้าในร้านและกำลังการผลิตของโรงงาน ด้วยการลดความหลากหลายของไลน์อัพลง และหันเน้นสินค้าที่ได้รับความนิยมเป็นหลัก

เพื่อเพิ่มโอกาสขายและลดความสูญเสียจากสถานการณ์โรคระบาด ตัวอย่าง เช่น เชนซูเปอร์มาร์เก็ตอินาเกยะ ที่ระบุว่า ปรับลดความหลากหลายของสินค้าที่นำเข้าชั้นวางสินค้าลง

ผลสำรวจของสำนักข่าวนิกเคอิ ที่เก็บข้อมูลราคาและจำนวนสินค้าที่ถูกขายออกไปจากแต่ละช่องทางจำหน่ายตลอดช่วงปี 2563 พบว่า ช่วงเดือนธันวาคม 2563 จำนวนลิปสติกซึ่งเป็นสินค้าที่มีความต้องการต่ำ เนื่องจากการใส่หน้ากาก ที่วางขายในร้านค้าลดลงไป 18% ตรงข้ามกับแผนมาสก์หน้าที่มีสินค้าหลากหลายมากขึ้น 24%

เช่นเดียวกับกลุ่มอื่นทั้งอาหารแช่แข็งและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่สินค้าแบบบรรจุกระป๋องลดจำนวนลง 11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่กลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รสมะนาวซึ่งเป็นเซ็กเมนต์ยอดนิยมในญี่ปุ่นเติบโตสวนทางขึ้นมา 7 จุด จนมียอดขายคิดเป็นสัดส่วนถึง 47% ของตลาดรวม โดยอาซาฮี หนึ่งในผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหญ่เชื่อว่า เป็นเพราะนักดื่มหันไปซื้อสินค้าแบบแพ็กใหญ่กันมากขึ้น และมักเลือกซื้อเฉพาะรสยอดนิยม ทำให้ที่ผ่านมาบริษัทปรับลดพอร์ตโฟลิโอสินค้าลงตามกระแสนี้ด้วยเช่นกัน

ส่วนในวงการอาหารแช่แข็งพร้อมทานความหลากหลายของเมนูพาสต้าแช่แข็งลดลง 15% ทั้งที่ตลาดรวมยังเติบโต

นอกจากนี้การพัฒนาและเปิดตัวสินค้าใหม่ ๆ ซึ่งหยุดชะงักลงเพราะมาตรการป้องกันโรค อย่างการทำงานที่บ้าน และการห้ามรวมกลุ่มคนจำนวนมาก ยังมีส่วนทำให้ความหลากหลายของสินค้าลดลงไปอีก สะท้อนจากการเปิดตัวสินค้าใหม่ของนิชิเร ฟู้ด ผู้ผลิตอาหารแช่แข็งรายใหญ่ที่ช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 2563 สามารถเปิดตัวสินค้าได้เพียง 14 ชนิดเท่านั้น น้อยกว่าปีก่อน ๆ ถึง 50%

โดยในภาพรวมวงการค้าปลีกญี่ปุ่นสินค้า 670 แคทิกอรี่ มีถึง 67% ที่จำนวนไลน์อัพลดลง เมื่อเทียบกับที่มีวางขายในปี 2562

อย่างไรก็ตาม ความหลากหลายที่ลดลงนี้กลับเป็นผลดีต่อวงการค้าปลีก เนื่องจากช่วงลดภาระของร้านค้าและระบบโลจิสติกส์ซึ่งต่างอยู่ในสภาพขาดคนจากผลกระทบของโรคระบาด ส่วนฝั่งซัพพลายเออร์อาจมีต้นทุนสูงขึ้นเพราะอีโคโนมีออฟสเกลลดลง

ทั้งนี้จากข้อมูลของรัฐบาลญี่ปุ่น สถานการณ์เหล่านี้อาจจะดำเนินต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังต่ำและมีแนวโน้มจะฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า หลังผู้คนยังคงเน้นรัดเข็มขัด ประหยัดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันกันต่อไป แม้จะเริ่มฉีดวัคซีนไปบ้างแล้ว

“ฮิโรอากิ วาตานะเบะ” นักวิเคราะห์ธุรกิจค้าปลีกให้ความเห็นว่า ในช่วงหลังจากนี้ซูเปอร์มาร์เก็ตอาจต้องหันเน้นผลิตสินค้าไพรเวตแบรนด์ออกมาทดแทน รวมถึงเพิ่มความเข้มข้นของการแข่งขันราคามากขึ้นเพื่อกระตุ้นการจับจ่าย