ไทยเบฟ แนะเสริมองค์ความรู้-สร้างทักษะ เพิ่มโอกาสอุตสาหกรรมไทยในตลาดโลก

ฐาปน สิริวัฒนภักดี

ไทยเบฟฯ แนะผู้ประกอบการพัฒนาองค์ความรู้-เสริมทักษะ สร้างความยั่งยืนเศรษฐกิจฐานราก เพิ่มโอกาสอุตสาหกรรมไทยในตลาดโลกยุคหลังโควิด รับขั้วอำนาจเศรษฐกิจเปลี่ยนมือ

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในงานสัมมนา “ปี 2021 ประเทศไทยไปต่อ” ในหัวข้อเสวนา “เศรษฐกิจไทยจะไปต่อได้อย่างไร” ที่ บมจ.มติชน จัดขึ้นวันที่ (25 มี.ค. 2564) ถึงแนวทางการฟื้นเศรษฐกิจไทยนับจากนี้ว่า

ปัจจุบันโลกกำลังเข้าสู่ยุคของทิศตะวันออก (เอเชีย) ที่กำลังจะกลายเป็นมหาอำนาจใหม่ มีประชากรกว่า 4.6 พันล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 60% แบ่งเป็นประชากรในกลุ่มประเทศ asean+6 ราว 3.81 พันล้านคน จากประชากรทั่วโลกที่มีอยุ่ 7-8 พันล้านคน และนั่นคือโอกาสขององค์กรในประเทศไทยที่จะผลักดันในเรื่องของการลงทุน เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจระดับโลกในอนาคต

ทั้งนี้แม้ทั่วโลกจะก้าวสู่วิกฤตในช่วงที่ผ่านมา แต่เชื่อว่าในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส โดยเฉพาะในธุรกิจภาคเอกชนที่เน้นในเรื่องของการแข่งขันทั้งสมรรถนะ ความสามารถ พละกำลัง รวมถึงการดึงเรื่องของดิจิทัล ในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันนับจากนี้

“การทำธุรกิจในช่วงโควิดก็เหมือนทุกคนกำลังเข้าโค้งกันหมด ซึ่งถึงโค้งสำคัญก็ต้องมีการลดสปีดความเร็วเพื่อประคับประคอง แต่หลังจากโควิดผ่านพ้นไป ก็ต้องมาดูว่าใครเข้าโค้งได้เนียนกว่า จนสามารถเร่งสปีดความเร็วในทางตรงได้ดีกว่า เร็วกว่า เป็นลำดับต้น ๆ ซึ่งคนกลุ่มนี้พอผ่านปี 2565 (หลังโควิด) จะมีโอกาสอยู่ในถนนอีกยาว 5-8 ปี แต่ถ้าใครช้าก็ต้องเร่งปรับตัวอย่างแรง เนื่องจากปัจจุบันเรื่องการแข่งขันเป็นสิ่งสำคัญ เพราะสถาพแวดล้อมเราเปลี่ยนไป”

โดยจะต้องมีพัฒนาขีดความสามารถใน 2 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.องค์ความรู้ (Knowlegde) 2.ทักษะ (Skill)ในการนำทั้งสองส่วนที่ถนัดมาปรับใช้ในองค์เพื่อก้าวสู่การเป็นอุตสาหกรรมระดับโลก นอกจากนี้ยังต้องมีการสร้างเครือข่ายกลุ่มอุตสาหกรรมไทยในการสร้างโอกาสทางตลาดโลก

“ภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมระดับโลกจะขยายตลาดเป็นกลุ่มก้อน (pack size) แต่อุตสาหกรรมไทยยังไม่มีถึงตรงนั้น ดังนั้นการรวมกันสร้างเครือข่ายเพื่อเดินหน้าคือสิ่งสำคัญ”

ขณะที่โอกาสสำคัญของภาคธุรกิจหลังจากนี้มองว่ามีความต้องการที่เปลี่ยนไปและต้องปรับตัวเล็กน้อย โดยเฉพาะใน 2 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ 1.ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่จะต้องมีการปรับตัวจาก อุตสาหกรรมยานยนต์ 2.0 สู่ การเป็นไฟฟ้า

2.ภาคอุตสาหกรรมอย่างการบินในการเป็นศูนย์กลาง ไม่จำเป็นต้องเป็นฐานการผลิตเสมอไป แต่สามารถปรับตัวสู่การเป็นศูนย์กลางการซ่อมเครื่องบิน เพื่อรองรับการเตรียมตัวของอุตสาหกรรมการบินหลังโควิด และนั่นคือโอกาสอันดีที่จะต่อยอดในอนาคต

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความยั่งยืนเพื่อสร้างโอกาสของเศรษฐกิจฐานราก ในส่วนต่าง ๆ ทั้งการพัฒนา ต่อยอด สร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ โดยผลักดันผ่านคนรุ่นใหม่ หรือลูกหลานของคนในชุมชน รัฐวิสาหกิจชุมชน สร้างความร่วมมือเพื่อต่อยอดโดยคนรุ่นใหม่ และชุมชนจะต้องลงมือทำเพื่อให้เจอกับประสบการณ์จริงในการเสริมทักษะอาชีพ

ขณะเดียวกันยังต้องมีการทำบัญชีครัวเรือน บัญชีค้าขาย การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสร้างโอกาสทางการขายทั่วโลก เพื่อสร้างความยั่งยืน และนำไปสู่ความยั่งยืนของเศรษฐกิจฐานรากเช่นกัน

โดยในปี 2559 สินค้า OTOP (แกนหลักของเศรษฐกิจฐานราก) มีมูลค่ากว่า 1.09 แสนล้านบาท เติบโต 3-4% ต่อเนื่องทุกปี แล้วจึงมาถดถอยลงในช่วง 5-6 ปีหลังจากนั้น แต่แม้จะถดถอยอย่างไรแต่ปัจจุบันเศรษฐกิจฐานรากก็มีการเติบโตต่อเนื่อง จนมูลค่าทะลุ 2.5 แสนล้านบาท และนั่นคือตัวเลขที่สะท้อนรายได้ชุมชน ที่ถึงแม้จะยังมีสัดส่วนไม่ถึง 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ประเทศที่มีมูลค่ากว่า 16 ล้านล้านบาท


“การสมดุลระหว่างปัจจัยพื้นฐานทางการผลิตของประเทศกับความหลากหลายของสินค้า (productivity) คือโอกาสอันดีของเศรษฐกิจฐานรากในการแปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่ม และการพัฒนาองค์ความรู้ของคนรุ่นใหม่ ลูกหลานคนในชุมชน เพื่อพัฒนาแปรรูปสินค้าท้องถิ่น จนเป็นห่วงโซ่ของเกษตร-การแปรรูป-การท่องเที่ยวชุมชน นั่นคือการสร้างความยั่งยืนให้เศรษฐกิจประเทศเติบโตได้อย่างมีนัยยะ”