เทรนด์บริโภค แดนมังกรตีกลับ บะหมี่กึ่งซบ-ซอฟต์ดริงก์ผงาดแซง

ซูเปอร์มาร์เก็ต เครื่องดื่ม
market move

การเริ่มฉีดวัคซีนและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคในหลายประเทศ รวมไปถึงแนวโน้มที่ผู้คนกำลังจะกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้อีกครั้งกำลังทำให้ดีมานด์สินค้าที่มีอยู่เดิมในโหมดโรคระบาดเกิดความเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง

โดยในประเทศจีนซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นผู้นำเทรนด์ในช่วงโควิด-19 นี้จากการเป็นประเทศแรกที่เกิดการระบาด รวมถึงประสบความสำเร็จในการคุมการระบาดและเริ่มฉีดวัคซีนนั้น ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในวงการอาหาร-เครื่องดื่ม สะท้อนจากผลประกอบการของ 2 ยักษ์ธุรกิจอย่าง ติงอี้ และ ยูนิ-เพรสซิเดนท์

สำนักข่าว “นิกเคอิ เอเชีย” รายงานถึงปรากฏการณ์นี้ว่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เป็นหนึ่งในสินค้าที่ดีมานด์พุ่งกระฉูดในช่วงต้นของการระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งจากการแห่กักตุนสินค้า และการล็อกดาวน์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกนั้น กลับมียอดขายลดอย่างฮวบฮาบลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 สวนทางกับกลุ่มเครื่องดื่มอย่าง น้ำอัดลม ชา น้ำผลไม้ ไปจนถึงน้ำเปล่า ที่ยอดขายกลับมาเติบโตในช่วงเวลาเดียวกัน หลังหดตัวรุนแรงในช่วงครึ่งปีแรกเพราะร้านอาหารต่าง ๆ ถูกปิด

เห็นได้ชัดจากผลประกอบการของ “ติงอี้ โฮลดิ้ง” ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรายใหญ่สุดของแดนมังกร เจ้าของแบรนด์ “มาสเตอร์ คอง” (Master Kong) และยังมีธุรกิจผลิตเครื่องดื่มและเป็นผู้ถือสิทธิ์แฟรนไชส์เป๊ปซี่ในจีนด้วยนั้น ยอดขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปช่วงครึ่งหลังของปี 2563 เติบโตเพียง 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 พลิกจากการเติบโตก้าวกระโดดถึง 29.2% ในช่วงครึ่งปีแรก

ในขณะที่ธุรกิจเครื่องดื่มมีทิศทางตรงข้ามกันราวหน้ามือเป็นหลังมือ โดยครึ่งปีหลังเติบโตได้มากถึง 14.1% หลังจากการหดตัว 4.1% ในช่วงครึ่งปีแรก

ตัวเลขเหล่านี้ไปในทิศทางเดียวกับผลประกอบการของคู่แข่ง อย่าง “ยูนิ-เพรสซิเดนท์ ไชน่า โฮลดิ้ง” ที่มีธุรกิจทั้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและเครื่องดื่มเช่นกัน โดยยอดขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของยูนิ-เพรสซิเดนท์ ติดลบ 0.4% ในช่วงครึ่งปีหลัง แม้จะเคยเติบโต 22% ในช่วงครึ่งแรก ส่วนเครื่องดื่มฟื้นตัวจากการติดลบ 7.4% ในช่วง 6 เดือนแรก มาเติบโต 5.6%

เช่นเดียวกับ “นองชิม โฮลดิ้ง” บริษัทสัญชาติเกาหลีใต้ ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสเผ็ดแบรนด์ชินรามยุน ซึ่งการเติบโตของยอดขายในจีนลดลงจาก 32.2% เหลือเพียง 6.1% ในช่วงครึ่งปีหลัง และ “สไวน์ แปซิฟิก” เจ้าของสิทธิ์แฟรนด์ไชส์โคคา-โคลาในจีน ที่ยอดขายช่วงครึ่งปีหลังเติบโต 9% และช่วยชดเชยความเสียหายจากธุรกิจสายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิค ไปได้แบบฉิวเฉียด

“เว่ย ฮองหมิง” ประธานของติงอี้ กล่าวในแถลงการณ์ถึงตลาดหุ้นฮ่องกงว่า ช่วงครึ่งหลังของปี 2563 นั้น ยอดขายบะหมี่กึ่งสำเร็จกลับมาอยู่ในระดับปกติก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 ส่วนกลุ่มเครื่องดื่มเริ่มกลับมาคึกคักหลังหดตัวเล็กน้อยในช่วงเริ่มต้นการระบาด

ด้าน “เมอลิน สไวน์” ประธานของสไวน์ แปซิฟิก ถึงกับยกให้กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มเป็นไฮไลต์ของบริษัทในปีที่แล้ว หลังแบรนด์โคคา-โคล่าสามารถทำรายได้มากกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง (8 พันล้านบาท) หรือ 50% ของรายได้รวม จากการขายใน 11 มณฑลของจีน

ด้านนักวิเคราะห์มองว่า สาเหตุของปรากฏการณ์นี้เป็นเพราะบรรยากาศอึมครึมและความเครียดในช่วงล็อกดาวน์ในครึ่งแรกของปี 2563 ทำให้ผู้บริโภคดื่มเครื่องดื่มต่าง ๆ ที่ไม่มีแอลกอฮอล์น้อยลง แต่ในปัจจุบันที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลายจากวัคซีนและแนวโน้มที่สิ่งต่าง ๆ จะกลับสู่ภาวะปกติ ทำให้ดีมานด์เครื่องดื่มน็อนแอลกอฮอล์เริ่มกลับมาอีกครั้งทั้งในจีนแผนดินใหญ่และไต้หวัน

ทั้งนี้ แม้การเติบโตของธุรกิจในพอร์ตของบริษัทเหล่านี้ในปีที่ผ่านมาจะวูบวาบราวรถไฟเหาะ แต่ผลประกอบการโดยรวมเป็นไปในทางบวก โดยรายได้รวมของติงอี้ โฮลดิ้ง เติบโต 9% เป็น 6.7 หมื่นล้านหยวน (3.21 แสนล้านบาท) และกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 22% เป็น 4 พันล้านหยวน (1.9 หมื่นล้านบาท) ด้านยูนิ-เพรสซิเดนท์ ไชน่า โฮลดิ้ง ยอดขายเติบโต 3.4% เป็น 2.27 หมื่นล้านหยวน (1 แสนล้านบาท) กำไรเติบโต 19% เป็น 1.62 พันล้านหยวน (7.7 พันล้านบาท)

หลังจากนี้ต้องติดตามดูว่า ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงดีมานด์อย่างการลดลงของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และเพิ่มขึ้นของเครื่องดื่มเช่นนี้จะเกิดขึ้นในประเทศอื่น ๆ ด้วยหรือไม่