ทิปโก้ฟูดส์ จัดทัพใหญ่บุก ชู “กัญชา-สินค้าใหม่” ต่อยอดเครื่องดื่ม

สัมภาษณ์

“ทิปโก้ฟูดส์” หนึ่งยักษ์ใหญ่ธุรกิจเครื่องดื่ม น้ำผลไม้ ที่คนไทยรู้จักกันมานานกว่า 45 ปี แต่การเกิดขึ้นของโควิด-19 ทำให้ทิปโก้ฟูดส์ต้องมีการปรับแผนงานครั้งใหญ่ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้ร่วมพูดคุยกับซีอีโอคนใหม่ “ยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิปโก้ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยมีโจทย์ใหญ่คือเรื่องของพฤติกรรมผู้บริโภคและโควิด-19

“ยงสิทธิ์” สะท้อนภาพการบริหารงานภายใต้ความท้าทายและปัจจัยลบรอบด้านที่เกิดขึ้นว่า กลุ่มธุรกิจหลักของทิปโก้คือ เครื่องดื่ม น้ำผลไม้ และผลไม้แปรรูปส่งออก และในส่วนของเครื่องดื่มก็มีทั้งน้ำแร่และน้ำผลไม้ กลับต้องเผชิญกับกระแสการเติบโตของเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ อย่างน้ำผสมวิตามิน ที่เติบโตแบบก้าวกระโดดในปีที่ผ่านมา ขณะที่กำลังซื้อที่ชะลอตัวลงจากปัญหารายได้ที่ลดลง การระบาดของโควิด-19 รวมไปถึงปัจจัยลบในเรื่องของภัยแล้ง ค่าเงินบาทที่แข็งตัวก็ส่งผลกระทบต่อธุรกิจผลไม้แปรรูปส่งออกของบริษัทแทบทั้งสิ้น

ขณะเดียวกันผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีความหวานที่ลากยาวมาจนถึงปัจจุบันก็ส่งผลให้ต้นทุนผลิตภัณฑ์สูงขึ้น ขณะที่สภาพเศรษฐกิจทำให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง และปี 2563 ผลกระทบจากโควิด-19 มีการประกาศล็อกดาวน์ ร้านขายปลีกปิดตัวนานถึง 3 เดือน

ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ส่งผลถึงผลการดำเนินงานของทิปโก้ และเป็นโจทย์สำคัญที่ต้องเร่งปรับปรุง ภายใต้ยุทธศาสตร์ของการดำเนินงานใหม่ Tipco Next ด้วยการขับเคลื่อนองค์กรผ่าน 3 คีย์หลัก คือ innovation, digital และสร้าง trust

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามวิชั่นที่วางไว้ จึงมีการดำเนินงานด้วยการกลบจุดด้อย และเพิ่มจุดเด่นให้แก่แผนงานส่วนต่าง ๆ ผ่านตัวสินค้าที่มีมากขึ้น เป็นนวัตกรรมมากขึ้น โดยปีนี้จะได้ใช้งบฯลงทุนราว 100 ล้านบาท ในการเดินเครื่องแผนงานตามกรอบที่วางไว้ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม จะให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมและความหลากหลายมากขึ้นในทุกกลุ่มสินค้า

เริ่มจากการพัฒนาสินค้าด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ ออกตลาดอย่างต่อเนื่อง เช่น กลุ่ม variety ช่วงแรกจะมี Immunity Drink, Apple Cider Vinegar และ Curcumin Drink ขณะที่กลุ่ม premium ออกสินค้าคอนเซ็ปต์ที่รสชาติอร่อย มีความนำสมัย โดดเด่น แปลกใหม่เข้าสู่ตลาด

ส่วนกลุ่ม mass เตรียมออกน้ำแร่แบรนด์ Aquare (อควาเร่) จากแหล่งเพชรบูรณ์ในราคาน้ำดื่ม เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงน้ำแร่คุณภาพตามมาตรฐานทิปโก้ได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น โดยเน้นผลิตจำนวนมากเพื่อลดต้นทุน (econome of scale) คาดว่าจะสามารถวางจำหน่ายได้ในราคา 8 บาท พร้อมกับน้ำผลไม้พรีเมี่ยม “เรด แซงเกรีย” (Red Sangria) เพื่อเจาะกลุ่มร้านอาหารและบาร์ รวมถึงเพื่อจัดจำหน่ายให้ธุรกิจ เช่น สายการบินและโรงแรม

สำหรับกระแสกัญชาที่กำลังมาแรง ก็จะเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจของทิปโก้ในครั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทมีความพร้อมในการจำหน่ายเครื่องดื่มและอาหารที่มีการปรุงกัญชาและกัญชงลงไปในหน้าร้าน โดยจะเปิดขายผ่านร้านค้าปลีก “Squeeze Bar” ของบริษัท ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์เป็นสาขาแรก ก่อนจะทยอยขออนุญาตในแต่ละพื้นที่เพื่อขยายการบริการไปยังสาขาอื่น ๆ เพิ่มเติม

ไม่เพียงแต่ปลายทางเท่านั้น หากแต่เป้าหมายของ “ยงสิทธิ์” คือการปั้นธุรกิจกัญชาที่มีมูลค่าและโอกาสมหาศาล ตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ โดยมีแผนการดำเนินงานในส่วนของต้นน้ำ-กลางน้ำ คือการปลูกและการสกัด รวมถึงผลิตภัณฑ์ปิดผนึกที่มีส่วนผสมของกัญชาและกัญชงจะต้องได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งคาดว่าจะได้รับใบอนุญาตเร็วสุดในไตรมาส 3 และมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้จะสร้างรายได้ให้บริษัทไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แม้จะได้เห็นสมูทตี้กัญชาจาก Squeeze Bar ในปีนี้ แต่การระบาดของโควิดในช่วงที่ผ่านมาก็ส่งผลให้สาขาของสควีซ บาร์ (แฟรนไชส์) ปิดตัวลง เหลือเพียงเฉพาะสาขาของบริษัท 30 แห่งเท่านั้น จากเดิมที่มีอยู่ 60 สาขา โดยจะหันไปขยายสาขาแฟรนไชส์ไซซ์เล็กที่เรียกว่า Squeeze Buddy ที่เป็นรูปแบบของร้านขนาดเล็กแบบ shop in shop แทน เนื่องจากสามารถเข้าถึงนักลงทุนได้มากกว่า เพราะลงทุนน้อยเพียงหลักแสนบาทต่อสาขาเท่านั้น และคาดว่าปีนี้จะได้เห็น Squeeze Buddy หลักร้อยสาขา

นอกจากนี้ ทิปโก้ฟูดส์ยังจะให้ความสำคัญกับกลุ่มธุรกิจที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม (nonfood & beverage) มากขึ้น ด้วยการเปิดตัวเครื่องผลิตน้ำจากอากาศ (Air Water by TIPCO) ใช้สำหรับผลิตน้ำคุณภาพสูง ราคาประหยัด เจาะหลายกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่ห่างไกล เกาะต่าง ๆ โรงเรียน สำนักงาน หรือกรณีฉุกเฉินต่าง ๆ โดยไม่ต้องมีการใช้ขวดบรรจุหรือขนส่ง ทำให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำดื่มจากน้ำแล้ง หรือน้ำประปาเค็มที่เกิดขึ้นบ่อยในระยะหลัง

ส่วนในแง่ของช่องทางการจำหน่าย บริษัทได้เตรียมขยายการจัดจำหน่ายไปยังช่องทางเทรดิชั่นนอลเทรดมากขึ้น จากเดิมที่เน้นกระจายในโมเดิร์นเทรดถึง 80% ควบคู่กับการเสริมช่องทางอีคอมเมิร์ซ เพื่อช่วยการขายให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผ่านระบบสมาชิกหรือจัดส่งสินค้าถึงบ้าน (home delivery) ฯลฯ

ภายใต้แผน Tipco Next ครั้งนี้ทำให้มั่นใจว่าจะสามารถปิดรายได้ในสิ้นปีนี้กลับมาปิดที่ 4,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับรายได้ในปี 2562 หรือช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ก่อนจะวางเป้าหมายระยะยาวให้กลับมาปิดที่ 6,000 ล้านบาท ในช่วง 2 ปีนับจากนี้ (2565-2566) หลังจากปีที่่ผ่านมามีรายได้กว่า 3,000 ล้านบาท โดยส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้รายได้ลดลง


สอดคล้องกับภาพรวมตลาดเครื่องดื่มเมืองไทยที่ส่งสัญญาณบวกอีกครั้ง หลังที่ผ่านมาตลาดเครื่องดื่มเมืองไทยหดตัวอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2563 ที่มีมูลค่า 9,706 ล้านบาท หดตัวจากปี 2562 ที่มีมูลค่ารวม 13,320 ล้านบาทลง 14% โดยในปีนี้คาดการณ์ว่าจากเทรนด์สุขภาพที่มาแรงจะทำให้ภาพรวมตลาดเติบโต 10% จากปีที่ผ่านมา หรือมีมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท