ธุรกิจ “ร้านอาหาร” 4 แสนล้านมึน ปรับเพิ่มเมนูเทกโฮมบุกดีลิเวอรี่

ร้านอาหารลุยเดลิเวอรี

ร้านอาหาร 4 แสนล้านกุมขมับ โควิด-19 คลัสเตอร์ทองหล่อพิษแรง ทราฟฟิกห้างเริ่มลด กระทบลูกค้าเข้าร้าน เร่งปรับแผนจ้าละหวั่น “เซ็น-ไมเนอร์ฟู้ด” ประสานเสียงบุกดีลิเวอรี่แก้เกมหน้าร้านลูกค้าลด หวั่นสถานการณ์ลากยาว เร่งปรับตัวลดค่าใช้จ่าย-บริหารสต๊อกสินค้า ด้าน “โออิชิ กรุ๊ป” ประกาศพร้อมรับมือ สต๊อกอาหาร-เครื่องดื่ม รองรับการซื้อกลับบ้าน ส่วนร้านอาหาร เน้นเพิ่มเมนูซื้อ Take-Home ดีลิเวอรี่ไซซ์ใหญ่ รองรับกลุ่มครอบครัว

ต้องปรับแผนกันอุตลุด สำหรับธุรกิจร้านอาหารที่ว่ากันว่ามีมูลค่ารวมราวๆ 4 แสนล้านบาท หลังจากตลาดเริ่มฟื้นตัว ผลพวงวัคซีนที่สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคเริ่มออกมาจับจ่ายและทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น ประกอบช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่มีวันหยุดยาว ทุกค่ายต่างทยอยความพร้อมเพื่อรองรับโอกาสการขายที่สำคัญ แต่ล่าสุด จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 “ร้านอาหาร” รอบ 3 ที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบในวงกว้าง และมีความเป็นไปได้สูงที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อาจจะมีมาตรการที่เข้มงวดมาควบคุม ทั้งในแง่ของการกำหนดเวลาการให้บริการ รวมถึงการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน

“เซ็น-ไมเนอร์” ลุยดีลิเวอรี่

นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เจ้าของแบรนด์ อาทิ ร้านอาหารญี่ปุ่นเซ็น อากะ ร้านอาหารญี่ปุ่นปิ้งย่าง, มูฉะข้าวหน้าล้น, ออน เดอะ เทเบิล อาหารสไตล์ฟิวชั่น, อาหารตามสั่ง เขียง ฯลฯ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การกลับมาระบาดของโควิด-19 รอบ 3 นี้มีความน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่กระจายไปในหลายจังหวัดและมีผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก ทำให้ประชาชนทั่ว ๆ ไปเริ่มมีความกังวล แม้จะมีการทยอยฉีดวัคซีนแล้วแต่ยังล่าช้าและยังไม่ทั่วถึง รวมถึงการระบาดครั้งนี้มีนักการเมืองติดเชื้อด้วย ส่งผลให้มีความกังวลมากขึ้นกว่ารอบที่ผ่านมา

จากการติดตามสถานการณ์ (8 เมษายน) เริ่มพบว่า ทราฟฟิกของศูนย์การค้าลดลง และเริ่มกระทบกับร้านอาหาร โดยเบื้องต้นประเมินว่า มีการใช้บริการลดลงกว่า 15% สวนทางกับออร์เดอร์สั่งอาหารทางช่องทางดีลิเวอรี่ที่เพิ่มขึ้น ตอนนี้สิ่งที่บริษัททำได้ คือ เพิ่มน้ำหนักรักษามาตรการความสะอาด การวัดอุณหภูมิ จัดที่นั่งเว้นระยะห่าง ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ทำมาต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้ผู้บริโภค

ขณะเดียวกัน ก็หันมาเพิ่มน้ำหนักขายดีลิเวอรี่ ที่มีความพร้อมอยู่แล้ว ล่าสุด ได้เตรียมเปิดโมเดลครัวผี (ghost kitchen) จุดขาย คือ ไม่มีหน้าร้าน เพื่อขายอาหารในแพลตฟอร์มต่าง ๆ อาทิ แกร็บฟู้ด เก็ท ไลน์แมน โดยใช้ชื่อโต้รุ่ง ซึ่งเป็นการรวบรวมอาหารสตรีตฟู้ดชื่อดังจากต่างจังหวัด เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้า

“กรณีเลวร้ายที่สุด หากยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น รัฐบาลประกาศลดเวลาการให้บริการเหลือ 3 ทุ่ม แน่นอนว่าร้านอาหารที่อยู่ในศูนย์การค้าได้รับผลกระทบ และต้องปรับตัว ควบคุมค่าใช้จ่าย เพื่อรักษากำไรไม่ให้ลดลง”

เช่นเดียวกับ นายประพัฒน์ เสียงจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านอาหารรายใหญ่ อาทิ เดอะพิซซ่า คอมปะนี, ซิซซ์เล่อร์, เบอร์เกอร์ คิง, สเวนเซ่นส์ ฯลฯ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วิกฤตโควิดรอบนี้เกิดขึ้นกลางเมือง ซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อเทียบกับคลัสเตอร์รอบแรกในจังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดระยองที่ควบคุมได้ เพราะกระทบแค่ตัวจังหวัดและการเดินทางที่จะไปในจังหวัดนั้น ๆ แต่รอบนี้ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น สร้างความกังวลให้ผู้บริโภค

สำหรับ ไมเนอร์ ฟู้ด แม้จะมีสถานการณ์ที่ทำให้การนั่งรับประทานในร้านลดลงบ้าง แต่ช่องทางดีลิเวอรี่เริ่มปรับตัวดีขึ้นในหลาย ๆ แบรนด์ และขณะนี้อุตสาหกรรมร้านอาหารอยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอน ดังนั้น แบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอต้องระมัดระวังเรื่องการคอนโทรลสต๊อกสินค้า ต้องไม่มากเกินไป เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงพนักงานในบางพื้นที่ต้องไม่มากเกินไป เพราะอาจจะอยู่ในพื้นที่ห้ามไม่ให้ขายได้

โออิชิ กรุ๊ป พร้อมรับมือ

นางนงนุช บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ทิศทางตลาดทั้งเครื่องดื่ม อาหาร และร้านอาหารนั้นมีความไม่แน่นอน เพราะการระบาดระลอก 3 ที่เพิ่งเกิดขึ้น และมีความเป็นไปได้สูงว่าผลกระทบอาจรุนแรงกว่าครั้งที่ผ่านมา และบริษัทเตรียมรับมือด้วยการนำประสบการณ์จากครั้งก่อน ๆ มาปรับใช้ เช่น การมีสินค้าพร้อมในทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นโมเดิร์นเทรดหรือเทรดิชั่นนอลเทรด เพื่อรองรับการซื้อไปทาน-ดื่มที่บ้าน หรือเวิร์กฟรอมโฮม โดยจะเปิดเครือข่ายซัพพลายเชนตลอดทั้งวันธรรมดาและวันหยุด ให้สามารถรับคำสั่งซื้อและส่งสินค้าไปเติมหน้าร้านได้ทันที

เช่นเดียวกับธุรกิจร้านอาหารที่เตรียมรับทุกรูปแบบ ทั้งการสต๊อกวัตถุดิบต่าง ๆ ไว้รองรับลูกค้านั่งทานที่ร้าน การเพิ่มเมนูซื้อกลับบ้าน-ดีลิเวอรี่แบบไซซ์ใหญ่ สำหรับทานทั้งครอบครัว นอกจากนี้ยังคงรัดเข็มขัดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อย่างเต็มที่เพื่อรักษาสภาพคล่อง

ส่งสารพัดแคมเปญปลุกจับจ่าย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบล่าสุด (8 เมษายน) พบว่า ขณะนี้ร้านอาหารหลาย ๆ ค่ายเริ่มกระหน่ำแคมเปญเพื่อดึงคนเข้าร้านอย่างคึกคัก อาทิ เอ็มเค สุกี้ จัดโปรโมชั่น “MK ต้มยำหม้อไฟ” ราคาเริ่มต้นชุดละ 299 บาท-799 บาท ตามด้วย MK ต้มยำไข่บอมบ์ เริ่มต้นในราคา 99 บาท ตั้งแต่วันนี้ถึง 25 พฤษภาคม ตามด้วยค่ายเซ็น คอร์ปอเรชั่น ได้ขยายเวลาเสิร์ฟบุฟเฟต์พรีเมี่ยม ราคา 599 บาท ต่อเนื่องไปถึง 18 เม.ย. 2564 ตามด้วยร้านอาหารญี่ปุ่นปิ้งย่าง อากะ จัดแคมเปญ “อากะ ลอตเตอรี่ เดย์” (เฉพาะช่วงวันหวยออก) นำลอตเตอรี่ที่ไม่ถูกรางวัล นำมาแลกรับส่วนลดบุฟเฟต์ 80 บาท สำหรับนำมาทานบุฟเฟต์ปิ้งย่างที่อากะ 1 ใบต่อ 1 คน และลดพิเศษบุฟเฟต์ปิ้งย่างทุกราคา มา 4 จ่าย 3 ยิงยาวถึง 4 พฤษภาคม 2564

ด้านฝั่ง กลุ่มฟาสต์ฟู้ด ก็มีการรุกตลาดดีลิเวอรี่อย่างหนักหน่วง อาทิ เคเอฟซี สั่งชุดสแน็กเซตครบ 350 บาท ลด 50% (หมดเขต 18 เมษายน) ขณะที่เบอร์เกอร์ คิงในเครือไมเนอร์ฟู้ด ยิงยาวโปรโมชั่น เมื่อซื้อเบอร์เกอร์ชุดสุดคุ้ม 1 ชุด แถมฟรี 1 ชุด ยิงยาวไปถึงสิ้นปี และลดราคากลุ่มเมนูแพลนต์ เบส วอปเปอร์ เมื่อซื้อเป็นคู่ในราคา 299 บาท และยังสามารถเลือกรับส่วนลด 50 บาททุกเมนู เมื่อเก็บคูปองและสแกนจ่ายด้วยแอปพลิเคชั่น DolfinWallet (ถึง 30 เมษายน) เช่นเดียวกับแมคโดนัลด์ เฟรนช์ฟรายขนาดใหญ่และโค้กรีฟิลขนาด 22 ออนซ์ เริ่มต้นเพียง 149 บาท จากปกติ 228 บาท ทั้งช่องทางหน้าร้าน ไดรฟ์ทรู และบริการจัดส่งถึงบ้าน (ถึง 27 เมษายน)