ปรับตัว…360 องศา “ฟู้ดแพชชั่น” สู้วิกฤต

สัมภาษณ์

ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤตโควิด-19 ระลอก 3 หนักหน่วงและรุนแรงกว่าระลอกที่ผ่านมา และเป็นช่วงที่ยากลำบากของธุรกิจร้านอาหารต้องกลับมารับศึกหนักอีกครั้ง โดยเฉพาะร้านที่เปิดในศูนย์การค้าต้องปรับตัวให้สอดรับกับการปรับเวลาเปิด-ปิด ให้บริการของศูนย์ ส่งผลกระทบต่อหน้าร้านที่เป็นช่องทางหลักจากจำนวนลูกค้าที่ลดลงทุกวัน

เช่นเดียวกับ “ฟู้ดแพชชั่น” ผู้บริหารร้าน “บาร์บีคิว พลาซ่า” และอีก 5 แบรนด์ในเครือ คือ จุ่มแซ่บฮัท, ฌานา, โพชา, สเปซคิว และเรดซัน มีสาขารวมกันกว่า 200 สาขา ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ชาตยา สุพรรณพงศ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด ถึงการปรับตัวและยุทธศาสตร์การดำเนินงานจากนี้

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น เริ่มต้นการสนทนาว่า โควิด-19 ที่เริ่มรุนแรงขึ้นครั้งนี้ ทำให้ทราฟฟิกศูนย์การค้าลดลง 50-70% เนื่องจากผู้คนอยู่บ้านมากขึ้น หลาย ๆ บริษัทให้พนักงานทำงานที่บ้าน (work from home) เพื่อลดความเสี่ยงในการเดินทางออกจากบ้านให้มากที่สุด

เช่นเดียวกับบริษัทที่ประกาศให้พนักงานส่วนของออฟฟิศทำงานที่บ้านทันทีและใช้การประชุมผ่านออนไลน์ นอกจากนี้ยังมีการสร้างแอปพลิเคชั่น “พร้อมเพื่อน” เพื่อใช้ติดตามสุขภาพพนักงาน

รอบนี้เชื้อติดง่ายและรุนแรง จำนวนผู้ติดเชื้อค่อนข้างสูง เราจึงต้องให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยของลูกค้าและพนักงานเป็นอันดับแรก โดยเพิ่มมาตรการรับมือ ด้วยการตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ และมาตรการเข้มงวดทำความสะอาดภายในร้าน ตรวจวัดอุณหภูมิ การเว้นระยะห่างทางสังคม หรือกรณีที่พบว่ามีผู้ติดเชื้อเข้ามาใช้บริการ จะต้องให้พนักงานในร้านไปตรวจโควิด และพ่นยาฆ่าเชื้อพื้นร้านทันที รวมทั้งเพิ่มมาตรการดูแลพนักงาน ให้เข้าตรวจเชื้อโควิด โดยบริษัทออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด

คีย์แมนฟู้ดแพชชั่นย้ำว่า ผลกระทบจากโควิดตั้งแต่ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้แลนด์สเคปของธุรกิจอาหารเปลี่ยนไปมาก เพราะวันนี้นอกจากพฤติกรรมผู้บริโภคจะเปลี่ยนแล้ว ในแง่ของตัวผู้เล่นในตลาดก็เปลี่ยนไปด้วย ทำให้วิถีการทำธุรกิจเปลี่ยนไป ดังนั้นการจะใช้วิธีการ หรือการทำตลาดแบบเดิม ๆ คงไม่ได้ เพราะตลาดมีตัวแปรใหม่ ๆ เข้ามาตลอดเวลา ทำให้ธุรกิจมีความไม่แน่นอนและอยู่ในภาวะที่ยากลำบาก

นอกจากความหวังในเรื่องของวัคซีนและการเปิดประเทศ ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญในการฟื้นเศรษฐกิจ หลังจากสถานการณ์เริ่มปรับตัวดีขึ้น ธุรกิจร้านอาหารจะต้องเร่งปรับตัวและโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคตในระยะยาว

สำหรับกลยุทธ์ของฟู้ดแพชชั่น จากนี้ไป หลักใหญ่จะมุ่งให้ความสำคัญกับเรื่องของคอนซูเมอร์อินไซต์ ที่มาจากความต้องการของลูกค้า เพื่อมอบประสบการณ์มากกว่าการสร้างโปรดักต์ วันนี้พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไปเร็วมาก ผู้บริโภคมีความหลากหลายและมีความต้องการมากขึ้นไปอีก อย่างล่าสุด บาร์บีคิวพลาซ่า จับมือกับ แสนสิริ เป็นการนำแบรนด์เข้าไปสร้างประสบการณ์และเข้าถึงผู้บริโภค และจากนี้ยังเปิดโอกาส collaboration ร่วมกับแบรนด์อื่น ๆ เพื่อสร้างการเติบโตร่วมกันในทุกรูปแบบ

ส่วนกลยุทธ์ระยะสั้นในการรับมือช่วงโควิด หลัก ๆ จะเน้นการปรับตัวเร็วและการมองหาโอกาสใหม่ ๆ ประกอบด้วยรักษากระแสเงินสด ชะลอการลงทุน ลดค่าใช้จ่าย รวมถึงสต๊อกวัตถุดิบเพื่อรองรับโอกาสในการขายดีลิเวอรี่ รวมถึงกิจกรรมที่ทำมาต่อเนื่อง คือการพัฒนาโปรดักต์ใหม่ ทั้ง ready to eat และ ready to cook ขายผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ ที่เป็นอีกหนึ่งช่องทางการขายสำคัญของบริษัท

ปีนี้แม้จะไม่มีแผนขยายสาขาเพิ่ม เนื่องจากแต่ละแบรนด์มีจำนวนสาขาที่ค่อนข้างครอบคลุมทั้งในกรุงเทพฯและหัวเมืองใหญ่ แต่จะมีการเปิดโมเดลใหม่ เช่น ฟู้ดทรัก และคีออสก์ ในรีเทลอื่น ๆ เช่น สถานีบริการน้ำมันและอาคารสำนักงาน ซึ่งไม่ได้จำกัดแค่แบรนด์บาร์บีคิว พลาซ่า และเป็นไปได้ทั้ง ฌานา และ โภชา ควบคู่กับการเพิ่มน้ำหนักให้กับการขายดีลิเวอรี่ ด้วยการเพิ่มเมนูใหม่ ตรงต่อความต้องการของลูกค้า รวมทั้งการพัฒนาแพลตฟอร์มดีลิเวอรี่ของตัวเอง เพื่อให้สามารถสั่งออร์เดอร์ได้ทุกแบรนด์ ซึ่งแต่ละแบรนด์จะซัพพอร์ตกัน ผ่านแพลตฟอร์ม “GON and the Gang” ที่สามารถทำครอสโปรโมชั่น ทาร์เก็ตลูกค้า และสะสมแต้มทั้งนั่งทานในร้านและดีลิเวอรี่ และนำแต้มมาใช้เป็นคูปองส่วนลดได้

ส่วนแบรนด์อื่นในพอร์ตโฟลิโอ อาทิ ฌานา ร้านอาหารสุขภาพ หลัก ๆ จะมุ่งไปที่การพัฒนาเมนูสุขภาพให้สอดรับกับกระแสผู้บริโภค โดยฌานาจะเป็นแพลตฟอร์มที่จะนำเสนอสินค้าและวัตถุดิบเกษตรกร ปัจจุบันได้เปิดโอกาสให้เกษตรกรนำสินค้าเข้ามาขายในร้าน ทำตลาดร่วมกัน ปัจจุบันมีเพียง 2 สาขา ในกรุงเทพฯ แต่ในอนาคตจะมีการขยายเพิ่ม ส่วนแฟรนไชส์หมูทอด “กอดคอ” ตอนนี้ยังไม่ได้เปิดรับสมัครเฟส 2 เพราะเป้าหมายหลักไม่ใช่จำนวนแฟรนไชส์ แต่เป็นการพัฒนาตัวโปรดักต์ให้แข็งแรง

แน่นอนว่าเป็นความยากของการสร้างธุรกิจใหม่ในยุคโควิดมีความท้าทายเรื่องกำลังซื้อผู้บริโภคและผู้บริโภคจะเลือกใช้จ่ายเฉพาะแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักเท่านั้น จะเห็นว่าในช่วงโควิด แบรนด์ที่จะได้รับผลกระทบมากสุดเป็นแบรนด์ใหม่ที่เพิ่งจะทำตลาด ส่วนแบรนด์เดิมและเป็นที่รู้จัก มีฐานลูกค้าอยู่แล้ว จะได้รับผลกระทบน้อยกว่า ดังนั้น หมูทอดกอดคอ จะต้องใช้เวลาในการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักก่อน

สุดท้ายแล้ว แม้วิกฤตวันนี้ อีคอมเมิร์ซและออนไลน์เข้ามาดิสรัปต์ และร้านอาหารต้องหันไปเน้นดีลิเวอรี่ แต่ dine in ก็ยังสำคัญอยู่ และยังเป็นแม็กเนตสำคัญที่ศูนย์การค้าเอาไว้สร้างประสบการณ์ให้ผู้บริโภค