เครื่องใช้ไฟฟ้าจีนส่ออิ่มตัว ขาใหญ่แห่ขยายไลน์ธุรกิจ-โฟกัสต่างประเทศ

market move

การเติบโตรวดเร็วต่อเนื่องได้ทำให้แม้แต่ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฐานผู้บริโภคระดับมากกว่า 1 พันล้านคนอย่างจีนแผ่นดินใหญ่ ขณะนี้เริ่มส่อเค้าว่ากำลังจะตกอยู่ในสถานการณ์อิ่มตัว

สะท้อนจากข้อมูลของบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจสัญชาติจีน ออลวิวคลาวน์ ที่ระบุว่า เมื่อปี 2563 ยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านในจีนลดลงถึง 11% โดยกลุ่มหลักอย่างทีวีลดลง 12% เครื่องซักผ้าลดลง 6% และตู้เย็นลดลง 1% โดยเป็นการลดลงต่อเนื่องจากปี 2562

ทั้งนี้ เชื่อว่านอกจากปัจจัยจากสถานการณ์โรคโควิด-19 แล้ว ความจริงที่ปัจจุบันครัวเรือนจีนต่างมีสินค้าเหล่านี้กันแล้วเป็นอีกหนึ่งปัจจัยลบสำคัญที่ส่งผลต่อการลดลงนี้

สัญญาณเตือนสภาพการอิ่มตัวที่เกิดขึ้น กระตุ้นให้แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าสัญชาติจีนต้องรีบปรับยุทธศาสตร์โดยเฉพาะการเข้าควบรวม-ซื้อกิจการอื่นมาเสริมพอร์ตโฟลิโอ รวมถึงแตกไลน์ธุรกิจ-สินค้าให้หลากหลายยิ่งขึ้น โดย “ทีซีแอล” หนึ่งในผู้ผลิตทีวีรายใหญ่ของจีนที่ออกมาเคลื่อนไหวอย่างดุเดือดเพื่อรับมือกับเรื่องนี้

สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย รายงานถึงความเคลื่อนไหวของทีซีแอลว่า ยักษ์ทีวีสัญชาติจีนพยายามขยายพอร์ตสินค้าและฐานลูกค้านอกประเทศจีนด้วยการพยายามเทกโอเวอร์ “โอมาร์ แอปพลิแอนซ์” บริษัทผู้รับจ้างออกแบบ-ผลิตตู้เย็นรายใหญ่ของจีน เจ้าของฉายา “ฟ็อกซ์คอนน์แห่งวงการตู้เย็น” และเป็นผู้ส่งออกตู้เย็นรายใหญ่สุดของจีน ครองส่วนแบ่งมากกว่า 1 ใน 5 ของการส่งออกตู้เย็นทั้งหมด

โดยทีซีแอลทุ่มเม็ดเงินไปแล้วกว่า 1 พันล้านหยวน หรือประมาณ 4.83 พันล้านบาท เพื่อซื้อหุ้นของโอมาร์ฯผ่านทางทีซีแอล โฮม แอปพลิแอนซ์ กรุ๊ป ที่เป็นบริษัทลูก หวังรวบรวมหุ้นของโอมาร์ฯมาไว้ในครอบครองเพียงพอที่จะครอบงำกิจการจากการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ พร้อมส่งข้อเรียกร้องไปยังโอมาร์ฯให้จัดประชุมผู้ถือหุ้นสมัยวิสามัญเพื่อแต่งตั้งคนของตนเข้าไปนั่งในบอร์ดบริหาร

หากแผนนี้สำเร็จยักษ์ทีวีจะสามารถอุดจุดอ่อนของตนเองในเรื่องความไม่หลากหลายของสินค้าที่เดิมมีเพียงธุรกิจภาพและเสียงอย่างทีวีและการผลิตหน้าจอแอลซีดี ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นมีเพียงแอร์เท่านั้น และเข้าใกล้ความฝันที่จะก้าวขึ้นเป็นแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าครบวงจรที่จะทำให้ธุรกิจยืดหยุ่นยิ่งขึ้น สามารถรองรับดีมานด์สินค้าได้ทุกเซ็กเมนต์

หลังจากปีที่แล้วทีซีแอลมีกำไรเพิ่มขึ้นเพียง 1% เป็น 1.8 พันล้านฮ่องกงดอลลาร์ หรือประมาณ 7.28 พันล้านบาท แม้ยอดขายในตลาดสหรัฐและประเทศอื่น ๆ จะค่อนข้างดีจากดีมานด์ช่วงล็อกดาวน์ แต่ราคาขายที่ต่ำกว่าผู้เล่นรายอื่น ๆ ในตลาดมาก ส่งผลให้รายได้ไม่เติบโตมากนัก โดยบริษัทวิจัยออมเดียประเมินว่า ราคาขายเฉลี่ยของทีซีแอลช่วงไตรมาส 3 ปี 2563 ถูกกว่ารายใหญ่สัญชาติเกาหลีอย่างซัมซุงและแอลจีถึง 50%

ขณะเดียวกัน แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ ในจีนต่างเริ่มเคลื่อนไหวรับมือกับความท้าทายนี้ด้วยการเข้าซื้อกิจการในธุรกิจต่าง ๆ เช่นกัน อาทิ “ไฮเซ่นส์ฯ” ที่เลือกหันโฟกัสกลุ่มลูกค้าองค์กรหรือบีทูบี ซึ่งมีโอกาสสร้างกระแสรายได้ต่อเนื่องได้ดีกว่าลูกค้าทั่วไปหรือบีทูซี โดยได้ทุ่มเงิน 2.14 หมื่นล้านเยน หรือ 6.23 พันล้านบาท เข้าซื้อหุ้นใหญ่ 75% ในซันเด้น โฮลดิ้ง บริษัทสัญชาติญี่ปุ่น ผู้ผลิตระบบปรับอากาศในรถยนต์ รวมถึงเตรียมลอนช์ทีวีแบรนด์โตชิบาในตลาดอเมริกาเหนืออีกด้วย

ส่วน “ไมเดีย” หนึ่งในแบรนด์แอร์รายใหญ่ของจีนนั้น ขยายไลน์ธุรกิจไปยังวงการอื่นด้วยการเข้าซื้อหุ้น 29% ในบริษัทผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์สัญชาติจีน หลังจากก่อนหน้านี้เคยเข้าซื้อกิจการคูคา บริษัทสัญชาติเยอรมันผู้ผลิตหุ่นยนต์สำหรับใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมเมื่อปี 2560

ความเคลื่อนไหวเหล่านี้เป็นปรากฏการณ์ที่มีความคล้ายคลึงกับความเคลื่อนไหวของแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าญี่ปุ่นในช่วงยุคปี 2543-2553 ที่หลายแบรนด์ต้องปรับตัวรับมือกับการแข่งขันราคาดุเดือดกับแบรนด์เกาหลีและแบรนด์จีนที่เริ่มมาแรงในช่วงเวลานั้น แต่มีความแตกต่างในส่วนของไลน์ธุรกิจที่แบรนด์ญี่ปุ่นมักมีธุรกิจหลากหลาย เช่น เครื่องจักรอุตสาหกรรม หรือคอนเทนต์อยู่แล้ว ทำให้อาจไม่เห็นการปรับตัวที่หวือหวา ดุเดือด

ขณะที่แบรนด์จีนส่วนใหญ่มีเพียงธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับภาคครัวเรือนเท่านั้น จึงทำให้การแตกไลน์ธุรกิจด้านคอนเทนต์ในจีนดังกล่าวมีความท้าทายมากขึ้น เนื่องจากมีเจ้าตลาดอย่างยักษ์ไอที เทนเซ็นต์ ครองอยู่ ส่งผลให้นักวิเคราะห์คาดว่าการปรับตัวของวงการเครื่องใช้ไฟฟ้าแดนมังกรน่าจะคึกคักและดุเดือดยิ่งกว่า