อานิสงส์โควิดดันตลาดอุปกรณ์การแพทย์โต เซนต์เมดเร่งเปิดบริการให้เช่า

โควิดทำตลาดอุปกรณ์การแพทย์หมวดไอซียูบูมจัด บริษัทนำเข้าเครื่องมือแพทย์ “เซนต์เมด” เบนเข็มรุกธุรกิจให้เช่าอุปกรณ์ทางการแพทย์เพิ่ม ช่วยตอบโจทย์ความคุ้มค่า หลังภาครัฐ-เอกชนเริ่มปรับลดการสั่งซื้อ พร้อมทุ่มเงิน 100-150 ล้าน ตั้งศูนย์สลีปแลป หวังขยายฐานลูกค้า รพ.รัฐ

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีการเติบโตสูงเฉลี่ย 10.45% ต่อปี โดยเฉพาะปี 63 ที่มีทั้งปัจจัยโควิดและการทยอยเข้าสู่สังคมสูงวัยในหลาย ๆ ประเทศ หนุนให้มูลค่าตลาดปีที่แล้วสูงกว่า 237,322 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.กลุ่มส่งออก 158,653 ล้านบาท อาทิ วัสดุใช้แล้วทิ้งอย่างถุงมือยาง 2.กลุ่มนำเข้า 78,669 ล้านบาท เช่น เครื่องช่วยหายใจ เครื่องตรวจอวัยวะภายใน ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง เป็นต้น ในขณะที่ปี 62 มีมูลค่าตลาดรวมราว 176,104 ล้านบาท

อานิสงส์โควิด-สูงวัยเอื้อยอดขาย

ดร.วิโรจน์ วสุศุทธิกุลกานต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซนต์เมด จำกัด (มหาชน) ผู้นำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้มีความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์หมวดไอซียูสูงขึ้นเช่นเดียวกัน ประกอบกับการเข้าสู่สังคมสูงวัยในประเทศไทยทำให้มีอัตราการผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลมากขึ้น

จึงทำให้ในปีที่ผ่านมาเซนต์เมดมียอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 660.94 ล้านบาท จากปี 62 ที่มียอดขาย 618.63 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละ 14.29% โดยมีสัดส่วนรายได้หลักจากกลุ่มสินค้าด้านเวชบำบัดวิกฤตหรือกลุ่มไอซียู

รุกธุรกิจให้เช่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ ขยายฐานลูกค้าเพิ่ม

แม้โควิดจะมีผลกระทบเชิงบวกช่วยเพิ่มยอดขายสินค้าบางกลุ่ม แต่ขณะเดียวกันก็ส่งผลเสียต่อภาพรวมเศรษฐกิจ ทำให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเริ่มปรับลดการจำนวนการสั่งซื้อสินค้า เนื่องจากอุปกรณ์การแพทย์แต่ละชิ้นต้องใช้งบลงทุนเป็นจำนวนมาก

โดยเฉพาะห้องไอซียู 1 ห้อง ใช้เงินประมาณ 3-5 ล้าน ทำให้โรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลรัฐ ตลอดจนโรงเรียนแพทย์ เริ่มปรับตัวใช้โมเดลรูปแบบการเช่าอุปกรณ์การแพทย์มากกว่าการซื้อด้วยราคาที่สูงแต่ได้สินค้าจำนวนน้อยกว่า เช่น หากเป็นการซื้ออาจได้สินค้าบางกลุ่ม 4-5 ชิ้น ขณะที่การเช่าอาจได้สินค้ามาก 1-2 เท่าตัว ในจำนวนเงินเท่ากัน

“เซนต์เมดแม้จะเป็นบริษัทฯ ที่มียอดขายหลักจากการจำหน่ายอุปกรณ์ทางการแพทย์ แต่การแตกไลน์ธุรกิจให้เช่า จะสร้างรายได้สม่ำเสมอจากการเช่าอุปกรณ์การแพทย์วอลลุ่มใหญ่ 30-50 ตัว และพ่วงด้วยการขายบริการเสริมได้ ทั้งบริการซ่อมบำรุงหลังการขาย ไปจนถึงการขายอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการขยายฐานสู่กลุ่มลูกค้า รพ.ขนาดเล็ก หรือโรงพยาบาลที่อยากประหยัดงบประมาณลง”

ลงทุน 100-150 ล้าน ร่วมทุนทำศูนย์สลีปแลป

พร้อมกันนี้ เซนต์เมดได้เตรียมจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอภายในปี 64 พร้อมระดมเงินทุนส่วนหนึ่งราว 100-150 ล้านบาท ร่วมทุนกับกลุ่มโรงพยาบาลชั้นนำหลายแห่ง ดำเนินโครงการศูนย์ตรวจการนอนหลับ เนื่องจากปัจจุบันพบว่าคนไทยบางกลุ่มมีปัญหาเกี่ยวกับอันตรายจากการนอนกรนและหยุดหายใจในขณะนอนหลับมากขึ้น

เบื้องต้นได้จับมือกับศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ทำสัญญา 8 ปี เตรียมตั้งศูนย์สลีปแลปแห่งแรกในงบลงทุน 25 ล้านบาท/1 ศูนย์ จำนวน 4 เตียง จับกลุ่มลูกค้ามีปัญหาด้านการนอนหลับ โดยมีบุคลากรทางการแพทย์ช่วยดูแลและวิเคราะห์อาการอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ ยังขายอุปกรณ์การแพทย์หมวดการช่วยหายใจและเวชศาสตร์การนอนหลับให้แก่ผู้มาใช้บริการสลีปแลปที่สนใจนำเครื่องมือบางส่วนไปใช้ที่บ้าน