อย.คาดขึ้นทะเบียน “โมเดอร์นา” ได้ พ.ค.นี้

REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo

อย.คาดวัคซีนป้องกันโควิด “โมเดอร์นา” ขึ้นทะเบียนได้ พ.ค.นี้ ด้านอนุทิน หารือผู้แทนบริษัทนำเข้าวัคซีนโมเดอร์นา ยันไม่เคยกีดกัน แต่บริษัทวัคซีนไม่ขายให้เอกชนโดยตรงเอง พร้อมอัพเดตเอกชนซื้อวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนในไทยได้ทั้งแอสตร้าฯ ซิโนแวก จอห์นสันฯ ส่วนไฟเซอร์ โมเดอร์นา สปุตนิกวี ยังรอขึ้นทะเบียน

วันที่ 3 พฤษภาคม 2564 นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการองค์การอาหารและยา เปิดเผยความคืบหน้ากรณีการขึ้นทะเบียนวัคซีนป้องกันโควิด “โมเดอร์นา” มีรายละเอียดดังนี้ ขณะนี้บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ได้ยื่นเรื่องขอขึ้นทะเบียนวัคซีนโมเดอร์นา ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว ครบ 100% คาดว่าจะพิจารณาขึ้นทะเบียนได้ภายในเดือน พ.ค.

ส่วนวัคซีนตัวอื่น ๆ อาทิ สปุตนิกวี ได้มี บริษัท คินเจน ไบโอเทค จำกัด ที่ยื่นเอกสารเข้ามา แต่ยังส่งมาไม่ครบ อย่างไรก็ตาม แม้วัคซีนป้องกันโควิดแต่ละยี่ห้อจะผ่านการขึ้นทะเบียนในต่างประเทศแล้ว แต่เพื่อคุ้มครองประชาชน จึงต้องผ่านหลักเกณฑ์การพิจารณาจาก อย.ไทยเสียก่อน

ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเสริมว่า ภายหลังการหารือร่วมกับผู้แทนบริษัทนำเข้าวัคซีนโมเดอร์นา หรือบริษัทซิลลิค ฟาร์มา จำกัด เบื้องต้นมีความเข้าใจกันเป็นอย่างดี และทาง สธ.พร้อมสนับสนุนการขึ้นทะเบียนโมเดอร์นาอย่างเต็มที่ แต่ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของ อย.

“ทั้งนี้ ขอย้ำว่ารัฐบาลไม่ได้กีดกันวัคซีนทางเลือกใด ๆ สำหรับวัตถุประสงค์ที่บริษัทฯ ขอขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิดในไทย เนื่องจากเขาต้องการจำหน่ายให้แก่ รพ.เอกชน หรือภาคเอกชน ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการเจรจาในสัดส่วนของภาครัฐ”

อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทวัคซีนโมเดอร์นาได้แสดงความต้องการที่จะขายผ่านรัฐบาล หรือหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาลเท่านั้น โดยไม่ขายให้เอกชนโดยตรง ดังนั้น สธ. จึงยืนยันกับโมเดอร์นาว่า เมื่อเอกชนไม่สามารถซื้อได้ เพราะติดเงื่อนไขจากทางบริษัทผู้ผลิต สธ.ก็พร้อมให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นผู้นำเข้าวัคซีน แต่ภาคเอกชนต้องคอนเฟิร์มยอดการซื้อมาให้ อภ. เพราะ อภ.ไม่สามารถซื้อมาสต๊อกเพื่อรอให้เอกชนมาซื้อต่อได้อีกทอดหนึ่งได้

โดยขณะนี้มีวัคซีนที่เอกชนสามารถซื้อวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนในประเทศไทยได้ ดังนี้ แอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวก จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ส่วนที่รอขึ้นทะเบียนอยู่มีไฟเซอร์ โมเดอร์นา สปุตนิกวี ซึ่งถ้าเอกชนติดต่อซื้อตรงได้ก็ดี ถ้าซื้อยังไม่ได้ก็ซื้อผ่าน อภ.

ตอนนี้วัคซีนที่ใช้ทั่วโลกตอนนี้อยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ผู้ผลิตขึ้นทะเบียนจึงกล่าวว่า หากเกิดผลข้างเคียง ไม่สามารถเรียกร้องการชดใช้อะไรได้ เพราะฉะนั้นผู้ที่นำวัคซีนไปใช้ต่างรับสภาพอยู่แล้วว่านี่คือสถานการณ์ฉุกเฉิน

ดังนั้น การสั่งผ่าน อภ. ก็จะมีบันทึกข้อตกลงเช่นกันว่า อภ.เป็นผู้นำเข้าเท่านั้น หากการนำไปใช้เกิดผลข้างเคียง หรืออาการไม่พึงประสงค์จะไม่เป็นผู้รับผิดชอบ เอกชนที่นำไปใช้ต้องแจ้งต่อผู้มารับการฉีดวัคซีนให้ทราบ ในส่วนของภาครัฐจะมีมาตรา 41 ของ สปสช. ดูแลอยู่ แต่ไม่รู้ว่าครอบคลุมถึงเอกชนหรือไม่

สำหรับกรณีฉีดวัคซีนให้กับประชากรในประเทศไทยขณะนี้ ไม่มีกฎหมายบังคับให้ฉีด ตรงนี้เป็นสิทธิของประชาชน หากประสงค์รับวัคซีน รัฐก็มีวัคซีนให้ โดยชนิดวัคซีนก็อยู่กับจังหวะและวัตถุประสงค์ที่ขำเข้ามา อาทิ

ไฟเซอร์ เหมาะสำหรับกลุ่มเด็กอายุ 12-18 ปี ทั้งนี้ หากของไฟเซอร์มีมากพอก็พิจารณาให้กับกลุ่มอื่นได้ ส่วนซิโนแวกมีคุณสมบัติในเรื่องระยะห่างระหว่างเข็ม 1-2 ไม่ห่างกันมาก ดังนั้น บุคลากรการแพทย์ คนทำงานหน้าด่านที่อายุต่ำกว่า 60 ปี ก็ได้รับวัคซีนนี้ก่อน

ด้านแอสตร้าเซนเนก้าสามารถรับได้ตั้งแต่อายุ 18 ปี – กลุ่มผู้สูงอายุ สำหรับช่วงที่มีปริมาณจำกัด อาจขอให้กลุ่มคนอายุน้อยฉีดซิโนแวกก่อน แต่ ณ วันนี้ไฟเซอร์ก็ยังไม่เข้ามา เดือนหน้าก็มีแต่แอสตร้าฯ กับซิโนแวก ก็ต้องดูสถานการณ์ ดูความเหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง

ส่วนกรณีประชาชนไม่มีสิทธิเลือกชนิดวัคซีนเอง นายอนุทินกล่าวว่า มาจากไทยไม่ได้สั่งวัคซีนทุกชนิดเท่ากันหมด ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์และความเหมาะสม

และสำหรับกลุ่มบุคลากรการแพทย์ ที่เรียกร้องอยากฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เพราะมั่นใจประสิทธิภาพมากกว่า ขอยืนยันว่าตอนนี้บุคลากรฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 90% ส่วนใหญ่ฉีดซิโนแวก ที่มีการปลุกระดมในโซเชียลมีเดียนั้นก็ทำไป