ประยุทธ์ ระดมวัคซีน 200 ล้านโดส ไฟเซอร์มาแน่ ถึงไทยไตรมาส 3

Photo by JUSTIN TALLIS / AFP

นายกฯสั่งลุยเพิ่มวัคซีนโควิค มั่นใจไทยซื้อได้ 150 ล้านโดส “อนุทิน” ลั่นไฟเซอร์มาแน่ 20 ล้านโดส กรกฎาคมนี้ ด้านนายกสมาคม รพ.เอกชน แจงวัคซีนทางเลือก สั่ง “โมเดอร์นา” ผ่านองค์การเภสัชฯ 5 ล้านโดส เคาะโดสละ 2,000 บาท พร้อมประกัน ด้านหอการค้าฯร่อนจดหมายถึงซิโนฟาร์ม-สถานทูตจีน ทาบขอแบ่งวัคซีน ขณะที่ รพ.เอกชนสบช่องให้เจ้าหน้าที่จีบคนไข้ลงทะเบียนจองฉีดวัคซีนล่วงหน้า

ขณะนี้แม้ว่ากระแสความตื่นตัวและความต้องการวัคซีนโควิด-19 จะมีมากขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งกลับพบว่า จากกระแสข่าวและความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งการนำเข้าวัคซีนของภาครัฐเอง และการนำเข้าวัคซีนทางเลือกของเอกชน การโฆษณาและการเปิดจองวัคซีนผ่านสื่อออนไลน์ ฯลฯ กลายเป็นประเด็นที่ทำให้ประชาชนเกิดความสับสนยิ่งขึ้น

100 ล้านโดสบวกวัคซีนทางเลือก

นายแพทย์เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ในฐานะคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ชี้แจงเรื่องนี้ว่า ที่ผ่านมาการประชุมร่วมเอกชน 3 สถาบัน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย

โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีข้อสรุปชัดเจนว่า ภาครัฐจะหาวัคซีนมาให้ครบ 100 ล้านโดส จากเดิมที่วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า และซิโนแวก รวมกันประมาณ 65 ล้านโดส

โดยท่านนายกฯได้สั่งการให้เร่งเจรจาหาวัคซีนอื่น ๆ เพิ่้มเข้ามาให้ครบ 100 ล้านโดส ฉีดให้คนทั้งไทยและเทศที่อยู่ในประเทศไทย 50 ล้านคน เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ซึ่งที่อยู่ระหว่างการเจรจามีทั้ง จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย.แล้ว), ไฟเซอร์ (รอขึ้นทะเบียน) และสปุตนิก วี (รอขึ้นทะเบียน)

ส่วนที่นอกเหนือจาก 100 ล้านโดส รัฐบาลเปิดโอกาสให้สมาคมโรงพยาบาลเอกชน รวมถึงเอกชน หรือผู้ประกอบการอื่น ๆ ที่มีใบอนุญาตเป็นผู้นำเข้ายาหรือวัคซีน สามารถดำเนินการหาวัคซีนทางเลือกอื่น ๆ เข้ามาเพิ่มได้ สำหรับกรณีวัคซีนโมเดอร์นาที่จัดอยู่ในกลุ่มวัคซีนทางเลือกที่จะเป็นการนำเข้าโดยภาคเอกชน ตอนนี้ค่อนข้างมีความชัดเจนแล้ว

โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด อยู่ระหว่างการยื่นขอขึ้นทะเบียนวัคซีนโมเดอร์นา และคาดว่าน่าจะได้รับการอนุญาตภายในเดือนพฤษภาคมนี้

“กรณีโมเดอร์น่าจะเป็นการซื้อในนามของสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เป็นการสั่งซื้อผ่านองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับประชาชนที่มีความต้องการ นอกจากนี้ก็ภาคเอกชนยังมีความสนใจจะหาวัคซีนทางเลือกอื่น ๆ เข้ามาเพิ่ม เช่น ซิโนฟาร์ม วัคซีนเชื้อตายจากประเทศจีน (ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน) หรือในอนาคตอาจจะมีวัคซีนตัวอื่นเข้ามาเพิ่ม”

โดสละ 2,000 บาท+ประกัน

นายแพทย์เฉลิมยังกล่าวด้วยว่า สำหรับเรื่องของราคาวัคซีนทางเลือกที่ภาคเอกชนจัดหามาเพิ่มเติม เบื้องต้นเบ็ดเสร็จไม่น่าจะเกิน 2,000 บาท/โดส รวมค่าประกัน เพื่อลดความเสี่ยงจากกรณีที่เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์หลังฉีดในกรณีที่ต้องนอนโรงพยาบาลหรือเสียชีวิต สำหรับโมเดอร์น่าเบื้องต้นคาดว่าจะมีวัคซีนเข้ามาประมาณ 5 ล้านโดส แต่ยังไม่กำหนดเวลาการส่ง คาดว่าอาจจะเป็นช่วงไตรมาส 4

รพ.จีบคนไข้จองฉีดวัคซีน

พร้อมกันนี้ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนยังกล่าวถึงกรณีที่มีโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งมีการโฆษณาและเปิดให้ผู้สนใจลงทะเบียนจองวัคซีนโควิด-19 ผ่านเว็บไซต์ว่า ตามหลักแล้วไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เพราะในข้อเท็จจริง โรงพยาบาลนั้น ๆ ยังไม่มีวัคซีนอยู่ในมือเลย

แต่ไปโฆษณาประชาสัมพันธ์โดยไม่ได้ขออนุญาตจากหน่วยงานที่กำกับและดูแลในเรื่องนั้น ๆ ซึ่งเป็นความผิด ที่ผ่านมาได้ขอความร่วมมือไปยังทุกโรงพยาบาลให้ถอดเรื่องนี้ออกจากเว็บไซต์แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากความตื่นตัวในเรื่องของวัคซีนโควิดที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมานอกจากโรงพยาบาลเอกชนหลาย ๆ แห่งจะได้ทยอยทำการสำรวจปริมาณความต้องการฉีดวัคซีนโควิด-19 ด้วยการให้ผู้สนใจกรอกแบบสอบถามผ่านสื่อออนไลน์และเว็บไซต์ของตัวเองแล้ว ยังมีการส่งจดหมายไปยังบริษัท หน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย

เพื่อสอบถามถึงความต้องการวัคซีนด้วย ล่าสุดมีโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งใช้บุคลากรและเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล เป็นผู้ให้ข้อมูลให้คำแนะนำวัคซีนโควิดแทนกับผู้ป่วย หรือคนไข้ที่เข้าไปรักษาพยาบาล เพื่อชักชวนจูงใจให้จองการฉีดวัคซีนโควิดกับโรงพยาบาลไว้ก่อน

ไฟเซอร์ 20 ล้านโดส มา ก.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุถึงความคืบหน้าในการจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ หลังการเจรจากับผู้แทนบริษัทไฟเซอร์ว่า ประเทศไทยจะได้รับวัคซีนไฟเซอร์ 10-20 ล้านโดส ตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป และ อย.จะอำนวยความสะดวกการขึ้นทะเบียนวัคซีนไฟเซอร์ให้เร็วที่สุด

นายกฯสั่งระดมวัคซีนเพิ่ม

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวในรายการ PM PODCAST นายกรัฐมนตรี เล่าเรื่องผ่านเพจเฟซบุ๊กไทยคู่ฟ้า โดยช่วงหนึ่งระบุว่า

“…การระบาดของโควิด-19 ไม่น่าจะหายไปจากโลกนี้ได้โดยเร็ว เราต้องเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตตั้งแต่ตอนนี้ สิ่งที่เราต้องทำเรื่องแรกคือเราต้องเพิ่มจำนวนวัคซีนในมือของเราให้มากกว่านี้ วันนี้ตนสั่งการไปแล้วว่าประเทศไทยควรหาวัคซีนเพิ่มเติมให้เรามีถึง 150 ล้านโดสให้ได้หรือมากกว่านั้น แม้ว่าบางส่วนอาจจะส่งมอบให้เราในปีหน้าก็ตาม”

“ปัจจุบันเราได้ตั้งเป้าไว้ เดิมจัดซื้อวัคซีน 100 ล้านโดส เพื่อให้เพียงพอสำหรับฉีดให้ประชาชน 50 ล้านคน โดยหวังว่าจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ภายในประเทศได้ แต่ตนเองก็คิดว่าเท่านั้นยังไม่พอ นอกจากนั้นเราต้องมีวัคซีนเผื่อเอาไว้ให้เพียงพอเพื่อรองรับกับความเสี่ยงและความไม่แน่นอน อาจจะต้องมีวัคซีนถึง 150 ล้านโดส หรือ 200 ล้านโดสในระยะต่อไป แต่ก็ต้องคำนึงถึงอายุการใช้งานและสถานการณ์ในปีหน้าด้วย”  

ขณะที่ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลประชุมคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ที่มี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธานคณะทำงานว่า ที่ประชุมเห็นควรกำหนดให้วัคซีนโควิด-19 เป็นสินค้าควบคุม และสถานพยาบาลเอกชนควรคัดเลือกวัคซีนโควิด-19 ทางเลือกที่มีคุณลักษณะหรือยี่ห้อ แตกต่างจากวัคซีนที่ภาครัฐนำเข้ามา และสามารถจัดส่งวัคซีนได้ทันภายในปี 2564 รวมทั้งในอนาคตกรณีที่มีการวิจัยและผลิตวัคซีนโควิด-19 เพิ่มเติม ก็สามารถนำเสนอวัคซีนทางเลือกรายการอื่นเพิ่มเติมต่อไปได้

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังสรุปการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เพิ่มเติมสำหรับภาครัฐ ประกอบด้วย ไฟเซอร์, สปุตนิก วี และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน และในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของสถานพยาบาลเอกชนนั้น ที่ประชุมมีความเห็นว่า ควรเป็นวัคซีนโควิด-19 ในรายการอื่น ๆ ที่ไม่ได้ให้บริการโดยภาครัฐ และสถานพยาบาลของรัฐ เพื่อให้เป็นวัคซีนทางเลือกอย่างแท้จริง และไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกับภาครัฐ

เช่น โมเดอร์นา, ซิโนฟาร์ม หรือวัคซีนอื่นที่มีการขึ้นทะเบียนต่อไปในอนาคต โดยขอให้มีการควบคุมราคาการให้บริการในการฉีดวัคซีนทางเลือกให้กับประชาชนในสถานพยาบาลเอกชนให้สมเหตุสมผล มีราคาที่เหมาะสม รวมทั้งได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ช่วยผลักดันให้มีบริษัทผลิตและจัดจำหน่ายวัคซีนเข้ามาขึ้นทะเบียนในประเทศไทยให้เพิ่มมากขึ้น

ทำหนังสือถึงซิโนฟาร์ม

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ล่าสุดหลังจากที่หารือและได้รับคำแนะนำจากทางสถานทูตจีน หอได้ทำจดหมายถึงผู้ผลิตวัคซีนซิโนฟาร์ม และสำเนาถึงสถานทูตจีนประจำประเทศไทยแล้ว สาระสำคัญ เป็นการประสานว่า พอมีโอกาสหรือไม่ที่จะอนุญาตวัคซีนซิโนฟาร์มให้กับไทย นอกจากประเทศจีนแล้ว ยังประสานสหรัฐ และกระทรวงการต่างประเทศด้วย


ทั้งนี้ หอการค้าไทยจะไม่ทำหน้าที่ซื้อขาย แต่จะเป็นตัวเชื่อมให้กับองค์กรที่มีหน้าที่และได้รับ licence นำเข้า