ปั้น “ญี่ปุ่น” ฮับถ่ายหนัง โกยเม็ดเงินต่างชาติเข้าประเทศ

คอลัมน์ Market Move

การถ่ายทำภาพยนตร์นับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีเม็ดเงินหมุนเวียนมหาศาลและต่อเนื่อง อีกทั้งหากภาพยนตร์ประสบความสำเร็จ สถานที่ถ่ายทำยังกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญตามไปด้วย จึงไม่น่าแปลกใจที่รัฐบาลหลายประเทศ รวมถึงไทยเองจะพยายามหาช่องเข้าไปมีส่วนแบ่งในเม็ดเงินเหล่านี้บ้าง ซึ่งที่ผ่านมาหลายประเทศพยายามออกมาตรการต่าง ๆ มาดึงดูดกองถ่ายภาพยนตร์

ล่าสุดสำนักข่าว โยมิอุริ รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า รัฐบาลญี่ปุ่นเล็งออกมาตรการดึงดูดบรรดากองถ่ายภาพยนตร์จากต่างชาติให้เข้ามาใช้โลเกชั่นในประเทศ ตามรอยบรรดาโลเกชั่นยอดนิยมอย่างนิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย หวังผลแบบยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว ทั้งดึงเม็ดเงินจากต่างชาติเข้ามาหนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศ พร้อมสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ จากโลเกชั่นของภาพยนตร์ไปพร้อมกัน

โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษามาตรการแบบเดียวกันของประเทศและภูมิภาคต่าง ๆ รวมกว่า 14 แห่ง อาทิ สหรัฐอเมริกา ที่เป็นฐานหลักของภาพยนตร์น้อย-ใหญ่หลายเรื่อง และนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์อย่าง “เดอะ ลอร์ด ออฟ เดอะ ริงส์” รวมถึงฟีดแบ็กของกองถ่ายที่เข้าร่วมโครงการ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

แหล่งข่าวเดียวกันยังได้เปิดเผยโรดแมปของแผนการว่า รัฐบาลญี่ปุ่นจะเร่งสรุปผลการศึกษาได้ภายในเดือน ก.พ. 2561 ก่อนจะเริ่มหารือเกี่ยวกับรายละเอียดของการสนับสนุนที่จะมาใช้จริง และจะลงมติให้ทันก่อนสิ้นปีงบฯ 2560 (เม.ย. 2560-มี.ค. 2561) เพื่อประกาศใช้ในปีงบฯ 2562

ทั้งนี้ที่ผ่านมา หน่วยงานท้องถิ่นของญี่ปุ่นหลายแห่งได้ออกนโยบายหนุนการถ่ายทำภาพยนตร์ รายการทีวี ในพื้นที่ของตนเองกันอยู่แล้วตั้งแต่ปี 2543 ไม่ว่าจะเป็นการกันพื้นที่สำหรับถ่ายทำ จัดหาบุคลากรด้านต่าง ๆ รวมถึงอินเซนทีฟ แต่นับเป็นครั้งแรกที่จะมีนโยบายจากรัฐบาลกลางออกมา จนปัจจุบันตัวเลขของสมาคมภาพยนตร์ญี่ปุ่นระบุว่า มีโครงการเหล่านี้มากถึง 307 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม นโยบายเหล่านี้ยังถือว่าด้อยกว่าของต่างชาติอยู่มาก เนื่องจากหน่วยงานท้องถิ่นมีข้อจำกัดหลายด้าน จึงไม่สามารถให้อินเซนทีฟได้สูงนัก เมื่อเทียบประเทศอื่นที่ยกประเด็นนี้เป็นนโยบายระดับชาติ ตัวอย่างเช่น นิวซีแลนด์ ซึ่งเริ่มนโยบายดึงดูดกองถ่ายภาพยนตร์ต่างชาติตั้งแต่ปี 2543 และตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา รัฐบาลนิวซีแลนด์ตั้งเงื่อนไขว่า จะออกเงินอุดหนุนการถ่ายทำภาพยนตร์สูงถึง 20% ของค่าใช้จ่าย เมื่อกองถ่ายใช้เงินในประเทศอย่างน้อย 15 ล้านนิวซีแลนด์ดอลลาร์ หรือประมาณ 10.3 ล้านเหรียญสหรัฐ และอุดหนุนเพิ่มอีก 5% หากคาดว่าภาพยนตร์เรื่องนั้น ๆ จะช่วยสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ อาทิ การท่องเที่ยว หรือสินค้าต่าง ๆ เพิ่มเติมได้

โดยหนึ่งในภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์จากฮอลลีวูดที่เข้าเงื่อนไขนี้ คือ “เดอะ ลอร์ด ออฟ เดอะ ริงส์” ที่นอกจากจะใช้โลเกชั่นถ่ายทำทั้ง 3 ภาคแล้ว ยังทำให้สถานที่ถ่ายทำอย่าง หมู่บ้านฮอบบิต กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ดึงดูดเหล่าแฟนภาพยนตร์-หนังสือที่ต้องการมาเดินทางตามรอย

เช่นเดียวกับออสเตรเลีย ซึ่งเป็นโลเกชั่นของภาพยนตร์ “เดอะ เมทริกซ์” นั้น รัฐบาลมีนโยบายอุดหนุนบริษัทสัญชาติออสเตรเลียที่เลือกถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศ โดยลดหย่อนภาษี 16.5% ของค่าใช้จ่ายในการถ่ายทำ ซึ่งต้องไม่ต่ำกว่า 15 ล้านออสเตรเลียนดอลลาร์ คิดเป็นประมาณ 11.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนแคนาดานั้น รัฐบาลให้ส่วนลดทางภาษีสูงสุด 16% ของค่าแรงที่กองถ่ายจ่ายให้กับบุคลากรชาวแคนาดา โดยมีมูลค่าอย่างน้อย 1 ล้านแคนาเดียนดอลลาร์ หรือประมาณ 7.7 แสนเหรียญสหรัฐ

หลังจากนี้ต้องรอดูกันว่า นโยบายของญี่ปุ่นจะมีหน้าตาอย่างไร และจะสามารถดึงดูดบรรดาสตูดิโอภาพยนตร์จากฮอลลีวูดและประเทศอื่น ๆ ได้มากน้อยแค่ไหน