“พานาโซนิค” เดินหน้าเต็มสูบ เร่งสปีดจับลูกค้าองค์กร

MARKET MOVE

หลังจากการเดินหน้าปรับโครงสร้างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2555 หรือเกือบ 1 ทศวรรษ

ล่าสุด “พานาโซนิค” ยักษ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมสัญชาติญี่ปุ่น เตรียมเข้าเกียร์เดินหน้าทำธุรกิจแบบเชิงรุกเต็มตัวอีกครั้ง โดยครั้งนี้ตั้งเข็มมุ่งจับลูกค้าองค์กรธุรกิจในฐานะผู้พัฒนาโซลูชั่น หลังการปรับโครงสร้างขั้นสุดท้ายแล้วเสร็จ

สำนักข่าว “นิกเคอิ เอเชีย” รายงานถึงความเคลื่อนไหวของ “พานาโซนิค” ว่า ยักษ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ประกาศคาดการณ์ผลการดำเนินงานของปีงบฯ 2564 (เม.ย. 64-มี.ค. 65) แบบทะเยอทะยานเป็นพิเศษ ด้วยการมีกำไรสุทธิ 2.1 แสนล้านเยน หรือประมาณ 6 หมื่นล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 27% เช่นเดียวกับกำไร จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 28% เป็น 3.3 แสนล้านเยนหรือ 9.4 หมื่นล้านบาท ส่วนยอดขายเติบโต 4.5% มาอยู่ที่ 7 ล้านล้านเยน ซึ่งคิดเป็นเงินบาทที่ 2 ล้านล้านบาท

แม้ผลประกอบการในปีงบฯ 2563 ที่ผ่านมาจะไม่สวยหรูนัก โดยมีกำไรสุทธิ 1.65 แสนล้านเยน ลดลง 27% ส่วนยอดขายลดลง 11% เหลือ 6.7 ล้านล้านเยน

อย่างไรก็ตาม “คาซูฮิโระ ซูกะ” อดีตประธานบริษัทพานาโซนิค ที่เพิ่งลงจากตำแหน่งไปเมื่อ 31 มีนาคมที่ผ่านมา กล่าวในการแถลงข่าวออนไลน์เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ตอนนี้บริษัทกำลังพยายามขยับไปสู่การทำธุรกิจเชิงรุกเต็มที่อีกครั้ง ด้วยการปรับโครงสร้างส่วนต่าง ๆ ให้เสร็จสมบูรณ์

ขณะที่ “ยูคิ คูซูมิ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และว่าที่ประธานบริษัทคนใหม่ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงที่ผลักดันแผนรุกลูกค้าองค์กร ด้วยการก้าวขึ้นเป็นผู้พัฒนา-ขายโซลูชั่นธุรกิจ

หนึ่งในการปรับโครงสร้างล่าสุด คือ การควบรวมฐานการผลิตทีวีจากเดิม 7 แห่ง ให้เหลือ 4 แห่ง ซึ่ง “ฮิโรคาสุ อุเมดะ” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน ระบุว่า ฐานการผลิต 4 แห่งนี้ จะประกอบด้วยมาเลเซีย, ไต้หวัน, สาธารณรัฐเช็ก และบราซิล ด้วยการปิดสายการผลิตในญี่ปุ่น, เวียดนามและอินเดียลง

สอดคล้องกับรายงานข่าวก่อนหน้านี้ว่า ยักษ์อิเล็กทรอนิกส์พยายามเอาต์ซอร์ซการผลิตทีวีรุ่นระดับแมสและกลางไปให้โรงงานของแบรนด์อื่น ๆ อาทิ ทีซีแอล ผู้ผลิตทีวีรายใหญ่สุดของโลก เพื่อโฟกัสทรัพยากรให้กับสินค้าระดับไฮเอนด์ ซึ่งพานาโซนิคย้ำว่า ยังไม่มีการตัดสินใจอย่างเป็นทางการในเรื่องนี้

การเดินหน้าปรับโครงสร้างธุรกิจทีวี แม้ปีงบฯที่แล้วจะสามารถกลับมาทำกำไรได้อีกครั้ง สะท้อนถึงทิศทางใหม่ของพานาโซนิค ที่สลัดภาพเจ้าตลาดทีวีในอดีต รวมถึงการมุ่งสร้างกำไรเป็นหลัก และวางเรื่องส่วนแบ่งตลาดเป็นเป้าหมายรอง ขณะเดียวกัน พานาโซนิคเร่งเครื่องเดินหน้าไปสู่ธุรกิจโซลูชั่น ทั้งด้วยการทุ่มเงินถึง 7.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเข้าซื้อบลู ยอนเดอร์ (Blue Yonder) บริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์บริหารจัดการซัพพลายเชน เมื่อปลายเดือนเมษายน และเป็นดีลเข้าซื้อกิจการใหญ่ที่สุดของบริษัทในรอบ 10 ปี เพื่อพยายามรุกเข้าสู่ธุรกิจการพัฒนา-ขายโซลูชั่นให้ลูกค้าองค์กรธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นค้าปลีกหรืออุตสาหกรรมยานยนต์

หลังจากปีที่แล้วบรรลุข้อตกลงลงทุนขยายกำลังผลิตของจิกะ แฟกตอรี่ โรงงานแบตเตอรี่ที่ร่วมทุนกับเทสล่าสร้างขึ้นในรัฐเนวาดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่สามารถมีกำไรได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดินสายการผลิตเมื่อปี 2560 และคาดว่าจะสามารถทำกำไรได้ประมาณ 2 หมื่นล้านเยนในปีนี้

นอกจากนี้ ยักษ์อิเล็กทรอนิกส์ยังครองตำแหน่งผู้นำในการพัฒนาแบตเตอรี่รูปแบบใหม่ ซึ่งมีชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า 4680 ที่เทสล่าประกาศเปิดตัวไปเมื่อปีที่แล้ว พร้อมระบุว่าจะช่วยให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าจับต้องง่ายขึ้น หากพานาโซนิคได้รับเลือกให้เป็นผู้ผลิตจะกลายเป็นอีกแหล่งรายได้สำคัญ

ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของพานาโซนิคกล่าวว่า บริษัทมีกำหนดทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพของแบตเตอรี่รุ่นใหม่ที่บริษัทพัฒนาขึ้นในเร็ว ๆ นี้แล้ว


ต้องรอดูว่า แผนการรุกสร้างรายได้จากลูกค้าองค์กรของพานาโซนิค จะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน และจะทำให้ภาพลักษณ์และทิศทางของยักษ์อิเล็กทรอนิกส์เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง