“ศรีนานาพร” เพิ่มดีกรีบุก ตปท. ปูพรมสินค้ากัญชาดันเป้าหมื่นล้าน 5 ปี

“ศรีนานาพรฯ” ปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ สลัดภาพธุรกิจครอบครัว ดึงมืออาชีพเสริมทัพ เข้าตลาดหุ้นระดมทุนบุกธุรกิจในไทย-ต่างประเทศ ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนยอดขายต่างประเทศเป็น 70% ทุ่มลงทุน 600 ล้าน ตั้งโรงงานลุยตลาดเวียดนาม ประกาศเดินหน้ารุกตลาดเครื่องดื่มและสแน็กเต็มสูบ เตรียมเปิดตัวสินค้ากัญชา “เครื่องดื่ม-สแน็ก-เยลลี่” รับกระแสฟีเวอร์ ตั้งเป้ายอดขายทะลุหมื่นล้าน ใน 5 ปี

นายวิโรจน์ วชิรเดชกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SNNP ผู้ผลิตและจำหน่ายขนมขบเคี้ยว เช่น เยลลี่พร้อมดื่ม เครื่องดื่ม ปลาหมึก ปลาเส้น ขนมปังขาไก่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้มีการปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจใหม่ ด้วยการสลัดภาพธุรกิจครอบครัวและดึงมืออาชีพเข้ามาบริหารงาน จากเดิมที่ดำเนินธุรกิจมานานกว่า 30 ปี ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเดินหน้ารุกตลาดเครื่องดื่มและสแน็กมากขึ้น รวมถึงเป็นการเตรียมความพร้อมในการจะนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

และคาดว่าจะสามารถเข้าจดทะเบียนได้ในช่วงไตรมาส 3 นี้ และเงินที่ได้จากการระดมทุนจะช่วยปรับโครงสร้างทางการเงินของบริษัทให้มีความเข้มแข็ง เพื่อสร้างความพร้อมในการรุกตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มและขนมขบเคี้ยว และขยายการลงทุนในประเทศเวียดนาม

“ทั้งนี้ ศรีนานาพรฯแบ่งการทำงานออกเป็น 3 เฟส เพื่อก้าวสู่ตลาดอินเตอร์มากขึ้น ได้แก่ เฟสแรกเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา เป็นการเริ่มปรับโครงสร้างทางธุรกิจครั้งใหญ่ เฟส 2 คือ การเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯที่กำลังจะเกิดขึ้นในไตรมาส 3 นี้ และเฟส 3 คือ การกรุยทางการทำงานสู่ระบบอินเตอร์ที่จะเป็นการต่อยอดจากฐานการทำงานในต่างประเทศของบริษัท”

เพิ่มดีกรีบุกเวียดนาม

นายวิโรจน์กล่าวต่อไปว่า แผนงานดังกล่าวจะถูกดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ การสร้างความแข็งแกร่งของสินค้าและผลิตภัณฑ์, การวิจัยและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ, การเพิ่มความแข็งแกร่งของช่องทางการจำหน่าย ที่บริษัทมีศูนย์กระจายสินค้ารวม 11 แห่ง ครอบคลุมทุกภูมิภาค สามารถกระจายสินค้าถึงกลุ่มร้านค้า ทั้งค้าปลีกและค้าส่งมากกว่า 70,000 รายทั่วประเทศ รวมถึงการสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งเพื่อต่อยอดขยายตลาดไปสู่ระดับภูมิภาคมากขึ้น เพื่อเป็นการสร้างการเติบโตจากสถานการณ์โควิด-19 และสร้างการเติบโตในอนาคต เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการมีรายได้ 1 หมื่นล้านบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยจะเพิ่มมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเป็น 70% จากปัจจุบันที่มีอยู่ 30%

สำหรับแนวทางการดำเนินในตลาดต่างประเทศ บริษัทมีแผนจะขยายตลาดเพิ่มอย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบันที่มีการส่งออกไปยัง 35 ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียน อาทิ เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา ลาว รวมถึงจีน และตามแผนการดำเนินงาน หลังจากที่นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯแล้ว บริษัทเตรียมจะเปิดโรงงานแห่งใหม่ในเวียดนาม เบื้องต้นมีที่ดินเตรียมไว้แล้ว คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2565 หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย

โรงงานนี้เฟสแรกจะลงทุน 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (กว่า 420 ล้านบาท) และเฟส 2 ลงทุน 6 ด้านดอลลาร์สหรัฐ (กว่า 180 ล้านบาท) สำหรับผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์เจเล่ และเบนโตะ เพื่อรุกตลาดเวียดนาม เพื่อเป็นการลดต้นทุนขนส่ง จากปัจจุบันที่ต้องนำเข้าสินค้าจากไทย

“การแพร่ระบาดของโควิดที่เกิดขึ้น ทำให้แผนการก่อสร้างชะลอออกไปก่อน หากโรงงานในเวียดนามแล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและทำให้มีความได้เปรียบในการทำตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนการดำเนินงานและต้นทุนค่าขนส่งที่ลดลง”

เตรียมบุกสินค้ากัญชา

รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ศรีนานาพรฯกล่าวต่อไปว่า ส่วนตลาดในประเทศบริษัทมีแผนเดินหน้ารุกตลาดเครื่องดื่มและสแน็กอย่างเต็มที่ โดยมีแผนจะทยอยเปิดตัวสินค้าใหม่เพิ่มอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี รวมถึงการเตรียมเปิดตัวสินค้าใหม่จากกัญชงกัญชาใน 3 หลุ่มหลัก ทั้งเครื่องดื่ม สแน็ก และเยลลี่ เพื่อให้สอดรับกับกระแสกัญชาที่ได้รับความนิยมมากขึ้น โดยจะมีทั้งการเปิดแบรนด์ใหม่และต่อยอดจากแบรนด์เดิมที่มีอยู่ เพื่อรองรับกระแสกัญชาที่ได้รับความนิยม

โดยขณะนี้บริษัทมีความพร้อมทั้งตราสินค้า บรรุจภัณฑ์ ไว้แล้วทั้งหมด รอเพียงภาครัฐประกาศและออกใบอนุญาตให้จำหน่ายได้ บริษัทก็จะมีสินค้าลงไปทำตลาดทันที คาดว่าหลังจากโควิดผ่านพ้นไป สินค้าจากกลุ่มกัญชง-กัญชา จะเป็นอีกหนึ่งเซ็กเมนต์ที่มาแรงมากและช่วยสร้างการเติบโตให้กับบริษัทได้ในอนาคต

นอกจากนี้ยังเตรียมทุ่มงบฯการตลาดอย่างเต็มที่ สำหรับแบรนด์ที่เป็นเรือธง โดยเฉพาะเจเล่-เบนโตะ-ขาไก่โลตัส-น้ำดื่มวิตามิน อควาวิทซ์ บาย เจเล่ โดยในส่วนของเจเล่ และเบนโตะ ได้เตรียมงบประมาณการตลาดราว 5-7% ของยอดขายเพื่อสร้างการเติบโต ทั้งออนไลน์และออฟไลน์มากขึ้น หลังปีที่ผ่านมาได้มีการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับสถานการณ์โควิด-19 ทั้งการบริหารจัดการต้นทุนลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต เพื่อหาแนวทางในการลดต้นทุน ควบคู่กับการใช้ความแข็งแกร่งของตราสินค้าในการสร้างแคมเปญเพื่อกระตุ้นตลาด

ขณะที่น้ำดื่มวิตามิน อควาวิทซ์ บาย เจเล่ หลังมีการเปิดตัวในปีที่ผ่านมา ถือเป็นอีกหนึ่งสินค้าดาวรุ่งของบริษัท ก็มีการเติบโตติด 1 ใน 5 ของผู้นำตลาดในช่องทางคอนวีเนี่ยนสโตร์ โดยแผนงานในปีนี้ได้เตรียมงบประมาณราว 20-30% ของยอดขายในการเดินหน้าทำตลาด

การปรับตัวหนุนสิ้นปีโต 20%

นายวิโรจน์ย้ำในตอนท้ายว่า เนื่องจากบริษัทสินค้าที่หลากหลายทั้งกลุ่มขนมขบเคี้ยวและเครื่องดื่ม อีกด้านหนึ่งก็ช่วยกระจายความเสี่ยงให้กับธุรกิจได้ในระดับหนึ่ง โดยตลอดปีที่ผ่านมา มีการออกแคมเปญใหม่ ๆ เพื่อกระตุ้นยอดขายอย่างต่อเนื่อง หลังจากกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของแบรนด์เบนโตะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศลดลง ทำให้บริษัทต้องปรับกลยุทธ์หันมาเจาะฐานลูกค้าในประเทศมากขึ้น ผ่านแคมเปญ work from home นำเบนโตะมาทานคู่กับอาหารอื่น ๆ เช่น ข้าวต้ม, ข้าวเหนียว เอาไปทำเป็นยำ ซึ่งก็ได้รับกระแสตอบรับที่ดี

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าขณะนี้เศรษฐกิจในประเทศยังยังไม่ดี เม็ดเงินต่าง ๆ ในระบบไม่มีมากนัก เนื่องจากประชาชนชะลอการจับจ่าย ทำให้แผนการทำตลาดส่วนใหญ่ยังคงโฟกัสไปที่แบรนด์หลัก เนื่องจากเป็นแบรนด์ที่ติดตลาดอยู่แล้ว และสามารถสร้างรายได้กลับมาให้บริษัทได้มากกว่า เมื่อเทียบกับการปั้นแบรนด์ใหม่สภาวการณ์ที่ไม่แน่นอนเช่นนี้

“ปีที่ผ่านมา แม้ผลประกอบการของบริษัทจะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 แต่ถือว่ายังดีกว่าภาพรวมของตลาดและผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน คือ มีรายได้รวม 4,435 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 6.5% จากปี 2562 ที่มีรายได้รวม 4,748 ล้านบาท ส่วนปีนี้แม้สถานการณ์โควิดจะยังไม่คลี่คลาย แต่จากการปรับกลยุทธ์ด้านต่าง ๆ คาดว่าจะช่วยให้มีการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ไม่ต่ำกว่า 20%” นายวิโรจน์กล่าว

ปัจจุบันศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง มีทุนจดทะเบียน 480 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 960 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท เป็นทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว 360 ล้านบาท และจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 240 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นไม่เกินร้อยละ 25 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัท ภายหลังการเสนอขายในครั้งนี้