“เดอะมอลล์” ฮึดปลุกกำลังซื้อ “วัคซีน-ท่องเที่ยว” กุญแจฟื้นเศรษฐกิจ

ซูเปอร์มาร์เก็ต

เดอะมอลล์ชี้โควิดกระทบกำลังซื้อประเทศอ่วม แนะพลิกโรดแมปประเทศปรับนโยบายการท่องเที่ยว-เพิ่มสินค้าใหม่ดึงเม็ดเงินจากต่างชาติแทนการท่องเที่ยวดั้งเดิม ชี้วัคซีนคือหัวใจสำคัญเร่งฟื้นคืนเศรษฐกิจประเทศ ล่าสุดผนึกรัฐ-เอกชน-6 ธนาคารใหญ่ เปิดโครงการ “ประสานพลังเพื่อคู่ค้า เดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจ” จัดซอฟต์โลนดอกเบี้ยต่ำ สินเชื่อฟื้นฟู หนุนผู้ประกอบการ และพันธมิตรทางธุรกิจ ช่วยเอสเอ็มอีรายย่อย 6,000 ราย เดินหน้าภารกิจฟื้นเศรษฐกิจไทย

นางสาวศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ผู้บริหารศูนย์การค้าเดอะมอลล์ ดิ เอ็มโพเรียม ดิ เอ็มควอเทียร์ และพารากอน ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ เปิดเผยในงานสัมมนา “ประสานพลังเพื่อคู่ค้า เดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจ” ว่า การระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและกำลังซื้อทั่วโลกและลากยาวมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา มองว่าเปรียบเสมือนสงครามโลกครั้งที่ 3 ที่ทุกภาคส่วนจะต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกันให้ผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้

โดยสถานการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจและกำลังซื้อนับจากนี้ไปประเมินว่า ต้องอาศัยเรื่องความชัดเจนในการบริหารจัดการเรื่องวัคซีนที่ต้องกระจายให้ทั่วถึงและเป็นไปตามกำหนดการ 100 ล้านโดส ที่รัฐบาลวางไว้สิ้นปีนี้ก็จะสามารถฟื้นการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศได้เร็วขึ้น และหลังจากนั้นเศรษฐกิจเมื่อผ่านไปได้ก็จะเติบโตแบบก้าวกระโดด

“ถ้าวัคซีนเข้ามาได้ในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. 64 และกระจายในจุดบริการฉีดวัคซีนทั้ง 25 แห่งในกรุงเทพฯได้ตามกำหนดการที่วางแผนไว้ แม้จะมีจำนวนโดสไม่ครบตามความต้องการแบบ 100% แต่เชื่อว่าหากสามารถนำเข้าและกระจายได้ส่วนหนึ่งก่อนก็จะสามารถเพิ่มอารมณ์การจับจ่ายในประเทศได้ ซึ่งอนาคตกำลังซื้อภายในประเทศนับจากนี้ขึ้นอยู่กับวัคซีนเป็นหลัก”

ประธานกรรมการบริหาร บริษัทเดอะมอลล์ย้ำว่า สถานการณ์การระบาดของโควิดในปัจจุบันกระทบกำลังซื้อเป็นอย่างมากและรุนแรงกว่ายุค IMF หรือวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อช่วงปี 2540 เนื่องจากในเหตุการณ์วิกฤตครั้งก่อนกระทบเพียงผู้ประกอบการภาคธนาคารเรื่องค่าเงินที่ผันผวน และกลุ่มผู้ที่กู้เงินจำนวนมากเท่านั้น แต่ว่ายังมีนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการผลักดันรายได้ในประเทศยังสามารถเดินทางเข้ามาปกติ ทำให้หลายธุรกิจยังสามารถเดินหน้าไปได้ แต่ว่าวิกฤตการระบาดของโควิด-19 เป็นผลกระทบโดยตรงที่เกิดขึ้นกับการค้าขายและกำลังซื้อเป็นหลัก ทำให้ต้องมีการรวมกำลังกันทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อฟื้นเศรษฐกิจอย่างจริงจัง

“ในมุมกลับกันแม้เศรษฐกิจตั้งแต่ระดับกลาง-ล่างจะชะลอตัว เนื่องจากตลาดดังกล่าวกลุ่มประชาชนจำเป็นต้องระมัดระวังเรื่องการจับจ่ายจากโบนัสที่ลดลง หรือรายรับที่เข้ามาน้อยลง แต่ทว่า ในกลุ่มสินค้าที่เจาะตลาดบน (พรีเมี่ยมแบรนด์) ที่มีราคาสูงกลับได้รับความนิยมและมียอดขายที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก เนื่องจากกลุ่มลูกค้าระดับบนที่มีกำลังซื้อไม่สามารถเดินทางไปจับจ่ายในต่างประเทศได้ ทำให้หันมาช็อปปิ้งและซื้อสินค้าหรูในประเทศแทนเพื่อผ่อนคลาย”

ปลุกท่องเที่ยวฟื้นเศรษฐกิจ

นางสาวศุภลักษณ์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศจะยังค่อนข้างชะลอตัว แต่ทว่า ประเทศไทยก็จำเป็นต้องมองอนาคตและการฟื้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะในเรื่องของการดึงภาคการลงทุนจากต่างประเทศ และการดึงเม็ดเงินต่างชาติ
ให้เข้ามาจับจ่ายในไทย เพื่อฟื้นเศรษฐกิจประเทศผ่านการท่องเที่ยวให้มากที่สุด ปีนี้ถือเป็นปีที่ต้องอดทนอดกลั้นเพื่อประคองตัวเองให้ผ่านช่วงวิกฤตไปก่อน จากนั้นปี 2565 จะเป็นปีที่เริ่มคลานได้ ก่อนจะเริ่มเดินไปข้างหน้า และวิ่งทะยานไปข้างหน้าในที่สุด นั่นคือสเต็ป
การฟื้นเศรษฐกิจของประเทศไทยในโลกยุคหลังโควิด

สำหรับแนวทางการเดินหน้าประเทศไทยภายหลังการระบาดของโควิดผ่านพ้นไป (post-COVID-19) มองว่านโยบายในการขับเคลื่อนประเทศด้านการท่องเที่ยวคือเรื่องใหญ่ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวและบริการเป็นหลัก ดังนั้น นับจากนี้จะต้องมีการปรับบทบาทใหม่ (repositioning tourism) ของภาคท่องเที่ยวในไทย โดยให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศเน้นจับจ่ายเพื่อการท่องเที่ยวมากขึ้น แทนที่การเข้ามาใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพียงอย่างเดียวเหมือนในอดีต

นอกจากนี้ ยังต้องหันมาพัฒนาสินค้าหรือโปรดักต์ทางการท่องเที่ยวใหม่ ๆ ในประเทศ เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายจากกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพิ่มเติม เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีการพัฒนาสินค้าเพื่อป้อนตลาดในการดึงเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเท่าที่ควร

“การฟื้นเศรษฐกิจประเทศที่เหลือขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถเปิดประเทศได้เมื่อไร และการเปิดภูเก็ตแซนด์บอกซ์ว่าจะเป็นไปตามกำหนดการในเดือน ก.ค.นี้หรือไม่ ซึ่งหากยืดเยื้อออกไปก็น่าจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมีตัวแปรสำคัญอยู่ที่ความเร็วในการกระจายการฉีดวัคซีนในประเทศ ซึ่งหากทำได้ตามโรดแมปที่วางไว้เชื่อว่าในช่วงไตรมาส 4/64 นี้จะเป็นช่วงเวลาที่สามารถสร้างสรรค์กิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากที่สุด”

ผนึก 6 แบงก์ยักษ์อุ้ม SMEs

นางสาวศุภลักษณ์กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ การระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นยังส่งผลกระทบไปยังเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงผู้ประกอบการในระบบทั้งรายเล็ก-ใหญ่โดยเฉพาะในกลุ่มเอสเอ็มอีให้ได้รับผลกระทบอย่างหนัก และแม้ปีนี้เดอะมอลล์จะไม่มีกำไร แต่ขอเดินหน้าเป็นตัวกลางในการประสานเพื่อช่วยเหลือคู่ค้า ร้านค้ารายย่อยด้วยมาตรการความช่วยเหลือในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ 4 มาตรการหลักประกอบด้วย

1.มาตรการรณรงค์ “ฉีดวัคซีน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ด้วยการร่วมมือกับเอกชนทุกภาคส่วน สนับสนุนภาครัฐเพื่อให้การฉีดวัคซีนโควิด-19 เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและเร่งด่วนด้วยงบประมาณกว่า 200 ล้านบาท สนับสนุนพื้นที่ 6 สาขา ได้แก่ เดอะมอลล์ บางกะปิ, เดอะมอลล์ บางแค, ดิ เอ็มโพเรียม และสยามพารากอน, เดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ งามวงศ์วาน, เดอะมอลล์ โคราช โดยจะดำเนินการระหว่างเดือนพฤษภาคม-ธันวาคม 2564 ร่วมกับกรุงเทพมหานคร, จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดนครราชสีมา คาดว่าจะบริการฉีดวัคซีนได้วันละ 2,000-5,000 คน/สาขา รวมทุกสาขา 12,000 คน/วัน หรือ 400,000 คน/เดือน

2.มาตรการ “บริจาค ฟันฝ่าวิกฤตการณ์โควิด-19” ด้วยการรวมบริจาค “เงิน” และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างดำเนินการบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์และเครื่องช่วยหายใจรวมมูลค่า 10 ล้านบาท และรวมมูลค่าทั้งโครงการทั้งสิ้น 30 ล้านบาท พร้อมทั้งสนับสนุนการบริจาคแก่หน่วยงานต่าง ๆ

3.มาตรการ “สนับสนุน SMEs และเกษตรกรไทย” ด้วยการเปิดมาตรการช่วยเหลือภาคเกษตรกรรมและเปิดพื้นที่เดอะมอลล์ทุกสาขาตลอดทั้งปี เป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้าเพื่อช่วยระบายสินค้าภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรมแปรรูป ภาควิสาหกิจชุมชน OTOP ตลอดจน SMEs โดยได้นำร่องด้วยโครงการตลาดคัดไทย, เดอะมอลล์ ตลาดรวมใจ, THE MALL TOGETHER MARKET, เดอะมอลล์บ้านของคนโคราช ฯลฯ

และ 4.มาตรการ “ประสานพลังเพื่อคู่ค้า เดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจ” ผนึกกำลังภาครัฐและเอกชนร่วมกับสถาบันการเงิน 6 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย กรุงเทพ ไทยพาณิชย์ กสิกรไทย กรุงศรีอยุธยา และออมสิน ร่วมเป็นพันธมิตรเพื่อสนับสนุนสินเชื่อฟื้นฟู soft loan และเพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้เข้าถึงสินเชื่อฟื้นฟูเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย และรักษาการจ้างงานเพื่ออนาคตเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างยั่งยืน

โดยวางเป้าจะดูแลช่วยเหลือคู่ค้า ผู้ประกอบการ ร้านค้า และผู้ประกอบการรายย่อย รวมกว่า 6,000 ราย พร้อมเดินหน้าเป็นตัวกลางในการประสานระหว่างทุกกลุ่ม เพื่อให้กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบทั่วประเทศให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่จะช่วยพยุงธุรกิจให้ฟื้นคืน และพยุงให้ผ่านสถานการณ์นี้ไปได้