สมรภูมิเว็บคอมิกเดือด 2 ยักษ์ไอทีเกาหลีชิงบัลลังก์เบอร์ 1

market move

 

นับตั้งแต่ เว็บคอมิก (Webcomic) ซึ่งเป็นการ์ตูนที่ถูกสร้างเพื่ออ่านบนเว็บไซต์หรือสมาร์ทโฟนโดยเฉพาะปรากฏขึ้นในเกาหลีใต้เมื่อช่วงปี 2543 ผ่านมาจนปัจจุบัน สื่อบันเทิงชนิดนี้ได้รับความนิยมจนเติบโตก้าวกระโดด

จากข้อมูลของ Korea Creative Content Agency ตลาดเว็บคอมิกในเกาหลีใต้เติบโตจาก 5.8 แสนล้านวอนในปี 2559 มาเป็น 1 ล้านล้านวอน หรือประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาทเมื่อปี 2562 รวมถึงยังขยายฐานผู้อ่านออกไปจนถึงสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นอีกด้วย

การเติบโตก้าวกระโดดและมูลค่ามหาศาลนี้ทำให้ 2 ยักษ์ของวงการ คือ คาเคา (Kakao) และ นาเวอร์ (Naver) กำลังแข่งขันชิงบัลลังก์เบอร์ 1 ของตลาดเว็บคอมิกโลกกันอย่างดุเดือด

โดยเฉพาะการทุ่มซื้อกิจการผู้ให้บริการในต่างประเทศ เพื่อเป็นใบเบิกทางรุกเข้าสู่ตลาดโลกตะวันตกและกลุ่มผู้ใช้ภาษาอังกฤษ

ล่าสุด สำนักข่าว “นิกเคอิ เอเชีย” รายงานว่า ทั้งคาเคา และนาเวอร์ต่างควักกระเป๋าทุ่มเงินซื้อกิจกรรมผู้ให้บริการเว็บคอมิกในสหรัฐอเมริกา และแคนาดา

โดยนาเวอร์ทุ่มงบฯ 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.87 หมื่นล้านบาท ซื้อกิจการ “วัตตแพด” ผู้ให้บริการเว็บคอมิกในแคนาดา และคาดว่าจะปิดดีลได้ภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มฐานผู้ใช้งานหน้าใหม่อีก 90 ล้านคน จากกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ

ความเคลื่อนไหวนี้ไปในทิศทางเดียวกับคาเคา ที่พยายามรุกเข้าหาผู้ใช้งานที่ใช้ภาษาอังกฤษ ด้วยการเข้าซื้อกิจการเช่นกัน โดยคาเคาเตรียมซื้อกิจการผู้ให้บริการเว็บคอมิก 2 รายในสหรัฐอเมริกา คือ ทาพาส มีเดียร์ และราดิช มีเดีย

แม้ยักษ์สื่อบันเทิงเกาหลีใต้จะไม่เปิดเผยตัวเลขผู้ใช้งานที่ชัดเจน แต่ระบุคร่าว ๆ ว่าอยู่ระหว่าง 30-40 ล้านบัญชี ส่วนใหญ่อยู่ในเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้บริษัทพยายามขยายฐานไปสู่ตลาดสหรัฐอเมริกาผ่านการเข้าซื้อกิจการ

ไม่เพียงแค่ 2 ยักษ์เกาหลี แต่ยักษ์อีคอมเมิร์ซสัญชาติสหรัฐ “อเมซอน” พยายามพัฒนาแพลตฟอร์มเว็บคอมิกของตนด้วยเช่นกัน

นอกจากการหาฐานผู้ใช้งานเพิ่มแล้ว ยักษ์เว็บคอมิกยังเดินหน้าต่อยอดคอนเทนต์ในมือไปยังรูปแบบอื่น ๆ เช่น แอนิเมชั่น และภาพยนตร์อีกด้วย โดยเมื่อปีที่แล้วนาเวอร์ย้ายหน่วยธุรกิจเว็บเว็บตูนไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อโปรโมตการบุกเข้าสู่แพลตฟอร์มโทรทัศน์และโรงภาพยนตร์

ที่สำคัญทั้งนาเวอร์และคาเคายังเตรียมนำธุรกิจเว็บคอมิกเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

จากการประเมินของบริษัทหลักทรัพย์ในเกาหลีใต้ทั้ง 2 บริษัท มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านเยน หรือราว 2.84 แสนล้านบาท

สำหรับเหตุผลเบื้องหลังกระแสนิยมเว็บคอมิกนั้นเกิดจากรูปแบบที่พัฒนาขึ้นมาสำหรับอ่านบนจอขนาดเล็กของอุปกรณ์พกพาอย่างสมาร์ทโฟนโดยเฉพาะ เช่น การอ่านจากบนลงล่าง เป็นหน้าสีทั้งหมด และง่ายต่อการแปลเป็นภาษาอื่น ๆ แตกต่างจากการ์ตูนมังกะของญี่ปุ่นหรือคอมิกของตะวันตกที่มีพื้นฐานจากการอ่านบนหนังสือและอ่านจากขวาไปซ้ายหรือซ้ายไปขวา ตามรูปแบบการเขียนของแต่ละภาษา

นอกจากนี้ นาเวอร์ยังมีจุดเด่นที่การเปิดให้ผู้ใช้งานสามารถอัพโหลดและเผยแพร่ผลงานบนแพลตฟอร์มได้อย่างอิสระในลักษณะเดียวกับการโพสต์คลิปวิดีโอบนยูทูบ ช่วยให้ผลงานคอมิกบนแพลตฟอร์มหลากหลาย โดยจากผู้สร้างผลงานมากกว่า 7 แสนคน มี 2.3 พันคน ที่ได้รับการรับรองว่าเป็นนักวาดอาชีพ และได้รับส่วนแบ่งรายได้จากยอดผู้อ่าน

จากข้อมูลของนาเวอร์ระบุว่า นักวาดมืออาชีพมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 300 ล้านวอนต่อปี หรือประมาณ 8.4 ล้านบาทต่อปี ขณะที่รายได้ของแพลตฟอร์มทั้งนาเวอร์ และคาเคาอยู่ที่ 5 หมื่นล้านเยน หรือประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท เติบโต 4 เท่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

แม้จะเติบโตสูง แต่ด้วยประชากรของเกาหลีใต้ที่มีเพียง 50 ล้านคน ทำให้ต้องมุ่งขยายตลาดออกสู่ต่างประเทศอย่างเลี่ยงไม่ได้

เช่นเดียวกับสื่อบันเทิงรุ่นพี่อย่างละครภาพยนตร์ และเพลง K-pop ที่กำลังส่งวง BTS ไปโลดแล่นในโลกตะวันตก

“ฮันซอง-ซุก” ประธานของนาเวอร์ เคยกล่าวถึงเป้าหมายของบริษัทไว้ว่า เราจะเป็นแพลตฟอร์มที่ดึงดูดผู้ใช้และผู้สร้างคอนเทนต์จากทั่วทุกมุมโลก และกลายเป็นยูทูบของวงการคอมิก ที่ผู้ใช้สามารถดูและแชร์ผลงานได้อย่างอิสระ

จากความเคลื่อนไหวนี้แสดงถึงความร้อนแรงของวงการเว็บคอมิกที่เติบโตเป็นธุรกิจสื่อระดับหมื่นล้าน

ต้องจับตาดูทั้งทิศทางของ 2 ยักษ์ประจำวงการ และความเคลื่อนไหวของญี่ปุ่น เจ้าตลาดการ์ตูนในภูมิภาคเอเชีย ว่าจะรับมือกระแสนี้อย่างไร