สมาคมผู้ค้าปลีกจี้รัฐ เสริมสภาพคล่อง-แก้ระบบใช้สิทธิ “ยิ่งใช้ยิ่งได้”

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ชี้โควิดระลอก 3 ทุบดัชนีเชื่อมั่นค้าปลีกไทยอ่วม ผู้ประกอบการกว่า 40% เหลือสภาพคล่องไม่ถึง 6 เดือน และต้องลดการจ้างงานไปแล้วมากกว่า 25% ยื่น 4 ข้อเสนอจี้รัฐเยียวยา หลังมาตรการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” อาจไม่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายเท่าที่ควรเนื่องจากใช้ร่วมกับบัตรเครดิตได้ยาก

วันที่ 4 มิถุนายน 2564 นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า จากการประเมินผลกระทบต่อยอดขาย กำลังซื้อ การจ้างงานและสภาพคล่องต่อการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าผู้ประกอบการกว่า 29% ต้องปรับลดการจ้างงาน หรือปรับลดชั่วโมงการทำงานรวมถึงลดค่าธรรมเนียมการขาย เพื่อพยุงธุรกิจให้อยู่รอด หลังยอดจับจ่ายและใช้บริการลดลงไป 25% ในช่วงที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการ 41% ยอมรับว่า ช่วงที่ผ่านมาลดการจ้างงานลงไปมากกว่า 25% แล้ว ส่วนอีก 38% บอกว่า จะพยายามยื้อสภาวะการจ้างงานเดิม แต่คงได้อีกไม่นาน ไปในทิศทางเดียวกับสภาพการเงินของธุรกิจซึ่งผู้ประกอบการ 39% ระบุว่า มีเงินทุนหมุนเวียนบริหารจัดการได้อีกไม่เกิน 6 เดือน ในจำนวนนี้ 8% กล่าวว่า มีสภาพคล่องเหลือเพียงแค่ 1-3 เดือนเท่านั้น

แม้รัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นการจับจ่าย “ยิ่งใช้ยิ่งได้” แต่ผู้ประกอบการ 38% คาดว่า จะไม่ได้ผลมากนัก เพราะมีกลไกการใช้จ่ายซับซ้อน ไม่เหมาะกับผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายที่นิยมจับจ่ายด้วยเครดิตการ์ด

พร้อมกันนี้รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ยังได้เสนอข้อเสนอต่อภาครัฐ ให้เร่งรัดใน 4 เรื่อง ได้แก่

1.เร่งรัดแผนกระจายการฉีดวัคซีนให้ทั่วถึงเพื่อฟื้นความเชื่อมั่นในการจับจ่ายผู้บริโภค

2.เร่งรัดมาตรการเยียวยาช่วยจ่ายค่าแรงพนักงาน 50% แก่ร้านค้าที่ได้รับผลกระทบจากการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ตามประกาศภาครัฐ

3.เร่งรัดธนาคารพาณิชย์ประสานงานกับห้างค้าปลีกพิจารณาสินเชื่อ Soft Loan แก่คู่ค้า-ซัพพลายเออร์ระดับ Micro SME ตามโมเดล Sand Box สมาคมผู้ค้าปลีกไทย

4.เสนอให้ปรับแต่งกลไกเอื้อให้ผู้ที่ลงทะเบียนใช้สิทธิ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” สามารถใช้เครดิตการ์ดจับจ่ายเพิ่มเติมจาก G-Wallet ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายของโครงการที่นิยมจับจ่ายสินค้าด้วยเครดิตการ์ดมากกว่าเงินสด