ปิดผับบาร์ทุบเหล้านอกทรุด ค่ายใหญ่แห่ซบโมเดิร์นเทรดชิงพื้นที่ขาย

ปิดร้านอาหาร ผับบาร์ กระทบตลาดแอลกอฮอล์ 3.2 แสนล้าน ติดลบ 20-30% ผู้ประกอบการดิ้นปรับตัวหันมาเพิ่มน้ำหนักช่องทางซื้อกลับบ้าน off premise หวังบาลานซ์ความเสี่ยง-เพิ่มยอด ลุ้นปูพรมฉีดวัคซีน-เปิดภูเก็ต Sandbox ช่วยฟื้นธุรกิจ ขณะที่ “อินดิเพนเดนท์ ไวน์ฯ” ยักษ์ใหญ่นำเข้าไวน์ สุราจากต่างประเทศ ปรับแผนลุยส่งสินค้าขายโมเดิร์นเทรด รับการแข่งดุ ประกาศชูหัวหอก 4 แบรนด์เรือธง บาร์คาร์ดี้-บอมเบย์-เดวาร์ สก๊อตช์ วิสกี้-เกรย์ กูส วอดก้า ชิงยึดพื้นที่โมเดิร์นเทรด

นายธนากร คุปตจิตต์ เลขาธิการสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย หรือ TABBA เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การระบาดของโควิดระลอก 3 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา และกระทบต่อธุรกิจและบุคคลที่เกี่ยวข้องมากมาย พนักงาน นักดนตรี นักร้อง เชฟ ร้านค้า สถานบันเทิงต่าง ๆ ทั้งห่วงโซ่ เนื่องจากธุรกิจแอลกอฮอล์ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการดำเนินธุรกิจหลายอย่าง ทั้งร้านอาหาร โรงแรม สถานที่ท่องเที่ยว

โดยแนวโน้มการเติบโตของตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปีนี้น่าจะลดลงหรือติดลบ 20-30% จากปี 2563 ที่มีมูลค่าอยู่ราว 3.2 แสนล้านบาท หรือเหลือเพียง 2.6-2.7 แสนล้านบาท หรือหายไปราว 5-6 หมื่นล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดที่รุนแรงและขยายวงกว้างไปหลายคลัสเตอร์ โดยตัวแปรสำคัญคือ การจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวและผู้บริโภคที่มีความระมัดระวังและชะลอการจับจ่าย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่เป็นชาวต่างชาติที่ส่งผลกระทบต่อตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่องทาง on premise หรือร้านอาหาร สถานบันเทิง ผับบาร์ ชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด

เบนเข็มบุก Off Premise

นอกจากนี้ การแพร่ระบาดและร้านอาหารผับบาร์ถูกสั่งห้ามจำหน่ายและนั่งทานภายในร้าน ส่งผลให้ภาพรวมตลาดเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้ประกอบการหลาย ๆ รายหันมาทำตลาดในช่องทาง off premise หรือช่องทางที่เป็นการซื้อกลับไปกินที่บ้านมากขึ้น เช่น ร้านสะดวกซื้อ โมเดิร์นเทรด ร้านค้าทั่วไป ส่งผลให้ปัจจุบันตลาดแอลกอฮอลล์มีสัดส่วนจาก on premise ลดลงเหลือ 30% และ off premise 70% จากสถานการณ์ปกติที่สัดส่วนของ on premise ร้านอาหาร สถานบันเทิง กับช่องทาง off premise ร้านสะดวกซื้อ โมเดิร์นเทรด จะมีสัดส่วนที่เท่ากัน คือ 50 : 50

นายธนากรกล่าวด้วยว่า ขณะนี้แม้หลายรายจะเข้ายึดพื้นที่ขายในโมเดิร์นเทรด แต่เชื่อว่าภาพรวมจะยังไม่ฟื้นตัวกลับมาในเร็ว ๆ นี้ เนื่องจากในภาพรวมยังมีปัญหาเรื่องกำลังซื้อและอารมณ์การจับจ่ายที่ยังไม่กลับมา และอาจจะต้องรอถึงช่วงเดือนกันยายน หรือหลังการฉีดวัคซีนคืบหน้าได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังของช่องทาง on premise ก็ขึ้นอยู่กับโครงการที่รัฐบาลกำลังจะดำเนินการ เช่น ภูเก็ต Sandbox และจะได้ขยายต่อไปในเมืองท่องเที่ยวหรือหัวเมืองที่สำคัญที่จะเริ่มในเดือนกรกฎาคมนี้ และหากการปูพรมฉีดวัคซีนเป็นไปตามแผนก็เชื่อว่าไตรมาสสุดท้าย หรือตั้งแต่ตุลาคมเป็นต้นไปสถานการณ์น่าจะคลี่คลายมากขึ้น

“ตลาดแอลกอฮอล์อยู่ได้เพราะนักท่องเที่ยวและกิจกรรมเป็นส่วนสำคัญในการช่วยให้ธุรกิจเติบโต โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มีกำลังซื้อและการจับจ่ายมากกว่าลูกค้าชาวไทย ผลกระทบยาวมาตั้งแต่ปี 2562 เทรดวอร์การจับจ่ายใช้สอยทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ และโควิดระลอกแรกเริ่มส่งผลกระทบ โดยเห็นชัดเจนในปี 2563, ปี 2564 รุนแรงหนัก รวดเร็ว ติดง่าย รุนแรง และขยายวงกว้างมากขึ้น มองว่าอีก 2 สัปดาห์เป็นต้นไปจากการเริ่มฉีดวัคซีนอย่างจริงจัง ถ้าเป็นไปตามแผนในเดือนตุลาคมช่องทาง on premise ที่เหลืออยู่ 30% ก็จะสามารถสร้างการเติบโตได้ ซึ่งการดีดกลับมาเติบโตไม่ใช่แค่เพียงช่องทางสถานบันเทิงเท่านั้น

หากแต่หมายรวมถึงช่องทางร้านอาหารที่กลับมาเปิดให้บริการได้ตามปกติ นั่นจะเป็นตัวช่วยในการฟื้นธุรกิจได้เป็นอย่างดี เนื่องจากร้านอาหารก็ต้องการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านเพื่อเพิ่มกำไรหลังจากขาดทุนมานาน”

จัดทัพลุยโมเดิร์นเทรด

นายวิชญ์ กัน ผู้จัดการผ่ายผลิตภัณฑ์สินค้า บริษัท อินดิเพนเดนท์ ไวน์ แอนด์ สปิริต (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายไวน์ระดับพรีเมี่ยมทั้งในประเทศไทยและภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ เหล้าบ๊วยโชยะ, ไวน์นำเข้า, เครื่องดื่ม บาร์คาร์ดี้ และวิสกี้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แผนงานหลังการระบาดของโควิดระลอก 3 บริษัทได้มีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด โดยเน้นกระจายสินค้าในช่องทางโมเดิร์นเทรดมากขึ้นทั้งในกลุ่มสปิริต ไวน์ และวิสกี้ โดยจะเน้นการทำตลาดช่องทางเทรดออฟและเทรดิชั่นนอลเทรดมากขึ้น

“การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ช่องทางโมเดิร์นเทรดมีการแข่งขันสูงขึ้น ทำให้บริษัทต้องมีวิธีการทำตลาดเพื่อรองรับการแข่งขันดังกล่าว ทั้งการคำนวณเรื่องราคาและกำไรที่แตกต่างจากช่องทางร้านอาหาร ผับบาร์ทั่วไป รวมถึงเรื่องกำลังซื้อที่ลดลงเข้ามาเป็นปัจจัยหลักในการปรับแผนงานและการทำตลาดนับจากนี้”

นอกจากนี้ ยังจะมีการรีดีไซน์เหล้าบ๊วยโชยะ (CHOYA) ใหม่ จากขวดเขียว ฝาขาว เป็นรูปแบบสีทอง ในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. เนื่องจากที่ผ่านมาตลาดเหล้าบ๊วยในช่องทางโมเดิร์นเทรดมีการแข่งขันกันสูงในตลาด และหากภายในสิ้นปีสถานการณ์กลับมาปกติ บริษัทมีการเตรียมพร้อมอีเวนต์ตลอดทุกเดือนในทุกช่องทางการขายเพื่อกระตุ้นการจับจ่าย ซึ่งการปูพรมฉีดวัคซีนและภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ คือโอกาสสำคัญของการฟื้นฟูธุรกิจให้เติบโต ภาคการท่องเที่ยวกลับมา โดยเตรียมต่อยอดกิจกรรมตามเมืองต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทั้งภูเก็ต สมุย พัทยา และเชียงใหม่ เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายของนักท่องเที่ยว

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาบริษัทยังได้รับสิทธิในการทำตลาดบาร์คาดี้ในประเทศไทย และเป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งให้พอร์ตโดยจะมีการปรับรูปแบบการทำตลาดจากเดิมที่แบรนด์บาร์คาร์ดี้เน้นเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวสู่การทำตลาดที่เจาะกลุ่มคนไทยมากขึ้น เพื่อทดแทนยอดขายที่หายไปในช่วงโควิด นอกจากนี้ ยังจะโฟกัสการทำตลาดไป 4 แบรนด์ 1.บาร์คาร์ดี้ 2.เหล้ายิน บอมเบย์ แซฟไฟร์ 3.เดวาร์ สก๊อตช์ วิสกี้ และ 4.วอดก้า เกรย์ กูส

นายภัทร์ ไทรเล็กทิม ผู้อำนวยการฝ่ายขาย บริษัท อินดิเพนเดนส์ ไวน์ แอนด์ สปิริต (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนยอดขายจากช่องทางเพิ่มเป็นโมเดิร์นเทรด 60% จากช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่มีเพียง 20% จากอดีตที่สัดส่วนช่องทางโฮเรก้าและโฮลเซลมีมากกว่า 60% ทั้งนี้ เป็นผลจากการปรับตัวเพื่อรุกตลาดมากขึ้น

“ช่วงโควิดปรับตัวด้วยการให้ร้านอาหารสามารถซื้อ take away กลับบ้านได้ในราคาที่เท่ากับช่องทางโมเดิร์นเทรด เพื่อรองรับพฤติกรรมการซื้อกลับบ้านในภาวะที่โควิดยังไม่คลี่คลาย”

อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าปีนี้ตลาดรวมยังไม่ฟื้นเนื่องจากตลาดแอลกอฮอล์ในส่วนของ on premise อยู่ได้ด้วยนักท่องเที่ยวในสัดส่วน 30-40% ซึ่งโควิดที่เกิดขึ้นส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวหายไปหลักสิบล้านคนไม่สามารถทดแทนยอดขายที่หายไปได้ จึงต้องรอปัจจัยบวกในการเปิดประเทศ ภาคการบินที่จะต้องกลับมาปกติก่อนจึงจะสามารถฟื้นตลาดได้

ด้านแหล่งข่าวผู้บริหารระดับสูงที่คร่ำหวอดในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย แสดงความเห็นเกี่ยวกับการแข่งขันของแบรนด์ยักษ์ใหญ่ในตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่า ปัจจุบันภาพรวมตลาดวิสกี้ในช่องทางโมเดิร์นเทรดได้รับผลกระทบใน 2 ส่วน ทั้งจากการที่ผู้เล่นหลายรายเริ่มหันมาทำตลาดในช่องทางนี้มากขึ้น หลังจากช่องทางที่เป็นร้านอาหาร ผับบาร์ไม่สามารถนั่งดื่มในร้านได้ และจากมาตรการที่ไม่สามารถนั่งสังสรรค์รวมกลุ่มก็ส่งผลให้วิสกี้นั้นหดตัวลงอย่างชัดเจน

โดยผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เป็นเบอร์ 1-2 ในตลาดวิสกี้เริ่มปรับตัวด้วยการลดการกระจายสินค้าลง และสต๊อกสินค้านำเข้าเพื่อรอจังหวะเวลาตลาดฟื้นในการกลับมาทำตลาดอีกครั้ง และหันมาวางเป้าหมายยอดขายใหม่ในสภาวะที่ตลาดซบเซา