“บีเจซี” ลงทุนรับเศรษฐกิจดีดกลับ ทุ่ม 7 พันล้านปูพรมสาขาบิ๊กซี

“บีเจซี” กางแผนสู้พิษโควิดระลอกใหม่ หลัง Q1/64 กำไรลด 20.8% ประกาศลงทุนต่อ ทุ่มงบฯ 7 พันล้าน ปูพรมบิ๊กซีสารพัดโมเดล สร้างประสบการณ์ช็อปปิ้งครอบคลุมทุกพื้นที่ เดินหน้างัดโปรดักต์เพิ่มความหลากหลาย พร้อมจัดโซนสินค้าพรีเมี่ยม-เฟรชฟู้ด เพิ่มความสดใหม่ ลุยอัดแคมเปญโฆษณาทีวี ดึงทราฟฟิกเข้าศูนย์ เผย Q2 ยังน่าห่วง คาดเริ่มเห็นสัญญาณบวกใน Q4

นางสาวรวิภา บุญอยู่ นักลงทุนสัมพันธ์อาวุโส บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 ที่เกิดขึ้น มีผลต่อภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ชะลอตัว ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น กระทบต่อภาพรวมการดำเนินธุรกิจของกลุ่มธุรกิจบีเจซี ที่ประกอบไปด้วยธุรกิจแพ็กเกจจิ้ง หลัก ๆ มาจากกลุ่มแก้วและกระป๋อง ที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากลูกค้าบางส่วนในประเทศเมียนมา ตามด้วยธุรกิจคอนซูเมอร์

แม้จะได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่อ่อนตัวลง แต่ยังมีการทำตลาดต่อเนื่อง ที่ผ่านมามีการออกสินค้าใหม่ ๆ เช่น เทสโต ซิกเนเจอร์ โปเตโต้ชิปส์ สตรอว์เบอรี่ และเทสโต รสสาหร่ายแซลมอน และได้ซื้อเครื่องจักรใหม่ เพิ่มกำลังผลิตทิสชู 27,000 ตันต่อปี ซึ่งนอกจากเพิ่มกำลังการผลิตแล้ว ยังช่วยเพิ่มคุณภาพสินค้า และลดสินค้าเสียหายได้เช่นกัน

เช่นเดียวกับกลุ่มบิ๊กซี ที่อยู่ในพอร์ตธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติที่ออกมาจับจ่ายลดลง อีกทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ทั้งคนละครึ่ง และเราชนะ ส่งผลให้ผู้บริโภคหันไปใช้จ่ายผ่านร้านค้าแบบดั้งเดิมมากขึ้น เนื่องจากกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกสมัยใหม่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการดังกล่าว และในส่วนรายได้ค่าเช่า กระทบจากการให้ส่วนลดค่าเช่ากับผู้เช่าในช่วงการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้น

ส่วนกลุ่มธุรกิจเวชภัณฑ์ ยังมีการเติบโตของยอดขายจากสินค้าเวชภัณฑ์ แม้ได้รับผลกระทบจากความต้องการสินค้าเวชภัณฑ์บางกลุ่มที่ลดลง เช่น ยารักษาโรคจากการติดเชื้อโดยทั่วไป เนื่องจากการรักษาระยะห่างและการรักษาสุขอนามัยของประชาชนที่สูงขึ้น รวมถึงยอดขายของร้านขายยาเพรียว ตามห้างสรรพสินค้าก็ลดลงเช่นกัน

สำหรับผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2564 บริษัทมีรายได้รวม 35,616 ล้านบาท ลดลง 6,712 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 15.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจบรรจุภัณฑ์ 4,571 ล้านบาท ลดลง 9.3% ธุรกิจอุปโภคบริโภค 4,971 ล้านบาท ลดลง 10.9% ธุรกิจเวชภัณฑ์ 1,926 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.4% และธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ 22,022 ล้านบาท ลดลง 18.3% ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 1012 ล้านบาท ลดลง 20.8% จะเห็นว่าวิกฤตโควิดกระทบหลายกลุ่ม

ยกเว้นกลุ่มเวชภัณฑ์ที่ยังเติบโตได้ ซึ่งมองว่าโควิดรอบ 3 ยังกระทบกับบริษัทในไตรมาส 2 ซึ่งคาดการณ์ไม่ได้ว่าภาครัฐจะควบคุมสถานการณ์ให้ดีขึ้นได้เมื่อไหร่ แต่ถ้าให้มองระยะยาว คาดการณ์ว่าในไตรมาส 4 สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลาย และได้รับการผ่อนปรนมากขึ้น บริษัทก็จะเริ่มเห็นสัญญาณบวกในทุกกลุ่มธุรกิจ

นางสาวรวิภากล่าวถึงกลยุทธ์และแผนการดำเนินงานว่า บริษัทยังคงโฟกัสธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ที่เป็นสัดส่วนรายได้หลัก โดยปี 2564 เตรียมงบฯลงทุนประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาท เพื่อขยายสาขาบิ๊กซีและใช้ในการปรับปรุงสาขาขนาดใหญ่ โดยการขยายสาขามีทุก ๆ โมเดล แบ่งเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ต 2 สาขา ตามด้วยมินิบิ๊กซี 100 สาขา ดีโป้ 4 สาขา และเตรียมเปลี่ยนบิ๊กซี มาร์เก็ต ในบางสาขา ให้เป็นบิ๊กซี ฟู้ดเพลส อีก 3 สาขา โดยเริ่มทยอยเปิดบริการในปลายไตรมาส 3-4 เป็นต้นไป ส่วนสาขาที่เตรียมรีโนเวตและปรับพื้นที่บิ๊กซี ทั้งการทำฟูลอินโนเวชั่น จะเริ่มจากสาขาพระราม 2 สาขาสำโรง 1 และจังหวัดกระบี่

นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญในการสร้างประสบการณ์การช็อปปิ้งให้ลูกค้า ที่ผ่านมาบิ๊กซีได้เก็บข้อมูลลูกค้า นำมาวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อนำโปรดักต์เข้ามาตอบโจทย์ให้มากที่สุด ตลอดจนการจัดโซนสินค้าพรีเมี่ยมมากขึ้น โดยก่อนหน้านี้บิ๊กซีได้พัฒนาแบรนด์แฮปปี้ไพรซ์ และแฮปปี้ไพรซ์โปร ชูจุดเด่นสินค้าราคาคุ้มค่า มีประสิทธิภาพในการใช้งานระดับพรีเมี่ยม หาซื้อได้เฉพาะบิ๊กซี และจากนี้จะทยอยเพิ่มโปรดักต์ให้หลากหลายมากขึ้น พร้อมวิเคราะห์โปรดักต์กลุ่มขายดีและไม่ดีเพื่อนำมาจัดวางบนเชลฟ์ให้มองเห็นง่ายขึ้น โดยใช้พฤติกรรมลูกค้าในแต่ละพื้นที่เป็นตัวกำหนด รวมถึงยังได้จัดโซนเฟรชฟู้ด เพิ่มความสดใหม่ของสินค้า เชื่อว่าการปรับโซนครั้งนี้จะช่วยดึงให้ลูกค้ามาเดินมากขึ้น จากการโปรโมตแคมเปญที่เห็นได้ตามช่องทางโฆษณาทีวีและออนไลน์

ด้านช่องทางขายออนไลน์ หรือออมนิแชนเนล ปัจจุบันอัตราการขายออนไลน์ถือว่ายังน้อย ประมาณ 1% ต่อยอดขายรวม โดยไตรมาส 1 สถานการณ์โควิดผลักดันให้ช่องทางออนไลน์เติบโต 40% และมาจากการเพิ่มจำนวนสินค้า และเข้าไปร่วมเป็นพาร์ตเนอร์กับแพลตฟอร์มอื่น ๆ ให้เข้าถึงลูกค้าได้ครอบคลุม

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมทั้งปี บริษัทยังเชื่อว่าทุกกลุ่มธุรกิจยังสร้างการเติบโตในแง่ของยอดขายได้ ทั้งกลุ่มแพ็กเกจจิ้ง ที่มีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เช่น กระป๋องไซซ์ใหม่ ขวดแก้วแบบใหม่ เพื่อต้องการเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ เช่นฟังก์ชั่นนอลดริงก์ และฟู้ดแอนด์เบฟเวอเรจมากขึ้น เป็นส่วนมาช่วยเสริมกลุ่มแพ็กเกจจิ้ง ส่วนธุรกิจคอนซูเมอร์ ขนม สบู่ ทิสชู ยังสร้างการเติบโตได้ ด้านบิ๊กซียังยากที่จะประเมินสถานการณ์หลังจากนี้ เนื่องจากโควิดกระทบกำลังซื้อและสาขาที่อยู่ในแหล่งท่องเที่ยว ต้องรอประเมินสถานการณ์ หลังจากภาครัฐมีการฉีดวัคซีนได้ครอบคลุม