คิกออฟฉีดวัคซีนโควิดเกือบ 1 สัปดาห์ “ไปถึงไหนแล้ว”

ฉีดวัคซีน covid

คิกออฟระดมฉีดวัคซีนโควิดทั่วประเทศเกือบ 1 สัปดาห์ ฉีดแล้วกว่า 5.6 ล้านโดส ขณะที่ดีมานด์ประชาชนยังพุ่งทะลุ 10 ล้านราย สธ.เร่งเดินหน้ารับมอบวัคซีน เฉพาะ มิ.ย. 6 ล้านโดส เดือนต่อ ๆไปลุ้นแอสตร้าฯ 5-10 ล้านโดส พร้อมนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์-จอห์นสันฯ เสริมทัพเต็มกำลัง

วันที่ 12 มิถุนายน 2564 แม้ปัจจุบันสถานการณ์โควิดยังคงยืดเยื้อกระทบด้านความเชื่อมั่น กำลังซื้อ ตลอดจนทำให้เศรษฐกิจเปราะบาง โจทย์ใหญ่ของประเทศไทยคือการเร่งฟื้นฟูสถานการณ์ให้กลับสู่สภาวะ ‘ปกติ’

นอกเหนือจากการมีนโยบายประคับประคองเศรษฐกิจ และการช่วยเหลือเยียวยากลุ่มเอกชน-ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนแล้ว “วัคซีนป้องกันโควิด” กลายเป็นเดิมพันครั้งสำคัญ ที่นำไปสู่การเปิดประเทศ และเปิดเศรษฐกิจให้กลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่ง

ขณะนี้ผ่านมาแล้วเกือบ 1 สัปดาห์ หลังจากการประกาศคิกออฟฉีดวัคซีนโควิด-19 ปูพรมทั่วประเทศ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา ตามแผนการฉีดวัคซีนของประเทศไทยที่เริ่มเดือนมิถุนายน โดยมุ่งหวังให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่ทุกคนบนแผ่นดินไทยจะได้รับวัคซีนโดยไม่เสียเงินใด ๆ

อนึ่ง เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้กลับมาใช้ชีวิตปกติโดยเร็ว เตรียมพร้อมเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว เพื่อช่วยฟื้นคืนเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยต่อไป โดยมีเป้าหมายหลักช่วยกระจายวัคซีนครอบคลุมประชาชน 70% หรือราว 50 ล้านคน ภายในสิ้นปี 64

ขณะเดียวกันดีมานด์ความต้องการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประเทศนับว่ามหาศาล เฉพาะลงทะเบียนจองฉีดวัคซีนผ่านหมอพร้อม ก่อนที่จะปิดจองผ่านช่องทางดังกล่าวในวันที่ 31 พ.ค. มียอดรวม 8,109,541 ราย ด้านการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ไทยร่วมใจ (รวมช่องทางจองผ่านร้านสะดวกซื้อ และแอปเป๋าตัง) ในพื้นที่กรุงเทพฯ ทะลุกว่า 2 ล้านคน (ข้อมูล ณ วันที่ 1 มิ.ย.) รวมทั้งหมดกว่า 10 ล้านรายชื่อ ไม่นับรวมช่องทางอื่น ๆ ที่ประชาชนเข้าถึงได้อีกมาก

อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ 7 มิ.ย.64 นับว่าประเทศไทยเริ่มมีความหวัง จากการเร่งอัตราการฉีดให้เร็วขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เพียงวันแรกฉีดได้ 416,847 โดส ขณะที่วันที่ 8 มิ.ย. ฉีดได้ 472,128 โดส ทำยอดนิวไฮการฉีดสูงสุด ก่อนที่วันต่อ ๆ มาจะค่อย ๆ ลดจำนวนลง โดยวันที่ 9 มิ.ย. ฉีดได้ 336,674 โดส และวันที่ 10 มิ.ย. ฉีดได้ 223,315 โดส (ข้อมูลล่าสุดวันที่ 11 มิ.ย.)

ส่งผลให้ปัจจุบันรายงานข่าวจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุยอดสะสมการฉีดวัคซีนโควิด-19 (28 ก.พ.-10 มิ.ย.64) ประมาณ 5,667,058 โดส ใน 77 จังหวัด

เข็มที่ 1 จำนวน 4,143,444 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 1,523,614 ราย ขณะที่ สธ.ได้จัดสรรวัคซีนโควิด-19 ให้หน่วยบริการ 6,927,375 โดส แบ่งเป็นซิโนแวค 5,083,595 โดส และแอสตร้าเซนเนก้า 1,843,780 โดส

สำหรับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีแผนการจัดมอบวัคซีนโควิด-19 ภายใน มิ.ย.นี้จะมีวัคซีนทยอยเข้ามาอีกกว่า 6 ล้านโดสตามแผน ซึ่งมีทั้งการรับบริจาคจากจีน 5 แสนโดส การซื้อซิโนแวคอีกราว 1 ล้านโดส และการรับมอบแอสตร้าเซนเนกาจากสยามไบโอไซแอนซ์ราว 1.8 ล้านโดส ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา และจะค่อย ๆ ทยอยเข้ามาอีกจนครบตามจำนวน

ส่วนในเดือน ก.ค.-ธ.ค. คาดว่าตามแผนส่งมอบจะได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนกา จากการผลิตในประเทศเดือนละประมาณ 5-10 ล้านโดส

ไม่นับรวมการจัดหาวัคซีนยี่ห้ออื่น ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ลงนามสัญญาสั่งจองวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และไฟเซอร์ รวมกันอีกประมาณ 25 ล้านโดส รวมทั้งวัคซีนซิโนแวคอีกจำนวน 8 ล้านโดส เพื่อให้ครบ 100 ล้านโดส ตามที่กำหนดจากเดิม 61 ล้านโดส

ตลอดจนวัคซีนทางเลือก อาทิ ซิโนฟาร์ม โมเดอร์นา ที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และองค์การเภสัชกรรมจะนำเข้ามาบริการประชาชนอีกทีหนึ่ง

คงต้องลุ้นกันต่อไปว่าประเทศไทยจะระดมฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหรือไม่?