เปิดงบฯโฆษณา พ.ค. โฮมช้อปปิ้งนำโด่ง รับ WFH อีกระลอก

เม็ดเงินโฆษณา พ.ค.ฟื้นตัว 27% โฮมช้อปปิ้ง-อีมาร์เก็ตเพลซ-ดีลิเวอรี่ ทุ่มหนัก รับกระแส WFH อีกระลอก

วันที่ 14 มิถุนายน 2564 แม้ปัจจุบันผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศไทยจะยังอยู่ในหลักพันคนต่อวัน ขณะที่การกระจายวัคซีนยังมีความไม่แน่นอนสูง แต่ดูเหมือนว่าทิศทางการใช้เม็ดเงินโฆษณาจะส่งสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง สวนทางกับสถานการณ์

สะท้อนจากข้อมูลจาก บริษัท นีลเส็น (ประเทศไทย) จำกัด ที่ระบุภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณา 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) กลับมาอยู่ในแดนบวกต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าราว 44,956 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลอยู่ที่ 41,987 ล้านบาท เฉพาะเดือนพฤษภาคม ขยายตัวถึง 27% หรือราว 8,792 ล้านบาท

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสนใจว่ากลุ่มโฮมช้อปปิ้ง กลายเป็นกลุ่มที่มีการลงงบฯโฆษณาติดท็อป 10 ในเดือนพฤษภาคมนี้มากที่สุด เริ่มจากแบรนด์ 29 shopping ที่ทุ่มเงินเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 164 ล้านบาท รองลงมาคือ โอช้อปปิ้ง อันดับ 5 ที่ลงงบฯ 89 ล้านบาท และอาร์เอสมอลล์ 83 ล้านบาท แม้ 2 แบรนด์หลังจะลดเงินลงอย่างต่อเนื่อง แต่โดยภาพรวมยังสะท้อนภาพการกลับเข้าสู่การ WFH ที่ดันให้ผู้บริโภคหันกลับมาดูทีวีมากขึ้น ซึ่งเป็นดอกาสที่คนซื้อของจากโฮมช้อปปิ้งได้มากขึ้นเช่นกัน

ขณะที่อีมาร์เก็ตเพลซอย่างลาซาด้า ได้ใช้เงินโฆษณาเป็นอันดับ 2 หรือราว 111 ล้านบาท รับการกระหน่ำแคมเปญ 5.5 เทศกาลดึงเงินนักช็อปช่วงที่ผ่านมา

ด้านฟู้ดแพนด้า ก็ใช้โอกาสช่วงคน WFH ตลอดจนความกังวลด้านการทานอาหารนอกบ้าน ลงงบฯโฆษณาบริการดีลิเวอรี่โปรโมตสร้างการรับรู้มากขึ้น บนสมรภูมิที่การแข่งขันแอปพลิเคชั่นดีลิเวอรี่ยังคงดุเดือดต่อเนื่อง

ส่วนห้างค้าปลีกอย่างโลตัสก็ติดอันดับการใช้เม็ดเงินโฆษณาในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการควบรวมกิจการ และการประกาศรีแบรนด์ครั้งใหญ่จากเทสโก้โลตัส เป็นโลตัส

อย่างไรก็ดี สื่อที่ครองมาร์เก็ตแชร์สูงสุดยังคงเป็นทีวีมีสัดส่วนที่ 60% เม็ดเงินสะพัดราว 26,782 ล้านบาท เติบโต 8% ขณะที่สื่ออินเทอร์เน็ตมีเม็ดเงินไหลเวียนอยู่ที่ 9,500 ล้านบาท เติบโต 20% ส่วนสื่อนอกบ้านมีมูลค่า 4,175 ล้านบาท ลดลง 10% จากกลุ่มคนลดการเดินทาง สื่อในโรงภาพยนตร์ 1,660 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17%, สื่อในอาคาร 266 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% ขณะที่สื่อสิ่งพิมพ์ 1,255 ล้านบาท ลดลง 14% และสื่อวิทยุ 1,298 ล้านบาท ลดลง 13% เป็นผลมาจากความนิยมที่น้อยลงต่อเนื่อง