วิกฤตห้ามนั่งทาน ส.ภัตตาคารไทย ชงรัฐอุดหนุนข้าวกล่อง 2 แสนชิ้นต่อลมหายใจ

นายกสมาคมภัตตาคารไทย โอดมาตรการเยียวยารัฐบาลไม่ตรงจุด จี้ทบทวนข้อเสนอ เพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุน-ลดภาษี-ช่วยเหลือค่าสาธารณูปโภคพื้นฐานน้ำ/ไฟ พร้อมชงรัฐช่วยอุดหนุนข้าวกล่องวันละ 2 แสนกล่อง ประคองรายย่อยพ้นวิกฤตห้ามนั่งทาน

วันที่ 28 มิถุนายน 2564 นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายหลังภาครัฐประกาศห้ามนั่งทานในร้านเป็นเวลา 1 เดือน โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา ประเมินว่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจร้านอาหารอย่างหนัก ทำให้สูญเสียเม็ดเงินระบบกว่าวันละ 1,000 ล้านบาทต่อวัน โดยแต่ละร้านจะเหลือยอดขายอยู่เพียง 10% จากรอบที่ผ่านมายังพอมียอดขายในร้านเหลือ 20-30% อยู่บ้าง ทั้งนี้เป็นผลมาจากความเชื่อมั่นเรื่องกำลังซื้อ และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและการระบาด

“ระลอกนี้เม็ดเงินในธุรกิจร้านอาหารเสียหายหนักกว่าครั้งที่ผ่านมาแน่นอน เนื่องจากมีเรื่องของกำลังซื้อ ความเชื่อมั่น เข้ามาเกี่ยวเนื่องจากการระบาดที่ลากยาว ขณะที่บางร้านก็ล้มหายตายจากไป และบางร้านที่ไม่ชินกับการทำระบบออนไลน์ก็เลือกที่จะปิดร้านแทนการขายแบบดีลิเวอรี่”

ขณะที่มาตรการเยียวยามที่ภาครัฐ ประกาศชดเชยให้ลูกจ้างเพิ่ม 2,000 บาท จากเดิมที่ประกันสังคม จ่ายให้ 50% ของค่าแรง แต่ไม่เกิน 7,500 บาท และในส่วนของนายจ้างจ่ายเพิ่ม 3,000 บาท มองว่าการเยี่ยวยาไม่ตอบโจทย์มากนัก เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนยังมีภาระค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่า และการจ่ายเงินเดือนพนักงาน ทำให้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย สุดท้ายทางสมาคมฯมองว่าก็จะกลับมาที่มาตรการเดิม คือการช่วยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน การลดภาษี และการช่วยพยุงค่าใช้จ่ายทั้งค่าน้ำค่าไป

โดยระหว่างที่มีมาตรการห้ามนั่งทานในร้าน นอกจากมาตรการเยียวยาแล้ว อยากให้ภาครัฐช่วยประคับประคองธุรกิจร้านอาหารด้วยการสั่งทำข่าวกล่อง เพื่อแจกจ่ายหรือกระจายไปยังหน่วยงานต่างๆวันละ 2 แสนกล่อง ซึ่งจะสามารถส่งต่อให้ร้านอาหารได้ราว 200 ร้านต่อครั้ง ต่อเนื่องเป็นเวลา 5-6 วัน เพื่อแหมุนเวียนให้ทุกร้านได้มีเม็ดเงินเข้ามา และมีต้นทุนในการหมุนเวียน ภาระ ค่าใช้จ่ายต่างๆ


“ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา กลุ่มร้านอาหารอยู่รอดมาได้ด้วยการรับทำข้าวกล่องจากลูกค้าบริษัท องค์กรต่างๆที่ทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารยังพอมีลมหายใจอยู่บ้าง ที่ทางสมาคมฯ ช่วยในการจัดหาลูกค้า แต่มาครั้งนี้อยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือในการจัดหาลูกค้า เพื่อให้ร้านอาหารมีเม็ดเงินเข้ามาเพิ่มช่วยค่าใช้จ่าย ซึ่งโมเดลดังกล่าวเป็นโมเดลที่ประสบความสำเร็จในการช่วยเหลือผู้ประกอบการมาอย่างต่อเนื่อง “