เครื่องมือแพทย์โตต่อเนื่อง “ฟิลิปส์” ชูเอไอย้ำเจ้าตลาด

ฟิลิปส์ไม่หวั่นโควิดเดินหน้ารุกตลาดเครื่องมือแพทย์ กางแผนนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ ชูความเป็นไอที-เอไอรับอนาคต ควบคู่เร่งลงทุนทรัพยากรมนุษย์ด้านไอที หวังรักษาเบอร์ 1 ตลาดเครื่องมือแพทย์

นายวิโรจน์ วิทยาเวโรจน์ ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์รายใหญ่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และสุขภาพในประเทศไทยมีมูลค่า 230,000 ล้านบาท และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 4% ต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สำหรับสินค้าของบริษัทที่หลัก ๆ เป็นกลุ่มครุภัณฑ์ทางการแพทย์ (durable medical devices) มีมูลค่าประมาณ 47,000 ล้านบาท

ปี 2563 ที่ผ่านมายังคงเติบโตเมื่อเทียบกับปี 2562 ปัจจัยหลักมาจากผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับโควิดมีการเติบโตสูง เช่น เครื่องช่วยหายใจ, เครื่องวัดสัญญาณชีพ เป็นต้น ขณะที่เครื่องมือแพทย์ประเภทอื่น ๆ อาทิ เครื่องเอ็มอาร์ไอ เครื่องสวนหลอดเลือดหัวใจ (cath lab) ยังคงทรงตัว เป็นผลจากกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนชะลอการลงทุนจากปัจจัยรุมเร้าของโควิดต่อเนื่อง ขณะที่โรงพยาบาลรัฐและโรงเรียนแพทย์ยังมีงบประมาณด้านนี้ต่อเนื่อง

จากภาพรวมที่เกิดขึ้นบริษัทได้ทยอยปรับพอร์ตสินค้าเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค รวมทั้งเพื่อให้รับกับเทรนด์ในอนาคต โดยจากนี้ไปฟิลิปส์จะเน้นไปที่โปรดักต์ที่เกี่ยวข้องกับไอทีมากขึ้น และเชื่อว่าในอนาคตเครื่องมือแพทย์ที่เกี่ยวกับไอทีจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากไอทีจะมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนโฉมนวัตกรรมทางการแพทย์ ตั้งแต่การเปลี่ยนเครือข่ายการแพทย์มาเป็นระบบดิจิทัลมากขึ้น เพื่อลดภาระงานของแพทย์และพยาบาล เช่น สินค้าของฟิลิปส์ก็มีระบบรายงานความก้าวหน้าอาการของคนไข้

โดยลิงก์ข้อมูลกับศูนย์กลางซึ่งจะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือระบบการบันทึกข้อมูลผู้ป่วยทั้งหมดอย่างรอบด้านที่ได้รับความนิยมมากในต่างประเทศ แต่ยังไม่แพร่หลายในประเทศไทย

“ที่ผ่านมาฟิลิปส์หันมาเพิ่มโฟกัสธุรกิจเครื่องมือทางการแพทย์มากขึ้น เนื่องจากเล็งเห็นว่าอนาคตที่มีคนเจ็บป่วยและคนสูงวัยมากขึ้น โดยฟิลิปส์ โกลบอลได้มีการคิดค้นและประดิษฐ์เครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ใหม่ ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาช่วยวินิจฉัยอาการร่วมกับแพทย์ เพื่อช่วยให้การวินิจฉัยโรคมีความแม่นยำมากขึ้น และจากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นทำให้พฤติกรรมคนเปลี่ยนในแง่การลดการรวมตัว ลดการเจอหน้า ฟิลิปส์เตรียมนำเทคโนโลยีการแพทย์ทางไกลหรือเทเลเมดิซีนมาช่วยแก้ปัญหาในจุดนี้ให้แก่โรงพยาบาล ซึ่งเชื่อว่าอีก 1-2 ปีข้างหน้าจะทำได้อย่างสมบูรณ์”

นายวิโรจน์กล่าวว่า ควบคู่กันนี้บริษัทยังได้มีการลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ด้านไอที เพื่อสอดคล้องกับเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ของฟิลิปส์ โดยจะเป็นการรีสกิลและอัพสกิลด้านไอทีให้แก่กลุ่มพนักงานใหม่ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ นำไปสู่การนำเสนอให้แก่กลุ่มโรงพยาบาลได้ดี รวมไปถึงการบริการหลังการขายในแง่การซ่อมบำรุงอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดเครื่องมือทางการแพทย์ไว้ต่อไป

ส่วนการทำการตลาดหลัก ๆ จะเป็นการขายโดยตรงเข้าโรงพยาบาล ซึ่งส่วนมากจะเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องใหญ่ ส่วนผลิตภัณฑ์เครื่องเล็กจะขายผ่าน distributor จะมีทั้งแบบการขายขาดโดยการประมูลตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และการให้เช่าเครื่องสำหรับกลุ่มที่มีกำลังซื้อน้อยหรือไม่ต้องการซื้อขาด