ลุ้นวัคซีนแอสตร้าฯมาตามนัด สต๊อกฟาวิพิราเวียร์ 4.2 ล้านเม็ดรับวิกฤต

Photo by REUTERS

รพ.ลุ้นหนัก หวั่นแผนส่งมอบวัคซีนแอสตร้าฯเดือนกรกฎาคมสะดุด กระทบไทม์ไลน์การฉีด ด้านรองโฆษกสำนักนายกฯแจงรัฐบาลญี่ปุ่นมอบวัคซีน 1.05 ล้านโดส ต้นกรกฎาฯ สมาคมโรงพยาบาลเอกชนเคาะแล้ว วัคซีนทางเลือกโมเดอร์น่า ราคา 1,700 บาท/โดส รวมประกัน คาดเริ่มฉีดตุลาคมนี้ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯจี้รัฐบาลเร่งหาวัคซีนประสิทธิภาพสูง-เปิดนำเข้าวัคซีนทางเลือก องค์การเภสัชฯเปิดสต๊อกยาฟาวิพิราเวียร์มีสำรองกว่า 4.2 ล้านเม็ด-อยู่ระหว่างยื่นขึ้นทะเบียน อย.

การปูพรมฉีดวัคฉีดในช่วงเดือนมิถุนายน ที่รัฐบาลประกาศเป็นวาระแห่งชาติ แม้จะมีความขลุกขลักอยู่บ้าง จากการจัดส่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าของบริษัทผู้ผลิต สยามไบโอไซเอนซ์ ไม่เป็นไปตามกำหนด ส่งผลให้โรงพยาบาลจำนวนมากต้องประกาศเลื่อนการฉีดวัคซีนสำหรับผู้ที่ได้ลงทะเบียนไว้ล่วงหน้า ทำให้ กระทรวงสาธาณาสุข (สธ.) ต้องสั่งซื้อซิโนแวคเข้ามาเพิ่มเพื่อสำรองและทดแทน

ล่าสุดกรมควบคุมโรครายงานว่า ขณะนี้มีจำนวนการได้รับวัคซีนสะสม (จาก 28 กุมภาพันธ์-28 มิถุนายน) ทั้งสิ้นประมาณ 9.41 ล้านโดส จากยอดวัคซีนรวมประมาณ 13.5 ล้านโดส ในจำนวนนี้เป็นซิโนแวค ประมาณ 7.5 ล้านโดส (จีนบริจาค 1 ล้านโดส) และแอสตร้าเซนเนก้า ประมาณ 6 ล้านโดส

หวั่นแผนส่งมอบวัคซีนเดือน ก.ค.สะดุด

แหล่งข่าวจากโรงพยาบาลรัฐและเอกชนหลายแห่งเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ไปในทิศทางเดียวกันว่า ขณะนี้แม้ว่าการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของเดือนมิถุนายนจะมีตัวเลขมากกว่า 5.3-5.5 ล้านโดส ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ สธ.ตั้งไว้ประมาณ 6 ล้านโดส แต่สำหรับเดือนกรกฎาคมนี้ หลาย ๆ ฝ่ายยังมีความกังวลและยังต้องลุ้นกันว่า

การจัดส่งมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จะเป็นไปตามกำหนดหรือไม่ เนื่องจากเดือนกรกฎาคม สยามไบโอไซเอนซ์จะต้องส่งมอบวัคซีนให้รัฐบาลอีกประมาณ 10 ล้านโดส ซึ่งเป็นยอดที่มากกว่าเดือนมิถุนายนเกือบเท่าตัว หากการผลิตหรือแผนการส่งมอบวัคซีนล่าช้าหรือสะดุดก็อาจจะทำให้ไทม์ไลน์การฉีดต้องเลื่อนออกไป หรือจะต้องนำวัคซีนอื่นมาทดแทน

ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า โดยส่วนตัวเชื่อว่าแผนการฉีดวัคซีนในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์แรกอาจจะไม่มีปัญหามากนัก เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลยังมีวัคซีนเหลืออยู่ในสต๊อกอีกประมาณ 2-3 ล้านโดส หลังจากฉีดวัคซีนจำนวนนี้ไประยะหนึ่ง และหากแอสตร้าฯที่สั่งซื้อไว้แล้วเลื่อนการส่งมอบ การฉีดในระยะถัดไปก็อาจได้รับผลกระทบและมีปัญหาตามมา

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สธ.อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อจองซื้อวัคซีนอื่น ๆ เข้ามาเพิ่ม เพื่อให้ครบ 105 ล้านโดส อาทิ ไฟเซอร์ 20 ล้านโดส จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน 5 ล้านโดส ซิโนแวค 19.5 ล้านโดส เป็นต้น

ญี่ปุ่นมอบแอสตร้าฯ 1.05 ล้านโดส

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มิถุนายนว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบรัฐบาลญี่ปุ่นมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าให้รัฐบาลไทย จำนวน 1.05 ล้านโดส โดยจะส่งมอบช่วงต้นเดือนกรกฎาคม

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายเจมส์ ทีก ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือน ก.พ.จนถึงเดือน มิ.ย. บริษัทแอสตร้าเซนเนก้าได้ส่งมอบวัคซีนให้ประเทศไทยแล้ว จำนวน 4.7 ล้านโดส และภายในสัปดาห์นี้ บริษัทแอสตร้าฯจะส่งมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าให้กระทรวงสาธารณสุข 1.3 ล้านโดส ซึ่งจะทำให้ครบ 6 ล้านโดส ตามแผนการจัดหาวัคซีน

โมเดอร์นาเคาะราคา 1,700

นายแพทย์เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เปิดเผยว่า ขณะนี้สมาคมได้ประชุมร่วมกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และมีการสรุปราคาวัคซีนทางเลือกโมเดอร์นา (ซิลลิค ฟาร์มา) เป็นที่เรียบร้อย โดยกำหนดราคา 1,700 บาท/โดส หรือ 3,400 บาท เนื่องจากต้องฉีด 2 โดส รวมค่าบริการและประกัน (ไม่รวมค่าปรึกษาแพทย์) เเป็นราคาเดียวกันทั่วประเทศ

โดยวัคซีนลอตแรกจะเข้ามาไตรมาส 4 หรือประมาณเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้บางส่วน และจะทยอยเข้ามาภายในสิ้นปีนี้รวมประมาณ 4-5 ล้านโดส ตอนนี้ขั้นตอนคือ ทุกโรงพยาบาลจะต้องเซ็นสัญญากับ อภ. และกำหนดจ่ายเงินให้ อภ.ภายในเดือนกรกฎาคม (30 ก.ค.) จากนั้นจะเป็นขั้นตอนในการเซ็นสัญญาระหว่าง อภ. และซิลลิค ฟาร์มา

จี้รัฐบาลเร่งหาวัคซีน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการระบาดของโควิด-19 ที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น และเกิดการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์เข้ามาในประเทศ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย โดยนายแพทย์อนุตตร จิตตินันทน์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ ประกาศที่ รอ.ทั่วไป 78/2564 เรื่อง วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ฉบับที่ 2)

ให้รัฐบาลควรใช้ความพยายามอย่างสูงสุดในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้มีใช้อย่างเพียงพอทั้งปริมาณและคุณภาพ และควรใช้ความพยายามอย่างสูงสุดและเร็วที่สุดในการนำเข้าวัคซีนทางเลือกทุกชนิดเพิ่มขึ้น ควรบริหารจัดการกระจายวัคซีนให้ดีขึ้นอย่างเป็นระบบ โดยไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมืองหรือผลประโยชน์ใด ๆ และประชาชนควรเข้ารับวัคซีนโดยเร็วที่สุด

สต๊อกฟาวิพิราเวียร์มี 4.2 ล้านเม็ด

ภญ.ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา อภ.ได้มีการจัดหา สำรอง และกระจายยาฟาวิพิราเวียร์สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด (วันที่ 21 มิถุนายน 2564) ได้มีการนำเข้ามาสำรองในคลังเพิ่มไว้อีก 3,000,024 เม็ด และ ณ วันที่ 28 มิถุนายน 2564 มีการสำรองอยู่จำนวน 4,250,652 เม็ด ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยสามารถมียาใช้ในการรักษาได้อย่างเพียงพอต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีอัตราการใช้ยานี้อยู่ประมาณ 70,000-80,000 เม็ด/วัน โดยการนำเข้ายาเม็ดฟาวิพิราเวียร์จะมาจาก 3 แหล่ง คือ ญี่ปุ่น จีน และอินเดีย

นอกจากนี้ อภ.ยังมีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาเม็ดฟาวิพิราเวียร์ โดยได้จัดหาวัตถุดิบคุณภาพจากบริษัทประเทศอินเดียและจีน มาพัฒนาสูตรตำรับจนถึงขยายขนาดการผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้สำเร็จ และนำไปศึกษาความคงสภาพและประสิทธิผลทางชีวสมมูล เพื่อศึกษาระดับยาในเลือดเทียบกับยาต้นแบบ โดยผลการศึกษาคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสากล และผลการศึกษาชีวสมมูลเทียบเท่ากับยาต้นแบบ


ขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นขึ้นทะเบียนตำรับยากับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หากได้รับขึ้นทะเบียน พร้อมดำเนินการผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้ทันที ซึ่งในเบื้องต้นจะผลิตได้เดือนละไม่น้อยกว่า 2 ล้านเม็ด