“พานาโซนิค” งัดสารพัดฟังก์ชั่นเขย่า CCTV

“พานาโซนิค” ปรับกลยุทธ์ทำตลาดวงจรปิด หันเน้นชูเอไอ-ฟังก์ชั่นตรวจคนสวมหน้ากาก-โปรแกรมควบคุม ปั้นโซลูชั่นครบวงจรรับดีมานด์สุขอนามัย-ลดสัมผัส หวังรับมือการแข่งขันราคาหลังแบรนด์จีนรุกหนัก ก่อนต่อยอดฐานลูกค้าโปรเจ็กเตอร์รุกสถานศึกษา พร้อมเดินหน้าเคลียร์แบ็กล็อกลุ้นรายได้ปีนี้ฟื้นตัวเท่าปี 2562

นางสาวราณี สิทธิแก้ว ผู้จัดการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายการตลาด ผลิตภัณฑ์ซิสเต็มส์โซลูชั่น บริษัท พานาโซนิค ซิว เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ฉายภาพตลาดกล้องวงจรปิดในปัจจุบันกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การระบาดของโรคโควิด-19 กระทบธุรกิจกล้องวงจรปิดเช่นเดียวกัน โดยตลาดลูกค้าองค์กร หรือ B2B มีแนวโน้มหดตัว เนื่องจากตั้งแต่ปี 2563 หลายโครงการเลื่อนกำหนดติดตั้ง ชะลอจัดซื้อจัดจ้างออกไป เพราะความกังวลเรื่องโรคระบาด ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งผันเม็ดเงินไปใช้กับระบบกล้องวัดอุณหภูมิที่ใช้ในการคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19 แทน และชะลอแผนลงทุนเดิมออกไป

อย่างไรก็ตาม ความกังวลเรื่องโรคระบาดนี้ ยังมาพร้อมดีมานด์ใหม่ ๆ ที่กลายเป็นโอกาสสร้างการเติบโตและรับมือการแข่งขันด้านราคา อย่างฟังก์ชั่นการใช้งานที่ซับซ้อนกว่าความคมชัด อาทิ โซลูชั่นด้านสุขอนามัยและการควบคุม-ป้องกันโรค ด้วยการวิเคราะห์ภาพว่าบุคคลในภาพสวมหน้ากากอยู่หรือไม่ ไปจนถึงการระบุตัวบุคคลในภาพเทียบกับฐานข้อมูลพนักงานเพื่อควบคุมการเข้าออกสถานที่ เป็นต้น

นอกจากด้านความปลอดภัยแล้ว ภาคอุตสาหกรรมยังพร้อมลงทุน หากมีโซลูชั่นที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มศักยภาพการผลิตของโรงงานได้ด้วย เช่น การนับจำนวนชิ้นงาน และวิเคราะห์กระบวนการทำงาน ด้วยระบบวิเคราะห์ภาพของกล้องวงจรปิด

“ทุกวันนี้จุดขายด้านความคมชัดจะจำกัดเฉพาะกลุ่มซื้อเพื่อทดแทนกล้องเก่า แต่หากต้องการสร้างการเติบโตต้องมีฟังก์ชั่น-นวัตกรรม ที่ตอบโจทย์ด้านอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ลดต้นทุนธุรกิจ หรือความปลอดภัยร่วมด้วย”

นางสาวราณีย้ำว่า ปีนี้บริษัทจะเปลี่ยนเกมการแข่งขัน ด้วยการหันมาเน้นการชูจุดขายในเรื่องฟังก์ชั่นวิเคราะห์ภาพ และเทคโนโลยีเอไอ ที่จะนำมาสร้างโซลูชั่นมาตอบโจทย์ลูกค้าองค์กร ขณะเดียวกันจะใช้ข้อได้เปรียบของการเป็นเครือบริษัทที่มีสินค้าหลากหลาย เน้นนำเสนอการขายในรูปแบบโซลูชั่นครบวงจร โดยเตรียมเปิดตัวกล้องเอไอและระบบวิเคราะห์ภาพรุ่นใหม่ ที่มาพร้อมฟังก์ชั่นตรวจจับการใส่หรือไม่ใส่หน้ากากของบุคคลในภาพ ด้วยระดับราคาที่จับต้องได้ง่ายขึ้น

ร่วมกับการนำเสนอโซลูชั่นที่เกิดจากการใช้งานร่วมกับอุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อควบคุมการเปิดปิดประตู หรือแจ้งเตือนไปยังผู้ควบคุม เช่น ระบบ e-Visitor ซึ่งสามารถใช้ทดแทนการแลกบัตรเข้าอาคารได้ โดยการใช้ระบบจดจำใบหน้าเทียบกับฐานข้อมูลเพื่อระบุตัวผู้มาติดต่อที่นัดไว้ล่วงหน้า พร้อมวัดอุณหภูมิด้วยกล้องวงจรปิด ก่อนจะออกบัตรเข้าอาคารให้ ช่วยลดการสัมผัสกับเจ้าหน้าที่

ขณะเดียวกันก็จะมีการโปรโมตจุดแข็งด้านโปรแกรมบริหารจัดการกล้องวงจรปิด ซึ่งโปรแกรมของบริษัทเปิดให้ลูกค้าสามารถเพิ่มจำนวนกล้องที่เชื่อมต่อได้แบบไม่จำกัดจำนวน โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม และไม่มีค่าใช้งานโปรแกรมแบบรายปี แตกต่างจากคู่แข่งที่มักเรียกเก็บค่าใช้จ่ายหากลูกค้าต้องการเพิ่มกล้องในโปรแกรม หรือมีข้อจำกัดด้านจำนวนกล้องที่รองรับได้สูงสุด 64 ตัวเท่านั้น ด้วยการมุ่งสื่อสารประเด็นนี้ไปยังกลุ่มนักออกแบบงานโครงการต่าง ๆ หลังจากที่ผ่านมาพบว่า บริษัทยังเข้าไม่ถึงกลุ่มนี้มากนัก สะท้อนจากการมีผู้ใช้งานเข้ามาซื้อโปรแกรมเพิ่มในภายหลังจากปิดงานติดตั้งไปแล้ว

“เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ ซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมบริหาร-ควบคุมกล้อง จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยการแข่งขันสำคัญในธุรกิจกล้องวงจรปิด ขณะเดียวกันจะเดินหน้าขยายฐานลูกค้าใหม่ ๆ โฟกัสกลุ่มหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ ขณะนี้พยายามรุกเข้าสู่กลุ่มสถานศึกษาด้วยการต่อยอดจากสถานศึกษาที่เป็นฐานลูกค้าเครื่องโปรเจ็กเตอร์ของบริษัทอยู่แล้ว”

สำหรับเป้าหมายในปี 2564 นี้ นางสาวราณีกล่าวว่า อาจยังไม่สามารถระบุเป็นตัวเลขได้ แต่เชื่อว่าจะดีกว่าปี 2563 มาก และใกล้เคียงกับปี 2562 เนื่องจากบริษัทมีงานโครงการที่รอติดตั้ง-ส่งมอบ หรือแบ็กล็อก (back log) อยู่จำนวนมาก และคาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้ได้ภายในปีนี้