โศรดา ศรประสิทธิ์ ออนไลน์ออกฤทธิ์…ปิดยอดขายได้

ความท้าทายที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงรอบด้าน ทั้งเทคโนโลยี พฤติกรรมการใช้สื่อผู้บริโภค ทำให้รูปแบบการทำงานดิจิทัลเอเยนซี่ต้องเปลี่ยนเร็วขึ้น เพราะความสนใจของผู้บริโภคยุคนี้สั้นลงเรื่อย ๆ หรือเฉลี่ยแค่ 7 วินาทีเท่านั้น จึงไม่แปลกที่รูปแบบการสื่อสารของโฆษณายุคนี้ต้องเร็ว และต้องปิดเกม ด้วยการสร้างยอดขายให้ได้

ล่าสุด ประชาชาติธุรกิจŽ สัมภาษณ์ โศรดา ศรประสิทธิ์Ž กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริลเลียน แอนด์ มิลเลียน จำกัด ดิจิทัลเอเยนซี่ที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้มากว่า 10 ปี เกี่ยวกับการเติบโตและการขยายตัวของสื่อออนไลน์ พร้อมทั้งภาพการขยับตัวของดิจิทัลเอเยนซี่

Q : พัฒนาการของสื่อออนไลน์ ขณะนี้เป็นอย่างไร

วันนี้ สื่อออนไลน์กลายเป็นหนึ่งในสื่อหลัก เช่นเดียวกับสื่อทีวี วิทยุแล้ว แต่ในแง่ของการเข้าถึงผู้บริโภคของสื่อออนไลน์อาจจะไม่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทั้งหมดทั้งประเทศ ขึ้นอยู่กับกลุ่มเป้าหมายของสินค้า ยกตัวอย่างสินค้าอุปโภคบริโภค เจาะผู้บริโภคกลุ่มแมส สื่อออนไลน์อาจจะไม่ตอบโจทย์แต่อาจจะต้องใช้สื่อบิลบอร์ด หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ควบคู่กันให้กระจายไปตามจุดต่าง ๆ ทั่วภูมิภาค เพื่อสื่อสารในวงกว้างได้อย่างทั่วถึง

ในแง่ของการรับสื่อออนไลน์ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ระหว่างคนกรุงเทพฯกับคนต่างจังหวัด ถือว่าใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะคนต่างจังหวัดที่อาศัยอยู่ในหัวเมืองใหญ่ พฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตแทบไม่แตกต่างจากคนเมืองแล้ว เพราะสัญญาณอินเทอร์เน็ตครอบคลุมขึ้น โดยคนกลุ่มนี้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านหน้าจอโทรศัพท์มือถือเป็นส่วนใหญ่ หลัก ๆ แล้ว พฤติกรรมผู้บริโภคก็เปลี่ยนตามฟังก์ชั่นนอลที่แพลตฟอร์มสร้างขึ้น สิ่งที่นักการตลาดออนไลน์ต้องทำ คือ เปลี่ยนให้เร็ว ทำให้เร็ว แล้วปรับให้เข้ากับพฤติกรรมการใช้ของผู้บริโภคให้ได้ เพื่อให้การสื่อสารเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

Q : เทคโนโลยีและการขยายตัวของสื่อออนไลน์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เปลี่ยนการสื่อสารระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภคไปในทิศทางใด

เมื่อก่อนดีไวซ์ไม่ได้ฉลาดเท่านี้ หน้าจอการใช้งานก็ไม่ได้เร็ว และดิจิทัลเอเยนซี่ก็ยังไม่ได้มีการเก็บข้อมูลไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องบิ๊กดาต้า (Big Data) แต่ปัจจุบัน บิ๊กดาต้ากลายเป็นส่วนสำคัญ มีการพัฒนาเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อเก็บข้อมูลเหล่านี้ และสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ตอนนี้การพัฒนาที่เกิดขึ้นแบ่ง 3 ส่วน คือ การพัฒนาของดีไวซ์ เครื่องมือการสื่อสาร และการนำข้อมูลที่ได้มาครอส (Cross) กัน เพื่อให้ข้อมูลมีบทบาทสูงสุดในการเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย

ยกตัวอย่างเช่น คนยุคมัลติสกรีน คือ ดูทีวีไปหาข้อมูลจากสื่อออนไลน์ไปด้วย ดังนั้นช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ดิจิทัลเอเยนซี่จึงมีการเก็บข้อมูลการใช้สื่อบนออนไลน์ของผู้บริโภค และนำข้อมูลมาวิเคราะห์ เส้นทางการรับสื่อของผู้บริโภคกลุ่มนี้ หรือที่เรียกว่า แนวทางของผู้บริโภคที่ตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการ (Consumer Journey) และต่อยอดสู่การพัฒนารูปแบบการสื่อสารใหม่ ๆ

Q : เมื่อแนวทางการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการของผู้บริโภค (Consumer Journey) ชัดเจนขึ้น ส่งผลดีอย่างไรต่อแบรนด์

ข้อดี คือ แบรนด์สามารถปิดการขายได้ทันที เพราะรู้ว่าผู้บริโภคต้องการอะไรจากข้อมูลที่ได้ และเริ่มมีหลาย ๆ แบรนด์ทำแล้ว นั่นคือ พัฒนาออนไลน์คอมเมิร์ซขึ้น เพื่อปิดยอดขายให้ได้ทันที ยกตัวอย่างเช่น เมื่อผู้บริโภคดูวิดีโอของสินค้าแบรนด์ A ในเฟซบุ๊ก แล้วอยากรู้ข้อมูลเพิ่มก็จะกดเข้าไปตามลิงก์ที่แบรนด์ให้ไว้ เมื่อลิงก์ถูกส่งไปยังเว็บไซต์ ผู้บริโภคได้ข้อมูลสินค้า แบรนด์ก็ควรเพิ่มช่องทางอีคอมเมิร์ซเข้าไปเลย หรือบางแบรนด์ก็ตัดตอนตั้งแต่โซเชียลมีเดีย ให้เกิดการซื้อสินค้าทันที เพราะผู้บริโภคกำลังสนใจอยากซื้อสินค้าอยู่ แบรนด์ก็ทำหน้าที่แค่กระตุ้นให้ซื้อ และอย่าปล่อยโอกาสนั้นทิ้งไป เพราะความสนใจของผู้บริโภคสั้นลง ดังนั้นหน้าที่ของสื่อออนไลน์วันนี้จึงปิดยอดขายได้จริง เพราะมีอีคอมเมิร์ซ

Q : ทุกอย่างเปลี่ยนเร็วกลายเป็นความท้าทายใหม่ของดิจิทัลเอเยนซี่ยุคนี้

ทุกอย่างเปลี่ยนเร็วมากจนบางครั้งตกลงกับลูกค้า (สินค้า) ยังไม่ทันเสร็จ ก็ต้องเปลี่ยนแล้ว แต่บริษัทก็ยังคงกรอบการทำงานหลัก ๆ ไว้ ทั้งเรื่องของความสนใจและฟังก์ชั่นของแพลตฟอร์มที่ยังสามารถนำมาใช้ได้ เช่น ฐานข้อมูล เป็นต้น ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกเครื่องมือไหนมาตอบโจทย์ธุรกิจของลูกค้า โดยต้องพิจารณาว่า สื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายไหน เพื่อวัตถุประสงค์อะไร

Q : จุดแข็งของบริลเลียนฯและทิศทางการขยายธุรกิจจากนี้ไป

บริลเลียนฯถือเป็นอินดีเพนเดนต์เอเยนซี่ (Independent Agency) ให้บริการด้านการสื่อสารผ่านสื่อออนไลน์ครบวงจร ตั้งแต่การวางแผนทางการตลาด สร้างคอนเทนต์ เรียกว่าดูแลลูกค้าตั้งแต่ต้นทางจนจบกระบวนการสื่อสาร โดยจุดแข็งของบริษัท คือ ความยืดหยุ่น มีการทำงานเป็นทีม และพร้อมทำงานร่วมกับลูกค้า (สินค้า) ปัจจุบันมีลูกค้า 70 แบรนด์

สำหรับแนวทางการขยายธุรกิจ 3 ปีจากนี้ จะปรับตัวเองอย่างต่อเนื่องตามการเปลี่ยนแปลงของตลาด ขณะเดียวกันก็จะเร่งพัฒนาบุคลากรไปพร้อมกับการเติบโตของบริษัท คาดว่าใน 3 ปีจากนี้จะเพิ่มบุคลากรเป็น 150 คน รองรับการเติบโตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จากปัจจุบันมีบุคลากร 107 คน และตั้งเป้าหมายว่าจะโตเฉลี่ยปีละ 25% ทุก ๆ ปี