เสียงจาก…สหพัฒน์ แนะรัฐเข้มสกัดแพร่เชื้อ-เร่งฉีดวัคซีน

สัมภาษณ์

 

เป็นเวลาที่ยากลำบากไม่น้อย ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจที่ต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของ “โควิด-19” ที่ลากยาวมานานนับปี และวันนี้สถานการณ์ยิ่งทวีความหนักหน่วงมากขึ้น สะท้อนจากจำนวนผู้ป่วยรายใหม่-ผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังไม่รู้ว่าโควิด-19 จะจบและสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ ทำให้ผู้ประกอบการเริ่มกังวลกับสภาพเศรษฐกิจ-กำลังซื้อ

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “บุญชัย โชควัฒนา” ประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) บริษัทผู้จัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ถึงผลกระทบและข้อเสนอแนะในสถานการณ์การแพร่ระบาด

Q : สถานการณ์โควิด-19 รุนแรงขึ้น ในแง่ของธุรกิจมีความกังวลมากน้อยแค่ไหน

วันนี้ ธุรกิจทั่วประเทศได้รับผลกระทบมาตั้งแต่การระบาดรอบแรกเมื่อปีที่แล้ว ลากยาวมาจนถึงปีนี้ กระทบมาก-น้อยแตกต่างกันไป

สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ จะหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้อย่างไร จึงพยายามเสนอมาตรการที่ยังไม่มีใครพูดถึง การติดเชื้อการแพร่ระบาด หรือคลัสเตอร์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ต้นตอเกิดจากอะไร ก็ต้องไปสั่งปิด ห้ามไม่ให้เคลื่อนที่ เป็นการเปิดจุดอ่อนของการแก้ไขปัญหา หรือแม้กระทั่งการที่บริษัทให้พนักงานทำงานที่บ้าน (work from home) ซึ่งไม่ใช่จะไม่ติดเชื้อ เพราะเราไม่สามารถไปควบคุมพฤติกรรมของพนักงานได้ และในคลัสเตอร์ก็เหมือนกัน เมื่อคนงานก่อสร้างติดเชื้อกันหมด แต่ก็ไม่มีใครพูดถึงสาเหตุของการติดเชื้อเลย

ส่วนตัวมองว่า ถ้าจะช่วยกัน บุคลากรทางการแพทย์ควรพูดถึงพฤติกรรมการเกิดคลัสเตอร์ต่าง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแพร่เชื้อ

แต่ตอนนี้ก็ค่อนข้างยาก เมื่อรัฐบาลประกาศปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง แรงงานผู้คนเดินทางออกต่างจังหวัด และเกิดการแพร่เชื้อเป็นวงกว้าง

Q : นอกจากการระบาด ตอนนี้วัคซีนดูเหมือนว่าจะมีปัญหาไม่เพียงพอ

เชื่อว่ารัฐบาลกำลังพยายามแก้ไข การสั่งซื้อวัคซีน ทำไมถึงไม่มา หรือมาไม่ครบ เข้าใจว่าส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์ทั่วโลกที่มีความต้องการมาก ทุกประเทศมีความต้องการ และทำให้ขาดแคลน

อย่างไรก็ตาม วันนี้วัคซีนที่ไทยมีอยู่ ควรเอามาฉีดอย่างจริงจัง ฉีดให้เร็ว และถ้าเกิดปัญหาติดขัดอะไรควรสื่อสารกับประชาชนให้ชัดเจน และเมื่อได้วัคซีนมาแล้วควรเร่งดำเนินการฉีด และวางแผนจัดสรรว่าจะต้องให้กับกลุ่มไหนก่อน เพราะขณะนี้การแบ่งสัดส่วนไปในแต่ละจังหวัด ยังไม่สมเหตุสมผล

ทุกคนต้องการวัคซีนกันหมด แต่ถ้าจะให้ดีควรจัดสรรให้ภาคบริการและบุคลากรการแพทย์ ที่เป็นด่านหน้า รวมถึงคนที่มีความเสี่ยงสูงให้ครอบคลุม

Q : สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบกับภาวะเศรษฐกิจ-กำลังซื้ออย่างไร

เราพูดเรื่องเศรษฐกิจและกำลังซื้อมาตั้งแต่ปีที่แล้ว วันนี้ก็ยังน่าเป็นห่วง ต้องยอมรับว่าเป็นอีกหนึ่งปี ที่กำลังซื้อตกแน่ ๆ รัฐบาลต้องอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเพื่อกระตุ้นและประคับประคองให้ทุกคนพอมีโอกาสอยู่รอด แต่ก็ยังหาทางออกไม่ได้ ที่สำคัญ ตอนนี้ผู้คนต้องได้รับการฉีดวัคซีนให้มากที่สุด และจากนั้นต้องมาวิเคราะห์ให้ได้ว่า ประเทศจะเดินหน้าไปทางไหน

ตอนนี้ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เมื่อไหร่จะจบ และเมื่อไหร่จะหยุดยั้งการระบาดได้ เนื่องจากเศรษฐกิจแย่ลงทุกวัน ผู้ประกอบการ การค้าขายก็แย่ลง นักท่องเที่ยว นักลงทุนต่างประเทศยังเข้ามาไม่ได้ อย่างโครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์ ที่เปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามา หากควบคุมการติดเชื้อได้ ก็จะเป็นตัวอย่างที่ดี แต่ถ้าไม่ได้ ไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้น

Q : ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีประกาศจะเปิดประเทศภายใน 120 วัน จะเป็นไปได้หรือไม่

เป็นไปได้ แต่นายกฯควรจะบอกว่า อาจจะเปิดได้ หรืออาจจะเปิดไม่ได้ ขึ้นอยู่กับการควบคุมสถานการณ์ได้มากน้อยแค่ไหน และรัฐบาลควรวางแผนการ
เตรียมตัวให้ทุกหน่วยงานและประชาชน เพื่อให้เตรียมพร้อมรับมือ และถ้าครบ 120 วันแล้วเปิดประเทศไม่ได้ขึ้นมา ผู้คนจะหมดศรัทธากับรัฐบาล

ส่วนการล็อกดาวน์ 30 วัน ที่ปิดแคมป์ก่อสร้าง อาจได้ผลไม่มากก็น้อย ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย หรือหากยังไม่ได้ผลก็มีโอกาสขยายวันล็อกดาวน์ออกไปอีก

ที่สำคัญ รัฐบาลควรศึกษามาตรการเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดให้ได้เร็วที่สุด

Q : ผลกระทบที่ลากยาวมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนอะไรบ้าง

แน่นอน เพราะหลาย ๆ ธุรกิจเดือดร้อน ร้านอาหารนั่งกินในร้านไม่ได้ ลูกค้าซื้อของลดลงจากเดิม กระทบต่อยอดขายแน่ ๆ

ต้องเข้าใจว่า มาตรการเยียวยา บางเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องการให้เยียวยา แต่รัฐบาลเยียวยาเพียงเล็กน้อย และไม่ใช่แค่ร้านอาหารที่กระทบ ทุก ๆ ธุรกิจ ต่างก็ได้รับผลกระทบ และต้องการขอเงินเยียวยาเหมือนกัน แต่รัฐบาลมีงบประมาณไม่เพียงพอที่จะช่วยแก้ปัญหาให้ทุกคนได้

สิ่งที่อยากแนะนำตอนนี้ คือ ต้องประหยัด ลดค่าใช้จ่าย ไม่ฟุ่มเฟือย และสำรองเงินเอาไว้ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน หากโควิดยืดเยื้อไปเป็นปี จะต้องอยู่ให้ได้ และต้องดูแลตัวเองอย่าให้เป็นต้นเหตุของการแพร่เชื้อ

เมื่อทุกคนประหยัดค่าใช้จ่าย แน่นอนว่า กระทบกับกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย สินค้าที่ไม่จำเป็น ธุรกิจเหล่านี้ต้องหันมารัดเข็มขัดและเตรียมพร้อมรับสถานการณ์

สำหรับสหพัฒน์เองตอนนี้ หลัก ๆ คือ รัดเข็มขัด ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น งบประมาณในการทำโปรโมชั่น ถ้าไม่ได้ผลก็ต้องเปลี่ยน ต้องหาวิธีเพิ่มยอดขายด้วยการขยายช่องทางขาย โดยปีนี้เราหวังให้รายได้โต 5% และสิ่งสำคัญคือมุ่งรักษากำไรไว้ให้ได้

อย่างไรก็ตาม บางโปรเจ็กต์ที่วางแผนมานาน ต้องทำต่อเนื่องไป เช่น การก่อสร้างแวร์เฮาส์ที่ศรีราชา จะเร่งให้เสร็จภายในปลายปีนี้ สำหรับเป็นศูนย์กระจายสินค้าใหญ่

สหพัฒน์ยังมีสภาพคล่อง และพร้อมจะลงทุน แต่ช่วงนี้บางอย่างอาจชะลอไว้ก่อน รอให้ถึงเวลาที่เหมาะสม