สปอนเซอร์โอลิมปิกจุก ปรับแผนรับมือแข่งขันไร้ผู้ชม

Market move

 

หลังคณะกรรมการจัดการแข่งขันโตเกียว โอลิมปิก มีมติให้การแข่งขัน โตเกียว โอลิมปิก 2020 ที่จัดในพื้นที่กรุงโตเกียว และจังหวัดใกล้เคียงทั้งคานากาวะ ไซตามะ และชิบะ เป็นแบบไร้ผู้ชมโดยสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นชาวญี่ปุ่น หรือต่างชาติ ส่วนสนามแข่งเบสบอลและฟุตบอลในจังหวัดฟุคุชิมะ มิยางิ และชิสุโอกะ รับผู้ชมได้ 50% หรือไม่เกิน 1 หมื่นคน

ทำให้บรรดาสปอนเซอร์สัญชาติญี่ปุ่นทั้ง 68 ราย อาทิ เอสิค, อาซาฮี, เอ็นอีซี (NEC), เอ็นทีที (NTT) ฯลฯ ต้องเร่งปรับแผนการตลาดในช่วงโอลิมปิกอีกครั้ง หวังเรียกความคุ้มค่าแม้เพียงเล็กน้อยคืนจากเม็ดเงินที่ลงทุนไปรวมกันแล้วถึง 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 9.78 หมื่นล้านบาท

สำนักข่าว “นิกเคอิ เอเชีย” รายงานว่า มติล่าสุดของคณะกรรมการจัดการแข่งขันโตเกียว โอลิมปิกนี้ กระทบกับเหล่าสปอนเซอร์อย่างหนัก เนื่องจากเสมือนปิดประตูโอกาสใช้ประโยชน์จากสิทธิ์แบบ 100% โดยเฉพาะกลุ่มที่หวังสร้างรายได้จากการจำหน่ายสินค้าในสนามแข่งและบริเวณใกล้เคียงอย่างยักษ์สินค้ากีฬา เอสิค และยักษ์เครื่องดื่มอาซาฮี

โดยก่อนหน้านี้ เอสิค ลงทุนเปิดสาขาพ็อปอัพขนาด 275 ตารางเมตร ในย่านฮาราจูกุ หวังดักเหล่าผู้ชมที่เดินทางออกมาจากสนามกีฬาหลังการแข่งขันจบลงให้มาซื้อสินค้าและของที่ระลึก เนื่องจากในอดีตสินค้าและของที่ระลึกจะขายดีมาก เมื่อนักกีฬาญี่ปุ่นขึ้นรับเหรียญรางวัล หรือมีการเชิญธงชาติญี่ปุ่นในการแข่งขัน แต่การห้ามไม่ให้มีผู้ชมทำให้ความหวังนี้เป็นหมันไป

อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีผู้ชม แต่การขายสินค้าเกี่ยวกับโอลิมปิกอาจยังมีโอกาสอยู่ โดยอาซาฮียังเชื่อว่า เครื่องดื่มในแพ็กเกจโตเกียว โอลิมปิก 2020 จะช่วยผลักดันยอดขายปีนี้ให้เติบโต 13.2% สอดคล้องกับความเห็นของ “ร็อบ พาสมาร์ก” ซีอีโอของ 21 มาร์เก็ตติ้ง และผู้ร่วมสร้างแพ็กเกจสปอนเซอร์สำหรับโตเกียว โอลิมปิก 2020 หรือโอลิมปิก พาร์ตเนอร์ โปรแกรม ที่กล่าวว่า การแข่งขันที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าผู้บริโภคจะเลือกซื้อสินค้าที่เกี่ยวกับโอลิมปิกก่อนเสมอ

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มที่สามารถใช้สิทธิ์สปอนเซอร์ของตนได้อย่างเต็มที่อยู่ นั่นคือ สปอนเซอร์ด้านเทคนิค-เทคโนโลยีอย่าง เอ็นอีซี และเอ็นทีที ซึ่งเตรียมใช้การแข่งขันเป็นเวทีโชว์ประสิทธิภาพของสินค้าและบริการ โดยเฉพาะยักษ์สื่อสารเอ็นทีที ที่การแข่งแบบไร้ผู้ชมนี้เปิดโอกาสให้โชว์ศักยภาพเครือข่าย 5G ด้วยการถ่ายทอดสดการแข่งขันแบบความคมชัดสูงไปยังผู้ชมทั่วประเทศ ส่วนเอ็นอีซีนำเทคโนโลยีตรวจจับ-ติดตามใบหน้ามาใช้ติดตาม-รวบรวมข้อมูลกลุ่มเสี่ยง หากมีการติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่

ตรงกันข้ามกับสปอนเซอร์จากกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว-การบินที่ถูกกระทบหนักที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการห้ามชาวต่างชาติเข้าชม และล่าสุดแม้แต่ชาวญี่ปุ่นก็เข้าชมไม่ได้ ทำให้แต่ละรายต้องคืนเงินจองให้กับลูกค้า ตัวอย่าง เช่น เจทีบี กำลังประสบปัญหาจากการต้องคืนเงินค่าแพ็กเกจท่องเที่ยวโอลิมปิก มูลค่าตั้งแต่ 1.88 แสน-4.5 ล้านเยน หรือ 5.5 หมื่น-1.3 ล้านบาท ให้กับลูกค้าแต่ละราย

ส่วนสายการบินทั้งเจแปนแอร์ไลน์ และออลนิปปอนแอร์เวย์ ต่างหวังให้การแข่งขันช่วยสร้างควันหลงดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มาเยือนญี่ปุ่น หลังการระบาดคลี่คลายและสามารกลับมาเดินทางระหว่างประเทศได้อีกครั้ง

จากสถานการณ์ปัจจุบัน ความหวังหลักของเหล่าสปอนเซอร์เหลือเพียงการสร้างการรับรู้กับกลุ่มผู้ชมทั่วโลกผ่านการถ่ายทอดสด ซึ่งต้องรอดูกันว่าจะคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่แต่ละรายได้ทุ่มลงไปกับการแข่งขันครั้งนี้หรือไม่ เพราะแม้แต่ในญี่ปุ่นเองกระแสต่อต้านการแข่งขันยังรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง