หมอยงยันให้วัคซีนสลับชนิดปลอดภัย ภูมิคุ้มกันพุ่งเฉียดแอสตร้าฯ 2 เข็ม

ฉีดวัคซีน 2

ฉีดวัคซีนสลับชนิดซิโนแวค-แอสตร้าฯ หมอยงชี้ได้ผลดี ภูมิคุ้มกันสูง ต้านสายพันธุ์เดลต้าได้ เผยผลการศึกษาในไทยกว่า 1,200 คน ไม่พบผลข้างเคียงรุนแรง

วันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ศาสตราจารย์นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกรณีการให้วัคซีนสลับชนิดโดยระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ตั้งแต่ 28 กุมภาพันธ์ แต่ขณะนี้ยังฉีดได้ไม่ถึง 13 ล้านโดส โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากข้อจำกัดด้านจำนวนวัคซีน ทำให้ต้องบริหารวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพและได้ประโยชน์สูงสุด

ศาสตราจารย์นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ

อย่างไรก็ดี ระยะแรกที่หลายบริษัททั่วโลกได้มีการผลิตวัคซีนโควิดขึ้น จะยึดต้นแบบจากไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิมที่ระบาดครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน แต่ในระยะเวลา 1 ปีที่ผลิต ไวรัสก็ได้มีวิวัฒนาการหรือกลายพันธุ์เพื่อต่อสู้เช่นเดียวกัน ทำให้วัคซีนที่ผลิตออกมามีประสิทธิภาพการป้องกันลดลง

สำหรับประเทศไทยใช้วัคซีนทั้งหมด 2 แพลตฟอร์ม ได้แก่ วัคซีนชนิดเชื้อตาย ยี่ห้อซิโนแวค และวัคซีนชนิดไวรัสเวกเตอร์ ยี่ห้อแอสตร้าเซนเนก้า

ทั้งนี้ วัคซีนทั้ง 2 ชนิด ต่างมีข้อจำกัด โดยวัคซีนเชื้อตายซิโนแวค กระตุ้นภูมิต้านทานได้ต่ำกว่าวัคซีนชนิดไวรัสเวกเตอร์แอสตร้าเซนเนก้า เมื่อเจอกับโควิดสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) เดลต้า (อินเดีย) แต่สามารถฉีดได้เร็ว โดยเว้นระยะเพียง 4 สัปดาห์

ขณะเดียวกันแม้แอสตร้าเซนเนก้า จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงกว่า แต่มีข้อจำกัดด้านการเว้นระยะห่างระหว่างเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ซึ่งต้องห่างราว 8-12 สัปดาห์

เหตุผลดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการหาสมดุลในการให้วัคซีน เพื่อให้คนไทยมีภูมิต้านทานสูงสุด และรวดเร็วที่สุด ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดที่รุนแรง ซึ่งรอเวลานานไม่ได้ โดยวิธีการฉีดวัคซีนสลับชนิดระหว่างซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า

ผลจากการศึกษาการฉีดซิโนแวคเข็มแรก และตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มที่ 2 พบว่า มีภูมิต้านทานสูงขึ้นเกือบเท่าการฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม โดยใช้เวลากระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้นเพียง 6 สัปดาห์ เร็วกว่าการฉีดด้วยแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มแล้วภูมิคุ้มกันจะขึ้นในสัปดาห์ที่ 12 ถึง 1 เท่าตัว

ทั้งนี้ เมื่อเทียบผลภูมิคุ้มกันหลังฉีด 1 เดือน ในวัคซีนแต่ละชนิด จะได้ผลดังนี้

1.ซิโนแวค 2 เข็ม ภูมิคุ้มกันขึ้นในระดับ 96.91 U/mL
2.ซิโนแวคเข็มที่ 1 และแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2 ภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับ 760.8 U/mL
3.แอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับ 929.1 U/mL
4.แอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 1 และซิโนแวคเข็มที่ 2 ภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับ 277.7 U/mL
5.การมีภูมิคุ้มกันขึ้นตามธรรมชาติหลังติดเชื้อ 60.86 U/mL

การฉีดวัคซีนวัคซีนสลับยี่ห้อถือเป็นสถานการณ์ที่เหมาะสมกับประเทศไทยขณะนี้ อนาคตหากมีวัคซีนยี่ห้ออื่น ๆ เข้ามาในประเทศไทย หรือมีวัคซีนที่ทำมาเพื่อไวรัสกลายพันธุ์โดยเฉพาะ อาจมีการปรับแผนการฉีดอีกครั้ง

เมื่อถามถึงความปลอดภัยด้านการฉีดสลับยี่ห้อ จากผลการศึกษาในประเทศไทยที่มีผู้ฉีดสลับชนิดถึง 1,200 ราย พบว่าแต่ละรายมีผลข้างเคียงไม่รุนแรง ซึ่งผลการศึกษาในระดับคลินิกที่บันทึกผลของผู้ฉีดในทุกวันจะเปิดเผยในช่วงสิ้นปีนี้

อย่างไรก็ตาม สำหรับการฉีดสลับยี่ห้อ เบื้องต้นจะนำร่องกับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ก่อน ต่อมาจึงเป็นกลุ่มประชาชน