สธ.เร่งขยายเตียงผู้ป่วยโควิด แก้ปมไอซียู กทม. เหลือ 10%

เตียงผู้ป่วย
FILE PHOTO : TANG CHHIN Sothy / AFP

สธ.กางแผนขยายเตียงผู้ป่วยโควิด รับวิกฤต กทม. เหลือเตียงสีเหลือง-แดง 10% เผยผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวรักษาตัวที่บ้าน-ส่งกลับรักษาภูมิลำเนา หวังเพิ่มเตียงให้เพียงพอ

วันที่ 14 กรกฎาคม 2564 นายแพทย์วิทูรย์ อนันกุล ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขฉุกเฉิน เปิดเผยว่า ปัจจุบันปัญหาการขาดแคลนเตียงโดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ ยังคงเป็นปัญหาสำคัญ ตนในฐานะบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไม่อยากให้เกิดข่าวการรอเตียง ตลอดจนการเสียชีวิตที่บ้านในกลุ่มประชาชนผู้ติดเชื้อโควิด

แต่เนื่องจากการบริหารจัดการเตียงพ่วงด้วยหลายปัจจัย ตั้งแต่ชนิดของเตียง บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องมีความเชี่ยวชาญพอสมควรในการดูแลผู้ป่วยเตียงสีเหลืองและแดง ซึ่งได้นำแพทย์จบใหม่ และแพทย์จากต่างจังหวัด สลับหมุนเวียนช่วยเสริมศักยภาพการดูแลผู้ป่วย

อย่างไรก็ดี ขณะนี้สถานการณ์เตียงในพื้นที่ กทม. เตียงสีเขียวยังมีอยู่ราว 20% ส่วนเตียงสีเหลืองและสีแดงที่มีจำนวนผู้ป่วยทวีขึ้นเรื่อย ๆ เหลืออยู่เฉลี่ย 10%

ดังนั้น เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว สธ.ได้เร่งดำเนินการ Home Isolation รักษาผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียวที่บ้าน

ควบคู่กับการปรับเตียงสีเขียวเพิ่มศักยภาพให้ดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองได้ เพื่อเพิ่มการรองรับผู้ป่วยสีเหลืองที่มีจำนวนมากขึ้น

ส่วนในเตียงสีแดง ได้พยายามเพิ่มจำนวนให้ได้มากที่สุดเพื่อรองรับ

ขณะเดียวกัน ก็ได้ดำเนินการส่งผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียวและสีเหลืองที่มีความประสงค์กลับไปรักษาตัวภูมิลำเนา ให้รักษาอาการป่วยในพื้นที่ต่างจังหวัดที่ยังคงมีศักยภาพในการรองรับได้สูง ซึ่งจะทำให้ทรัพยากรเตียงสีเหลืองและสีเขียวใน กทม. ลดลงได้อย่างรวดเร็ว

นพ.วิทูรย์ กล่าวต่อไปว่า คาดว่ามาตรการดังกล่าวที่ สธ.ดำเนินการจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยโควิดใน กทม.ลงได้ และเมื่อสถานการณ์ใน กทม.ดีขึ้น วิกฤตการณ์ภายในประเทศก็จะดีขึ้นตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม อีกสิ่งหนึ่งที่ สธ. ได้เตรียมการไว้เผื่อกรณีฉุกเฉินคือ จำนวนออกซิเจน เบื้องต้นคาดว่ามีเพียงพอ ด้วยผู้ผลิตในไทยมีหลายราย แต่ถังออกซิเจนอาจต้องวางแผนเพิ่มจำนวนมากขึ้น เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิดรักษาตัวที่บ้าน ประกอบกับก่อนหน้านี้ได้บริจาคถังออกซิเจนให้แก่ประเทศอินเดียช่วงวิกฤตเป็นจำนวนมาก

นายแพทย์วิทูรย์ อนันกุล