จรูญเภสัชจัดทัพสู้บริษัทยานอก ชูราคาเข้าถึงง่ายเจาะ B2C

“จรูญเภสัช” ชูแบรนด์ไทยสู้บริษัทยาต่างชาติ เร่งเจาะตลาด B2C ย้ำมาตรฐานเดียวกับยาต่างประเทศ-ราคาเข้าถึงง่าย เล็งสยายปีกตลาดบุกซีแอลเอ็มวี ตั้งเป้าเติบโตปีละ 10%

นางสาวณัฎฐ์ธิดา เกียรติวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จรูญเภสัช จำกัด ผู้จำหน่ายยาโรคเรื้อรังสัญชาติไทย อาทิ ยารักษาโรคเบาหวาน ไต กระดูกพรุน เป็นต้น เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันตลาดยาในประเทศไทยมีมูลค่าสูงถึง 1.8 แสนล้านบาท โดยบริษัทที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุด 10 อันดับแรกส่วนใหญ่เป็นบริษัทจากต่างประเทศ ไม่มีบริษัทของไทยแม้แต่บริษัทเดียว

ประกอบกับความเชื่อของคนไทยที่ว่ายาที่มีคุณภาพต้องเป็นยานำเข้าจากต่างประเทศ ส่งผลให้ภาพจำแบรนด์ยาไทยไม่เป็นที่จดจำนัก และคนไทยจำนวนมากต้องจ่ายเงินค่ายาในแต่ละเดือนสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องทานยาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับจรูญเภสัชซึ่งเป็นบริษัทยาสัญชาติไทยมีที่รากฐานยาวนานกว่า 40 ปี ล่าสุด ทายาทรุ่นที่ 2 ได้เข้ามาดูแลและพัฒนาแนวทางการทำการตลาดให้สอดรับกับสถานการณ์มากขึ้น ขณะเดียวกันก็จะเร่งทำตลาด B2C เพื่อแก้ pain point และพยายามเคลื่อนตัวเข้าสู่ผู้บริโภค จากเดิมที่ผ่านมาบริษัทมีสัดส่วนการขายในรูปแบบ B2B สูงถึง 99% โดยเฉพาะกลุ่มโรงพยาบาล คลินิก และร้านขายยา และรายได้กว่า 70% อยู่ในกลุ่มโรงพยาบาล ขณะที่ B2C มีสัดส่วนอยู่ที่ราว 1% เท่านั้น

โดยแนวทางสำคัญจากนี้ไป บริษัทยังจะเน้นการทำการตลาดไปที่เรื่องของการสร้างการรับรู้ชื่อของจรูญเภสัชในกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น โดยการชูจุดเด่นในเรื่องของการมียารักษาโรคเรื้อรังที่เป็นมาตรฐานเดียวกับยาต่างประเทศ แต่ราคาเข้าถึงได้ โดยที่ผ่านมาเน้นการทำแบรนดิ้งของสินค้าหรือยาแต่ละชนิด เพื่อทำให้ลูกค้ารู้จักชื่อสินค้า

แต่เนื่องจากปัจจุบันบริษัทมีสินค้าหรือยาเป็นจำนวนมากขึ้นกว่า 50 ชนิด การทำแบรนดิ้งในแต่ละแบรนด์จึงไม่ตอบโจทย์ บริษัทจึงปรับแนวทาง ด้วยการนำจุดแข็งของงานด้านวิชาการมาทำเป็นคอนเทนต์โซเชียลมีเดียในรูปแบบคลิปสาระให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพที่เข้าใจง่ายเพียง 5-7 นาที เพื่อเจาะกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ที่ต้องการข้อมูลการสื่อสารที่รวดเร็ว

ควบคู่กับการประยุกต์ใช้กลยุทธ์ customer experience สร้างความเข้าใจเทรนด์และความต้องการของลูกค้า เช่น ช่วงนี้ มีกระแสในเรื่องของโควิด-19 เกิดขึ้น อีกด้านหนึ่งก็เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดเทรนด์รักษาสุขภาพเชิงป้องกัน ขณะเดียวกันก็จะมีการทำตลาดเน้นไปที่สินค้าที่ตอบโจทย์ในแต่ละสถานการณ์ เช่น วิตามินดีโดสสูง หรือโปรดักต์ฮีโร่อย่าง แคลเซียม CHALKCAP

เพื่อให้สอดรับกับการดูแลรักษาสุขภาพและการป้องกัน ที่ล้อไปกับกระแสสังคมสูงวัย รวมทั้งการสำรวจความต้องการผู้บริโภค เพื่อจะผลิตสินค้าให้สอดรับกับดีมานด์และเทรนด์ในตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้ายอดขายเติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 10%

พร้อมกันนี้ ยังใช้ data เข้ามาช่วย จากการเก็บข้อมูลเชิงลึก ตั้งแต่จำนวนยา ความต้องการของผู้บริโภค ตลอดจนความถี่ในการสั่งของแต่ละสถานพยาบาล ฯลฯ เพื่่อนำมาวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ล่วงหน้า อาทิ การสต๊อกยาในจำนวนเหมาะสม การเตรียมนำเข้าสารเคมีมาผลิตยา รวมทั้งการรักษาสมดุลในการผลิตโดยดูเทรนด์และซีซั่นของยา เช่น ฤดูฝน-ยาแก้ท้องเสียและฆ่าเชื้อจะมียอดขายมาก เป็นต้น


ขณะเดียวกันก็ต้องผลักดันให้บริษัทก้าวไปสู่การเป็นบริษัทยาข้ามชาติ โดยในระยะถัดไปนอกจากการทำตลาดในประเทศแล้ว ยังทำตลาดในกลุ่มประเทศ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม (CLMV) ด้วยการหาตัวแทนจำหน่ายในประเทศนั้น ๆ ผ่านแนวคิด local consumer เพื่อเข้าใจความต้องการในพื้นที่นั้น ๆ