ล็อกดาวน์ทุบร้านอาหารน่วม “ไมเนอร์-เซ็น” ยอดวูบ 70% เอ็มเคสุกี้หนัก

ค้าปลีก-บริการ ครวญ ล็อกดาวน์รอบใหม่กระทบธุรกิจ คาด 4 แสนล้านติดลบ ร้องรัฐเร่งเยียวยา จับตาขยายเวลาอีก ส่วนร้านอาหารเชนใหญ่ชี้ 14 วันอันตราย “ไมเนอร์ ฟู้ด-เซ็น กรุ๊ป” คาดยอดร่วง 70% สาขาในห้าง-ศูนย์การค้า กระอัก เร่งปรับตัวหวังประคองสถานการณ์ ขณะที่ “เอ็มเค สุกี้” ดิ้นไม่ออก สาขากว่าครึ่ง 230 แห่งในจังหวัดแดงเข้ม ต้องหยุด

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการศูนย์การค้าเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การประกาศล็อกดาวน์ ตามมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (ฉบับที่ 28) เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อลดการแพร่ระบาดโควิดกลายพันธุ์ที่ยังทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีระยะเวลา 14 วัน (20 กรกฎาคม-2 สิงหาคม) อีกด้านหนึ่งก็ทำให้ธุรกิจค้าปลีกและบริการได้รับผลกระทบมากขึ้น โดยเฉพาะรายได้จากการขายของสินค้าที่จะหายไปในช่วงการล็อกดาวน์ (ยกเว้นกลุ่มอาหาร) ที่สำคัญคือ ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าโควิด-19 จะคลี่คลายลงเมื่อไหร่ หรืออาจจะต้องขยายเวลาการล็อกดาวน์ออกไปอีก หากขยายเวลาออกไปนานเท่าไหร่ผู้ประกอบการก็จะได้รับผลกระทบมากขึ้นเป็นตามตัว

สิ่งที่ผู้ประกอบการค้าปลีกและบริการคาดหวังก็คือ มาตรการช่วยเหลือเยียวยา เช่น การลดค่าน้ำ ค่าไฟ เพิ่มการขยายเวลาการพักหนี้ ช่วยลูกหนี้ในพื้นที่ล็อกดาวน์ พร้อมหยุดคิดดอกเบี้ยเงินกู้, การสนับสนุนสินเชื่อซอฟต์โลน หรือหากกลับมาเปิดให้บริการได้ภาครัฐก็จะต้องมีมาตรการฟื้นฟูออกมากระตุ้นอย่างเร่งด่วน

ขณะที่นายสมพล ตรีภพนารถ กรรมการผู้จัดการธุรกิจศูนย์การค้า บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) กล่าวในเรื่องนี้ว่า เอ็มบีเคมีคู่ค้าอยู่ในศูนย์กว่า 1,700 ราย และทุกคนพร้อมปฏิบัติตาม แต่ขณะนี้หลาย ๆ รายยังมีความสับสนในแนวทางปฏิบัติ บางรายมีหน้าร้านเฉพาะในเอ็มบีเค การปิดร้านตามประกาศสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ ขาดรายได้ หรือการปิดหน้าร้าน แต่ในส่วนของครัวอยู่ภายในศูนย์จะเปิดเพื่อประกอบอาหาร เพื่อรองรับความต้องการประชาชนได้หรือไม่ นั่นคือสิ่งที่คู่ค้าถามมา หรือในส่วนของศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ก็ควรจะมีความชัดเจนในเรื่องของการเยียวยา

“จากผลกระทบที่เกิดขึ้น ขณะนี้ธุรกิจค้าปลีกคงทำได้แค่เพียงประคองตัว เพราะตอนนี้ยังไม่เห็นฟื้นตัว ซึ่งโดยส่วนตัวประเมินว่าภาพรวมค้าปลีกกว่า 4 แสนล้านบาท ปีนี้น่าจะติดลบอย่างแน่นอน ส่วนจะมากน้อยแค่ไหนมีตัวแปรหลักอยู่ที่การกระจายและฉีดวัคซีนเป็นหลัก”

“ไมเนอร์ ฟู้ด” รับยอดวูบหนัก

นายประพัฒน์ เสียงจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านเดอะพิซซ่า คอมปะนี, สเวนเซ่นส์ และซิซซ์เล่อร์ ฯลฯ เปิดเผยว่า มาตรการล็อกดาวน์ครั้งนี้ โดยเฉพาะคำสั่งปิดร้านอาหารในศูนย์การค้า เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการร้านอาหารทุกค่ายที่มีสาขาในศูนย์การค้าใน 13 จังหวัดตามประกาศ และขณะนี้ (19 กรกฎาคม) ต้องบริหารจัดการสต๊อกวัตถุดิบต่าง ๆ ให้ทัน และเบื้องต้นประเมินว่าการล็อกดาวน์ 14 วัน จะทำให้รายได้หายไปไม่ต่ำกว่า 70-80%

เช่นเดียวกับไมเนอร์ ฟู้ด ที่ได้รับผลกระทบมากและต้องปรับแผนใหม่ไปทีละสเต็ป ๆ สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ วางแผนการปิดร้าน ทั้งในส่วนของหน้าร้าน การเก็บสต๊อกสินค้า-วัตถุดิบต่าง ๆ เช่น ของเย็น ของแห้ง โฟรเซ่น ที่มีอายุสั้น และต้องหาวิธีการจำหน่ายให้มากที่สุด หรือวัตถุดิบบางอย่างต้องนำกลับไปเก็บที่แวร์เฮาส์ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนทำให้มีค่าใช้จ่ายใช้เพิ่มมา อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ยังต้องทำต่อ คือ การบริหารจัดการต้นทุน ลดค่าใช้จ่าย เช่น ขอลดค่าเช่าจากศูนย์การค้า เพื่อรักษาสภาพคล่อง

นายประพัฒน์ระบุว่า ปัจจุบันไมเนอร์ ฟู้ด มีสาขาอยู่ในศูนย์การค้าเกินครึ่ง ที่กระทบหนัก คือ ซิซซ์เล่อร์ ส่วนแบรนด์อื่น ๆ อาทิ บอนชอน เบอร์เกอร์คิง และเดอะพิซซ่า คอมปะนี ที่มีสาขานอกห้าง ซึ่งก็ยังสามารถให้บริการดีลิเวอรี่ได้ ก็น่าจะช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่รายได้น่าจะหายไปเกินครึ่ง และสิ่งที่ยังพอทำได้ในตอนนี้ คือ การโฟกัส ดีลิเวอรี่ 1112 Delivery ควบคู่กับการจัดโปรโมชั่นดึงดูดลูกค้าอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการเพิ่มความหลากหลาย

จากปัจจุบันได้มีแบรนด์พันธมิตรข้ามาขายในแพลตฟอร์มเดียวกัน เช่น เอส แอนด์ พี, เบรดทอล์ค, ซงฟา บักกุ๊ดเต๋ และข้าวมันไก่สิงคโปร์ เซอร์เจนท์ คิทเช่น รวมถึงการขยาย cloud kitchen หรือครัวกลาง เพื่อให้มีบริการจัดส่งอาหารของแบรนด์ต่าง ๆ ที่ครอบคลุม

“ส่วนเรื่องพนักงาน ต้องรอดูว่ารัฐบาลจะช่วยเหลืออย่างไร เบื้องต้นให้หยุดงานไปก่อน และต้องเร่งให้พนักงานออกไปฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด ควบคู่กับการออกมาตรการ สำหรับร้านอาหารที่ต้องปิด พนักงานที่ต้องหยุดทำงานชั่วคราว ให้อาศัยอยู่บ้าน ไม่เดินทางไปไหน เพื่อช่วยลดการแพร่เชื้อ”

“เซ็น กรุ๊ป” เน้นประคองตัว

นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เจ้าของแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่น เซ็น, อากะ, ออน เดอะ เทเบิล, เขียง เป็นต้น ระบุว่า มาตรการดังกล่าวทำให้ร้านอาหารในเครือของเซ็น กรุ๊ป ในศูนย์การค้า ที่มีอยู่ราว ๆ 70% ต้องปิดให้บริการ ส่งผลกระทบในแง่ของรายได้หลักที่มาสาขาในศูนย์หายไปกว่า 60-70% จึงต้องหันมาให้ความสำคัญในการบริหารค่าเช่าพื้นที่ ค่าแรงพนักงาน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ รวมถึงเรื่องวัตถุดิบ ที่กระทบมากด ซึ่งก่อนหน้านี้ บริษัทมองว่า มาตรการนี้แม้ให้ปิดร้านอาหารแต่ยังสามารถจัดตั้งบูทขายดีลิเวอรี่ได้ที่บริเวณชั้นล่างของศูนย์ แต่เมื่อทำไม่ได้ ต้องบริหารโยกย้ายวัตถุดิบ เพื่อนำไปใช้ในสาขานอกศูนย์แทน

ส่วนเรื่องพนักงานบางส่วนให้หยุดชั่วคราว และสามารถใช้สิทธิประกันสังคมตามนโยบายรัฐบาล และบางส่วนโยกไปช่วยงานร้านอาหารที่อยู่นอกศูนย์การค้าที่ยังเปิดได้อยู่ เช่น ร้านอาหารตามสั่งเขียง ที่เน้นการขายเทกอะเวย์และดีลิเวอรี่ รวมถึงการนำโมเดล cloud kitchen กลับมาใช้ ด้วยการนำเมนูอาหารของแบรนด์ในเครือมาปรุงรวมกันในสาขาเดียว เพื่อรองรับและเพิ่มโอกาสขายให้กับระบบดีลิเวอรี่

“จากเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนและยังคาดการณ์ไม่ได้ว่า โควิด-19 จะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ โจทย์หลักตอนนี้ คือ การรักษากระแสเงินสด ลดค่าใช้จ่าย และกระจายความเสี่ยง เพื่อประคับประคองสถานการณ์ให้ได้”

“เอ็มเค สุกี้” โดนหางเลขด้วย

แหล่งข่าวจากวงการร้านอาหารอีกรายหนึ่งกล่าวในเรื่องนี้ว่า มาตรการครั้งนี้กระทบกับร้านอาหารที่มีสาขาอยู่ในศูนย์การค้าค่อนข้างมาก นอกจาก 2 ค่ายใหญ่ดังกล่าวแล้ว เอ็มเค สุกี้ ก็เป็นอีกค่ายหนึ่งที่ได้รับผลกระทบมากเช่นกัน เนื่องจากสาขาส่วนใหญ่ของเอ็มเค สุกี้ เน้นเปิดในศูนย์การค้า คอมมิวนิตี้มอลล์ ไฮเปอร์มาร์เก็ต และส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล เมื่อสาขาในศูนย์ ไม่สามารถเปิดให้บริการได้ก็น่าจะทำให้รายได้หายไปในระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันก็จะต้องมีการบริการจัดการวัตถุดิบที่มากขึ้น

ผู้สื่อรายงานว่า ปัจจุบัน บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มีร้านอาหารที่อยู่ในความดูแลหลายแบรนด์ อาทิ เอ็มเค สุกี้ ที่เป็นแบรนด์ที่สร้างรายได้หลักให้บริษัทเป็นสัดส่วนสูงถึง 74% รองลงไปเป็นร้านอาหารญี่ปุ่น ยาโยอิ 18% และร้านแหลมเจริญ 6% ส่วนในแง่จำนวนสาขาล่าสุด เอ็มเค สุกี้ มี 452 สาขา ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในศูนย์การค้า โมเดิร์นเทรด และคอมมิวนิตี้มอลล์ ได้แก่ บิ๊กซี เทสโก้ โลตัส ห้างเซ็นทรัล ห้างโรบินสัน ห้างเดอะมอลล์ เป็นต้น

ขณะที่ยาโยอิมี 194 สาขา และร้านแหลมเจริญมี 29 สาขา และจากการตรวจสอบพบว่า สาขาเอ็มเค สุกี้ ในกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมทั้งนครปฐม พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี ฉะเชิงเทรา มีประมาณ 230 สาขา หรือประมาณ 50% ของสาขาทั้งหมด