กลุ่มทุน รพ.เอกชนรายใหญ่ เครือบางปะกอก-บีดีเอ็มเอส-ธนบุรี-มงกุฎวัฒนะ แก้เกมวิกฤตผู้ป่วยโควิดล้น เดินหน้าลุยขยายเตียง-สร้าง รพ.สนาม เพิ่มกว่า 3,000 เตียง รองรับผู้ป่วย
วันที่ 27 กรกฎาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดในไทยยังคงวิกฤตต่อเนื่อง หลังจำนวนผู้ป่วยทะลุ 10,000 ราย/วัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แม้รัฐบาลจะงัดมาตรการล็อกดาวน์มาใช้ แต่ยังไม่เพียงพอสำหรับการกดจำนวนผู้ติดเชื้อให้ต่ำกว่า 1,000 ราย/วัน ได้
ขณะที่แต่เดิมศักยภาพเตียงของไทยนั้นรับได้ไม่เกิน 2,000 ราย/วัน ภาระจึงตกอยู่ที่ภาครัฐต้องทำงานอย่างหนักเพื่อเร่งขยายขีดความสามารถเตียง เพิ่มโรงพยาบาลสนามอย่างเต็มที่ โดยมีเป้าหมายหลักรองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและสีแดง
ล่าสุด โรงพยาบาลเอกชนเครือใหญ่ในเขตกรุงเทพฯ เริ่มขานรับนโยบายช่วยขยายเตียง ตลอดจนการร่วมมือกับภาครัฐสร้างโรงพยาบาลสนาม หรือส่งบุคลากรช่วยทำงานด่านหน้า หวังช่วยประเทศไทยฝ่ามรสุมครั้งนี้ไปได้
เริ่มจาก รพ.บางปะกอก 1 ได้ร่วมกับค้าปลีกรายใหญ่ บิ๊กซี ในเครือบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด หรือ BJC
เร่งปรับวอร์ดที่มีอยู่ราว 100 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยเหลือง คาดแล้วเสร็จประมาณเดือนกันยายนนี้
ขณะที่ รพ.ปิยะเวท ในเครือบางปะกอก ผนึกกำลังกับโรงพยาบาล หน่วยงานเอกชน สำนักงานเขตในพื้นที่ ลงพื้นที่สำรวจที่สี่มุมเมือง สุขสวัสดิ์ บางบอน รามอินทรา และรังสิต โดยมีเป้าหมายขยายเตียงรองรับผู้ป่วยสีเหลืองแดงเพิ่มอีก
เป็นไปในทิศทางเดียวกับ รพ.มงกุฎวัฒนะ ที่มีแผนเพิ่มเตียงทั้งหมด 3,320 เตียงภายในเดือนสิงหาคมนี้ โดยเป็นเตียงในระดับที่ดูแลผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ เครื่องออกซิเจนไฮโฟร กลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคไตที่จะต้องฟอกเลือด ตลอดจนผู้ป่วยกลุ่มที่ต้องผ่าตัดทำคลอด
ด้านเครือ บีดีเอ็มเอส (BDMS) ภายใต้การบริหารของบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมทำโรงพยาบาลสนามบีดีเอ็มเอส สนามกีฬา ทอ. (ธูปะเตมีย์) จำนวน 100 เตียง รับผู้ป่วยสีเหลือง กลุ่มอาการรุนแรงปานกลาง ผ่านทีมแพทย์ของโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ พร้อมเปิดในบริการ 28 ก.ค. นี้
โดย พญ. เมธินี ไหมแพง รองประธานคณะผู้บริหาร กลุ่ม 1 BDMS และผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพ เปิดเผยว่า การจัดตั้ง รพ.สนาม ในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน อาทิ จาก มูลนิธิเวชดุสิตในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ, วิริยะประกันภัย, ปูนซิเมนต์ไทย, ทรู คอร์ปอเรชั่น
“BDMS ได้นำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ ตั้งแต่หุ่นยนต์อัจฉริยะ (เฮลท์ตี้บอท) จำนวน 5 ตัว ช่วยนำส่งอาหารและยาให้แก่ผู้ป่วย ตลอดจนนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดูแลรักษา เพื่อลดการสัมผัสผู้ป่วยและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ”
ทั้งนี้ ทีมแพทย์ที่ประจำอยู่ ณ โรงพยาบาลสนามฯ และโรงพยาบาลในเครือข่าย BDMS จะรับหน้าที่ตรวจและติดตามอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดผ่านทางออนไลน์ หากผู้ป่วยมีอาการเข้าข่ายรุนแรงหรือเข้าขั้นวิกฤต (สีแดง) BDMS จะประสานงานกับโรงพยาบาลในเครือ เพื่อนำส่งผู้ป่วยที่มีอาการวิกฤตไปรักษาตัวต่อทันที
สอดคล้องกับ รพ.ธนบุรี ที่ได้จับมือ กทม. เปิด รพ.เฉพาะกิจในสังกัด กทม. 2 แห่ง ได้แก่ รพ.ราชพิพัฒน์ 2 และ รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน รองรับกลุ่มผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเหลืองไปจนถึงสีแดงในเดือนกรกฎาคมนี้
โดย นายแพทย์วสันต์ อภิวัฒนกุล ผู้อำนวยการ Hospitel และโรงพยาบาลสนาม ของเครือบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG กล่าวว่า บริษัทใช้งบลงทุนรวมประมาณ 75 ล้านบาท เพื่อให้การสนับสนุนด้านต่าง ๆ แก่โรงพยาบาลเฉพาะกิจทั้ง 2 แห่ง ทั้งการสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างบางส่วน ให้ความช่วยเหลือด้านการวางระบบสาธารณูปโภคของโรงพยาบาล จัดหาวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น จัดเตรียมบุคลากรทางการแพทย์ ได้แก่ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ตลอดจนจัดเตรียมอาหารและให้บริการห้องพักแก่คนไข้
ทั้งนี้ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์มีจำนวนรวม 190 เตียง สามารถรองรับผู้ติดเชื้อโควิด ที่มีอาการปานกลาง (สีเหลือง) 150 เตียง และอาการรุนแรง (สีแดง) 40 เตียง ส่วนโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน มีเตียงรวม 117 เตียง รองรับผู้ป่วยที่มีอาการสีเหลือง 100 เตียง และผู้ป่วยที่มีอาการสีแดง 17 เตียง ซึ่งจะช่วยรองรับการรักษาผู้ป่วยและลดโอกาสการติดเชื้อที่มีอาการหนักหรือเสียชีวิต