สรกล อดุลยานนท์ : เส้นเลือดสำคัญ

บทความ โดย หนุ่มเมืองจันท์
Market-think
สรกล อดุลยานนท์

 

ในขณะที่นักธุรกิจแทบทุกคนบ่นว่า เศรษฐกิจตอนนี้แย่มาก

ขายของไม่ได้เลย

แต่ดูเหมือนว่ามีธุรกิจหนึ่งที่เติบโตสวนกระแส

นั่นคือ ธุรกิจการส่งออก

ตั้งแต่ไทยผ่านโควิดระลอกแรกเมื่อประมาณกลางปีที่แล้ว ผมได้คุยกับ
นักธุรกิจที่ผลิตสินค้าส่งออกหลายคน

ทุกคนบอกว่าธุรกิจของเขาดีมาก

โดยเฉพาะสินค้าอาหาร

เพราะตอนนั้นประเทศไทยผ่านระลอกแรกแบบสวยงาม ในขณะที่ประเทศอื่นเพิ่งเริ่มเจอโควิด

คนในประเทศเหล่านั้นเริ่มกักตุนสินค้า

โดยเฉพาะอาหาร

สินค้าอาหารของไทยจึงขายดีมาก

การส่งออกในช่วงนั้นเติบโตจากความต้องการของต่างประเทศที่ต้องการกักตุนอาหาร

แต่วันนี้การส่งออกของไทยดีขึ้นกว่าเดิมอีกครับ

และคราวนี้ดีขึ้นแทบทุกเซ็กเมนต์

ถามว่ามาจากไหน

คำตอบ คือ มาจาก “ค่าเงินบาท” อ่อนตัว

จาก 30 บาท อ่อนตัวไปถึง 33 บาท

สินค้าไทยที่ส่งออกอยู่ดี ๆ ราคาถูกลง 10%

กลายเป็นได้เปรียบประเทศคู่แข่ง

ในช่วงที่ผ่านมา ปัญหาใหญ่ของการส่งออก คือ ตู้คอนเทนเนอร์ไม่พอ

ต้องสั่งจองกันล่วงหน้า

แต่วันนี้ปัญหาใหม่ของการผลิตสินค้าเพื่อส่งออก คือ คนงานติด
โควิด

โควิดระลอกนี้ไม่เข้าใครออกใคร

เจ้าเดลต้าแพร่เชื้อเร็วมาก

ช่วงนี้เราจะเห็นข่าวโรงงานต่าง ๆ ต้องปิดโรงงาน เพราะคนงานติดโควิด

กลายเป็น “คลัสเตอร์” ใหญ่

คิดดูสิครับ กำลังขายดี ยอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

แต่ต้องปิดโรงงาน 14 วัน

มันน่าโมโหแค่ไหน

โรงงานใหญ่ ๆ จึงซื้อวัคซีนซิโนฟาร์มมาฉีดคนงาน เพราะกลัวว่าการส่งออกจะสะดุดเพราะคนงานติดโควิด

วันนี้หลายโรงงานเริ่มวางแผนงานในช่วงโควิดใหม่ เพราะจะต้องคิดถึงเรื่องการป้องกันการแพร่ระบาดด้วย

บางแห่งปรับระบบใหม่ ทั้งเรื่องระบบการทำงาน การแบ่งกะ การแบ่งกลุ่ม

ถ้าติดก็ให้ติดเฉพาะกลุ่ม

ไม่ใช่กระจายไปทั่วโรงงาน

เลวร้ายที่สุด โรงงานต้องรันต่อไปได้

ไม่ใช่ต้องหยุดชะงักทั้งหมด 14 วัน

นั่นเป็นเรื่องของโรงงานผลิตเพื่อส่งออก ที่เป็น “ดาวรุ่ง” ของเศรษฐกิจไทย

แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่าสำหรับเศรษฐกิจในประเทศ คือ ระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทยช่วงโควิด

เมื่อคนส่วนใหญ่ต้อง work from home ใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านเป็นส่วนใหญ่

คนปรับตัวมาสั่งซื้อสินค้าออนไลน์กันมากขึ้น

ถามคนในแวดวงขายสินค้าออนไลน์

เขาบอกว่าช่วงเกิดโควิดระลอกแรก ยอดขายออนไลน์เติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด

แต่ระลอกนี้ยอดไม่เพิ่มเหมือนเมื่อครั้งก่อน

แค่เติบโตเล็กน้อย

ระบบการค้าออนไลน์ต้องพึ่งพาบริษัทกระจายสินค้า อย่างเช่น ไปรษณีย์ไทย เคอรี่ แฟลช เอ็กซ์เพรส ฯลฯ

ที่ผ่านมาไม่ค่อยมีปัญหาอะไร

จนกระทั่งเจ้าเดลต้าเข้าเมืองไทย

เชื้อตัวนี้ติดง่ายมากครับ

นั่นคือ จุดเริ่มต้นของปัญหา

เพราะคนงานในคลังสินค้าของบริษัทกระจายสินค้าติดโควิด และทำให้คลังสินค้าบางแห่งกลายเป็นอัมพาต

เกิดความเสียหายครั้งใหญ่

สาธารณสุขปิดตายคลังสินค้าชั่วคราวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

สินค้าที่ค้างส่งกองอยู่ในคลังสินค้า

เสียหายทั้งบริษัทที่ขายของ ลูกค้าที่รอสินค้า และบริษัทกระจายสินค้า

“แฟลช เอ็กซ์เพรส” ต้องเตรียมเงินค่าเสียหายจากเหตุการณ์นี้ 200 ล้านบาท

เรื่องนี้สำคัญนะครับ เพราะช่วงโควิด การส่งของออนไลน์ได้กลายเป็นเส้นเลือดสำคัญของเศรษฐกิจไทย

ถ้าสะดุดเมื่อไร

เหนื่อยแน่นอน

อยากเตือนรัฐบาลให้ระวังเรื่องนี้ให้ดี

ป้องกันหรือวางแผนแก้ปัญหาแต่เนิ่น ๆ

เส้นเลือดเศรษฐกิจไทยเหลือไม่กี่เส้นแล้ว

ต้องรักษาไว้ให้ดี