เต็ดตรา แพ้ค เผยเทรนด์บรรจุภัณฑ์อาหาร-เครื่องดื่มยุคโควิด

การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระแสที่กำลังมาแรง

วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 นายสุภนัฐ รัตนทิพ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด ฉายภาพว่า วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ทำให้บทบาทของแพ็กเกจจิ้งผลิตภัณฑ์อาหาร-เครื่องดื่มเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย และเชื่อว่าหลายเทรนด์จะยังคงอยู่แม้การระบาดจะคลี่คลายลง ซึ่งผู้ประกอบการที่สามารถตอบรับเทรนด์เหล่านี้ได้ ก็จะได้เปรียบในการแข่งขัน
โดยเทรนด์ที่มาแรงในขณะนี้ประกอบด้วย 4 เทรนด์หลัก คือ

1.สุขภาพต้องมาก่อน

ผู้บริโภคปัจจุบันไม่ได้สนใจเพียงความสะอาด-ปลอดภัยของอาหารและเครื่องดื่ม แต่ยังสนใจคุณสมบัติ หรือประโยชน์ที่ได้รับจากการบริโภคอาหาร-เครื่องดื่ม รวมถึงส่วนประกอบปลีกย่อย ไม่ว่าจะเป็นชนิด-ปริมาณวิตามิน ฟังชั่นการเสริมภูมิคุ้มกัน ไปจนถึงประโยชน์ด้านสุขภาพจิต ทำให้บรรจุภัณฑ์ที่ได้เปรียบจะต้องสามารถรักษาคุณค่าทางโภชนาการ และรักษาความสดใหม่ของสินค้าได้

2.เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นอกจากสุขภาพของตนเองแล้ว ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยยังสนใจสุขภาพของโลกหรือสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน โดยใช้ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจซื้อหรือไม่ซื้อสินค้านั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งที่มาของวัตถุดิบภายใน หรือตัวบรรจุภัณฑ์เอง สะท้อนจากการเร่งปรับตัวของผู้ประกอบการในไทยทั้งรายใหญ่และเอสเอ็มอี เช่น การใช้กล่องกระดาษสำหรับอาหารดีลิเวอรี่ ที่พบเห็นบ่อยขึ้น เช่นเดียวกับการเติบโตของเทรนด์ โปรตีนจากพืชหรือแพลนต์เบสฟู้ดส่งผลให้การใช้บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ หรือวัสดุรีไซเคิล สร้างความได้เปรียบในทางธุรกิจได้มาก

3.ใช้งานในครัวเรือนได้สะดวก

กระแสทำอาหารทางเองที่มาพร้อมกับการล็อกดาวน์และเวิร์กฟรอมโฮม หรือแม้แต่โฮมไอโซเลชั่น ทำให้ผู้บริโภคต้องการบรรจุภัณฑ์ที่ช่วยให้การปรุงอาหารเองสะดวกสบายขึ้น อาทิ การจัดชุดวัตถุดิบเนื้อ-ผักมาพร้อมสำหรับนำมาปรุงในแพ็กเกจเดียว เช่นเดียวกับการแบ่งไซส์หรือขนาดบรรจุที่หลากหลายสำหรับผู้บริโภคแต่กลุ่มตั้งแต่คนโสด ไปจนถึงครอบครัวใหญ่

4.ต้องมากกว่ารูปลักษณ์-รสชาติ

การล็อกดาวน์ ยิ่งส่งเสริมให้การรับประทานอาหารกลายเป็นความบันเทิงรูปสำหรับผู้บริโภคจำนวนมาก นำไปสู่โอกาสการต่อยอดเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ด้วยการเพิ่มประสบการณ์นอกเหนือจากรูปลักษณ์และรสชาติ เช่น ประวัติความเป็นมาของสูตรอาหาร หรือแม้แต่การฟังเพลงระหว่างทาน โดยการนำเอาเทคโนโลยีอย่างคิวอาร์โค้ดมาใช้ เช่น ให้ผู้บริโภคสแกนคิวอาร์โค้ดบนแพ็กเกจ เพื่อดูข้อมูลหรือรับฟังเพลง เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถต่อยอดไปยังธุรกิจอื่น ๆ เช่น ท่องเที่ยวได้อีกด้วย

“เราเชื่อว่าเทรนด์ผู้บริโภคมีความสำคัญอย่างยิ่งในการศึกษาและวิเคราะห์ตลาด โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่วุ่นวายเช่นนี้ เทรนด์คือการแสดงออกถึงความเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้ที่มาจากแรงกระตุ้นของความต้องการและความปรารถนาสิ่งต่างๆ” นายสุภนัฐ รัตนทิพ กล่าวทิ้งท้าย